เทศมองไทย : วิธี “ติดเทอร์โบ” ให้กับ การฟื้นตัวของ ศก.ไทย

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยปรากฏบ่อยนักในแวดวงนักการทูตในประเทศไทย นั่นคือ การที่เอกอัครราชทูต 4 ประเทศร่วมกันเขียนบทความแสดงความคิดเห็นตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 และ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาไทยและอังกฤษ

ส่วนที่เขียนบทความแสดงความคิดเห็นกันเดี่ยวๆ ของเอกอัครราชทูตของชาติต่างๆ นั้นมีให้เห็นกันบ่อยๆ แต่ชนิดลงชื่อกัน 4 คนรวดอย่างนี้ หายากครับ

เอกอัครราชทูตทั้ง 4 คือ นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย, นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา, นายอัลแลน แม็กคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย และนายจอร์จ ชมิดต์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย

หัวข้อที่เขียนถึงก็คือ ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยว่า ทำอย่างไรถึงจะทำให้การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดของไทยเป็นไปอย่างรวดเร็วประหนึ่ง “ติดเทอร์โบ”

มีคำตอบต่อท้ายหัวเรื่องเอาไว้ด้วยว่า “ให้ปรับปรุงเรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจในประเทศไทย”

 

บทความแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการเปรียบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ได้รับความเสียหายทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ในขณะที่การแพร่ระบาดของไทยอยู่ในระดับ “ควบคุมได้”

4 เอกอัครราชทูต “ขอแสดงความยินดี” กับรัฐบาลไทยใน “ความสำเร็จโดดเด่น” ต่อการบรรเทาเบาบางผลกระทบทางด้านสาธารณสุขจากโควิด-19

แต่ชี้ให้เห็นในย่อหน้าต่อไปว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยนั้นหนักมาก จีดีพีได้รับการคาดหมายว่าจะติดลบถึง 8 เปอร์เซ็นต์ เหมือนๆ กับอีกหลายประเทศทั่วโลก

“อย่างคำที่พูดกันว่า “เมื่อใดเกิดวิกฤต โอกาสก็จะตามมา” บรรดาประเทศซึ่งฉกฉวยโอกาสท่ามกลางวิกฤตนี้ได้จะผงาดขึ้นมาจากวิกฤตกลายเป็นประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและฟื้นตัวได้เร็วกว่า”

 

ท่านทูตทั้ง 4 บอกว่า ไทยนั้นเป็นชาติรายได้ปานกลางที่มีนโยบายที่ดี, มีภูมิทัศน์ทางอุตสาหกรรที่มีความหลากหลาย และตำแหน่งที่ตั้งของประเทศอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เพราะใกล้กับตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง

ดังนั้น ไทยควรจะฟื้นคืนจากวิกฤตหนนี้กลับมาอย่างแข็งแกร่งได้

แต่ถ้าจะให้การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งที่ว่านั้น เกิดได้เร็วขึ้น ก้าวรุดไปในเส้นทางที่ยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิมละก็ ไทยควรดำเนินการตามข้อเสนอ 10 ข้อที่เอกอัครราชทูตทั้ง 4 รวบรวมมานำเสนอเอาไว้

ท่านทูตทั้ง 4 บอกว่า ในฐานะเอกอัครราชทูตต้องทำงานใกล้ชิดกับสภาหอการค้าของแต่ละประเทศอยู่แล้ว ในขณะที่หอการค้าของทั้ง 4 ประเทศ คือ อังกฤษ, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ก็เป็นที่รู้จักร่วมกันในนามของกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศ หรือเอฟซีเอ อยู่แล้วเช่นกัน

เอฟซีเอมีสมาชิกที่เป็นบริษัทต่างๆ ซึ่งดำเนินการอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 2,000 บริษัท ตั้งแต่ที่เป็นเอสเอ็มอี เรื่อยไปจนถึงบริษัทข้ามชาติ จ้างงานคนไทยไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน

ท่านทูตทั้ง 4 ถามความเห็นเอฟซีเอว่า มีอะไรไหมที่สามารถพัฒนาให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมดึงดูดทางธุรกิจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ “คำตอบร่วมที่ได้รับมาประการหนึ่งคือ ความสะดวกในการทำธุรกิจ”

ความสะดวกในการทำธุรกิจ หรือ the Ease of Doing Business ที่เอกอัครราชทูตทั้ง 4 ร่วมกับเอฟซีเอเสนอแนะเป็นเชิง “เรียกร้อง” เอาไว้ รวม 10 ประการ

ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุน ที่ถูกขอให้ “ทำให้ง่ายขึ้นและอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิตอล” ซะ อาทิ ระเบียบพิธีการด้านศุลกากร, การนำสินค้าข้ามแดน, การให้ใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการ, การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ, พาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์, การเข้าถึงแรงงานมีทักษะ, การให้ความสำคัญกับความโปร่งใส, การปรับปรุงกระบวนการล้มละลาย และการให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารและยา

เหล่านี้คือสิ่งที่จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่น่าสนใจ ชวนดึงดูดให้มาลงทุน ค้าขายและทำธุรกิจด้วยมากยิ่งขึ้น

 

ท่านทูตทั้ง 4 ชี้ให้เห็นว่า อันดับของไทย ในดัชนีว่าด้วยความสะดวกในการทำธุรกิจของไทยที่ธนาคารโลกจัดทำขึ้นนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ จากอันดับ 46 ของโลก ขยับขึ้นมาเป็น 26 และ 21 ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าทำตามข้อเสนอแนะของเอฟซีเอทั้ง 10 ประการที่ว่า ทั้ง 4 เอกอัครราชทูตเชื่อว่าจะทำให้ไทยขยับขึ้นไปติด “ท็อปเท็น” ในดัชนีของธนาคารโลกได้เลยทีเดียว

เชื่อไหมครับท่านนายกรัฐมนตรี!?!