ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทำไมจึงไม่มี “คณะราษฎร” ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นอกเหนือจากที่ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือที่มักจะเรียกกันว่า “หมุดคณะราษฎร” จะไม่ถูกหน่วยงานของรัฐอย่างกรมศิลปากรนับว่าเป็น “โบราณวัตถุ” จนถึงหายไปก็ไม่มีอะไรให้รับผิดชอบแล้ว ก็ยังมีสิ่งของเกี่ยวกับคณะราษฎรที่เคยจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายใต้กำกับของกรมศิลปากรแท้ๆ แต่ก็หายไปแล้ว ทุกวันนี้ก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน?

สิ่งของเหล่านั้นก็คือ “ธงชาติผืนแรก” ที่คณะราษฎรประดิษฐานอยู่บนพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และ “สิ่งของเครื่องใช้” ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั่นเอง

หลักฐานว่าทั้งธงชาติผืนนั้นและสิ่งของที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เคยถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีอยู่ใน “สมุดมัคคุเทศ นำเที่ยวหอพระสมุดวชิรญาณ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2491 (อย่างไรก็ตาม สมุดมัคคุเทศฯ ฉบับดังกล่าวก็ไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ว่าสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีอะไรบ้าง?)

แต่หลังจากนั้นสิ่งของจัดแสดงทั้งสองรายการนี้ “ถูกทำให้หายไป” เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติครั้งสำคัญเมื่อ พ.ศ.2510 ในรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร

 

อันที่จริงแล้ว ถ้าจะย้อนคิดไปถึงอุดมการณ์ที่ก่อให้เกิดเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ของสยามประเทศไทยขึ้นมา ก็ไม่น่าประหลาดใจอะไรนักที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของบ้านนี้เมืองนี้จะไม่ใส่ใจกับสิ่งของเกี่ยวกับคณะราษฎรที่ถูกทำหายไปเหล่านี้เท่าไหร่นะครับ

หลังจากที่สยามและฝรั่งเศสทำสัญญาระหว่างประเทศที่ชื่อว่า “หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม กับเปรสสิเดนต์แห่งรีปับลิกฝรั่งเศส 23 มีนาคม ร.ศ.125” (ตรงกับเรือน พ.ศ.2449 ตามวิธีนับปีในสมัยนั้น ที่นับวันที่ 1 เมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ถ้านับอย่างปัจจุบันแล้วจะตรงกับ พ.ศ.2450) ซึ่งว่าด้วยการแบ่งเค้กดินแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเสร็จเรียบร้อย

(ซึ่งก็หมายความด้วยว่า พระเจ้าอยู่หัวในรัชสมัยนั้นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 รวมถึงชนชั้นนำสยามหลายๆ พระองค์ คงจะสามารถหลับพระเนตรแล้วจินตนาการถึงภาพรางๆ ของ “ขวานทอง” ได้เรียบร้อยแล้ว)

ก็ได้มีการก่อตั้งสมาคมทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ชื่อ “โบราณคดีสโมสร” ใน พ.ศ.2450 ซึ่งก็คือปีเดียวกันนั่นเอง

ที่น่าสนใจก็คือ รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดโบราณคดีสโมสรที่ว่านี้ด้วยพระองค์เองเลยทีเดียว แถมส่วนหนึ่งของพระราชกระแสพระราชทานในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงนำเสนอวิธีการศึกษาถึงเรื่องราวในอดีตของสยามไว้อย่างน่าสนใจว่า

“จึงขอชวนท่านทั้งหลายในสโมสรประชุมกันครั้งแรกนี้ ให้กระทำในใจไว้ ว่าเราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยาม ไม่ว่าเมืองใดชาติใดวงษ์ใดสมัยใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเปนเรื่องราวของประเทศสยาม จบเดิมตั้งแต่ 1,000 ปีลงมา เรื่องราวเหล่านี้คงต้องจับตั้งแต่เมืองหลวง ไนยหนึ่งเรียกว่าหาง ห้าง ฤาช้าง ซึ่งเปนที่ตั้งของชาติไทยแต่ต้นเดิม ลงมาจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ สวรรคโลก โศกโขทัย อยุทธยาเก่า อยุทธยาใหม่ แลเมืองลโว้ ลพบุรี นครไชยศรี นครศรีธรรมราช ฤาเมืองซึ่งเปนเจ้าของครองเมือง เช่น กำแพงเพชร ไชยนาท พิษณุโลกย์ เมืองสรรค์ สุพรรณ กาญจนบุรี เพชรบุรี เหล่านี้เปนต้น บรรดาซึ่งได้เปนใหญ่ในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง แล้วรวบรวมมาเปนประเทศสยามอันหนึ่งอันเดียวนี้” (ข้อความและอักขรวิธีตามต้นฉบับ)

แน่นอนว่าเมื่อสามารถมโนถึงขวานทองกันได้แล้ว ก็ต้องสร้างประวัติศาสตร์ใส่ในขวานด้ามนี้ด้วยนะครับ แต่ก็น่าเสียดายที่หลังจากนั้นเพียง 3 ปี รัชกาลที่ 5 ก็เสด็จสวรรคต จนทำเอาการจับประวัติศาสตร์ยัดใส่เข้าไปในขวานทองด้ามที่ว่า ต้องชะงักค้างอยู่เกือบ 20 ปีเต็มเลยทีเดียว เพราะกว่าที่จะมีผู้สานต่อปณิธานในพระราชกระแสเมื่อคราวเปิดโบราณคดีสโมสรของพระองค์ ก็ต้องรอจนกระทั่งถึง พ.ศ.2469 ในสมัยรัชกาลที่ 7 โน่นเลยทีเดียว

 

ณเรือน พ.ศ.ดังกล่าว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระราชอนุชาในรัชกาลที่ 5 ควบตำแหน่งผู้ทรงได้รับการขนานพระนามว่าบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย) ได้ทรงจัดแบ่งยุคสมัยต่างๆ ในประเทศไทยตามเค้าโครงปัจจุบันเป็นครั้งแรก ดังปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” แต่ยังมีรายละเอียดบางส่วนที่ไม่ลงตัวนัก

น่าสนใจว่า ก็เป็นในปี พ.ศ.เดียวกันนี้อีกด้วยที่รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศตั้ง “ราชบัณฑิตยสภา” ให้ดูแลงานด้านโบราณคดี วรรณคดี ศิลปากร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำหรับพระนคร โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์เดิม ทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา

ในการนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Goerge C?d?s) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการอ่านจารึกอุษาคเนย์ ชาวฝรั่งเศส ได้เริ่มปรับปรุงการจัดแสดง ทำให้พิพิธภัณฑสถานเปลี่ยนจาก “พิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป” กลายเป็น “พิพิธภัณฑสถานที่รวบรวมสงวนรักษาโบราณศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ”

สองปีถัดมา คือในเรือน พ.ศ.2471 เซเดส์ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” ซึ่งเป็นหนังสือที่ใช้สำหรับอธิบายโบราณวัตถุ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในขณะนั้นตามชื่อของหนังสือ โดยเนื้อหาภายในเป็นการปรับปรุงการแบ่งยุคสมัยต่างๆ ในประเทศไทย จากที่มีมาก่อนในหนังสือตำนานพุทธเจดีย์สยาม มาเป็นเค้าโครงอย่างที่ใช้กันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

เรียกง่ายๆ ว่า การเรียบเรียง และจัดแบ่งประวัติศาสตร์ชาติไทยให้เป็นยุคสมัยต่างๆ ตามความมุ่งหวังที่ปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 ครั้งนั้น มีออฟฟิศอย่างเป็นทางการอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำหรับพระนคร หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่บริเวณท้องสนามหลวงปัจจุบันนั่นเอง

ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจึงถูกเรียบเรียง รวบรวม นำเสนอด้วยการจัดแสดง และถือกำเนิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ในกำกับของรัฐนั่นแหละครับ รัฐท่านอยากจะนับอะไรว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ก็นำเข้าไปจัดแสดงไว้ อะไรที่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐอยากจะให้อยู่ในประวัติศาสตร์แห่งชาติ ท่านก็แกล้งทำเป็นนิ่งๆ ไม่นำเอาเข้าไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ประมาณว่าเป็นสิ่งของที่ไม่เข้าพวก ไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย

 

และก็ไม่ใช่ว่า เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและเซเดส์จัดพิพิธภัณฑ์จนแล้วเสร็จ และเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2471 แล้ว จะไม่มีการนำเอาอะไรเข้าไปเพิ่ม หรือปรับเปลี่ยนอะไรเลย ในคราวหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้ถูกรัฐบาลของคณะราษฎรมอบหมายให้เทกโอเวอร์ และรับช่วงงานพิพิธภัณฑ์ต่อมาจากราชบัณฑิตยสภา ก็ได้มีการปรับโน่น เพิ่มนั่น อะไรต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์อยู่เนืองๆ

ดังนั้น ถึงจะเป็นอะไรที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ.2471 ก็สามารถที่จะเพิ่มเติมเข้าไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ได้เสมอ

ครั้งหนึ่งคณะราษฎรจึงได้นำเอาธงชาติผืนแรกที่คณะราษฎรประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และสิ่งของเครื่องใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันเดียวกันนั้นเอง เข้าไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

แต่แน่นอนว่า สำหรับอำนาจในบางยุคสมัยอาจจะไม่ค่อยชอบใจเท่าไหร่ที่จะผนวก “คณะราษฎร” เข้าเป็นส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์ของไทย

เรื่องราวและสิ่งของเกี่ยวกับคณะราษฎรจึง “ถูกทำให้หายไป” จากการจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในกำกับของรัฐ ที่ต้องการจะจัดแสดงเพียงเฉพาะข้าวของจำพวกพระพุทธรูปที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในยุคต่างๆ, หลักศิลาจารึกที่ว่าด้วยการปกครองแบบพ่อปกครองลูก และอะไรอื่นอีกสารพัด

อันที่จริงแล้วจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเท่าไหร่ที่กรมศิลปากรจะบอกว่า หมุดคณะราษฎรไม่นับเป็นโบราณวัตถุ ในเมื่อข้าวของเกี่ยวกับคณะราษฎรที่เคยจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแท้ๆ ยังถูกทำให้หายไปได้ และถ้าจะพูดกันให้ถึงที่สุดแล้ว แม้แต่ “คณะราษฎร” เองก็ “ถูกทำให้หายไป” จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้วยเช่นกัน