คนมองหนัง | ดูใหม่ “October Sonata” ในเดือนตุลาคม 2563

คนมองหนัง

“October Sonata รักที่รอคอย” (2552) คือผลงานชิ้นเอกของ “สมเกียรติ วิทุรานิช”

หากมีการจัดอันดับหนังไทยที่ดี/น่าจดจำที่สุดในทศวรรษ 2550 หรือหนังไทยที่ยอดเยี่ยมที่สุดในช่วงสองทศวรรษแรกของสหัสวรรษนี้ (นับแบบฝรั่ง) ก็น่าเชื่อว่า “October Sonata” อาจติดอยู่ในอันดับท็อปไฟว์หรือท็อปทรีได้โดยปราศจากคำถาม

ล่าสุด ภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้มีโอกาสกลับมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนอีกครั้งผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ และเมื่อผมได้นั่งชม “October Sonata” รอบใหม่ในเดือนตุลาคม 2563 อันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระลอกใหม่ของสังคมการเมืองไทยพอดี

ผมก็เกิดข้อสังเกต-คำถามใหม่ๆ แวบขึ้นมาในหัวราว 3-4 ประเด็น

ประเด็นแรก แม้ผมจะตระหนักในการดูหนังเรื่องนี้รอบแรกๆ ตลอดทศวรรษ 2550 ว่า “October Sonata” นั้นเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ บริบททางการเมือง และสัมพันธบทกับผลงานวรรณกรรมคลาสสิค ได้แก่ “สงครามชีวิต” ของ “ศรีบูรพา” และ “ปีศาจ” ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์”

แต่ท้ายสุด ผมยังตีความและเข้าใจว่าโลกในหนังเรื่องนี้นั้นมีอยู่สองส่วน-สองพื้นที่ ซึ่งทั้งเชื่อมโยงและแบ่งแยกกัน

นั่นคือโลกของปฏิบัติการจริงๆ (ตัวละครนำรักกันจริงๆ หรือพวกเขาดำเนินชีวิตผ่านกระบวนการรอคอย-เรียนรู้-ผิดพลาด-ผิดหวังเช่นนั้นจริงๆ) และโลกเชิงสัญลักษณ์-อุดมคติที่ช่วยก่อรูปความคิดก้าวหน้าของตัวละคร หรือเป็นเครื่องมือในการหลีกลี้หนีความจริงของพวกเขาและเธอ

ครั้นพอย้อนมาดู “October Sonata” ครั้งใหม่ ผมกลับพบว่าเราสามารถตีความหนังไปได้ในอีกทิศทาง กล่าวคือ ภาพยนตร์จากปี 2552 เรื่องนี้ อาจมีสถานะเป็น “นิทานเปรียบเทียบ” (อุปมานิทัศน์ – allegory) เรื่องหนึ่ง

หรือกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว บางที “October Sonata” อาจมิได้เป็นหนังรักโรแมนติกที่เจือกลิ่นหรืออ้างอิงบริบททางการเมืองยุค 2510-2520 ดังที่หลายคนเข้าใจ

ทว่านี่เป็นกระบวนการใช้งาน “หนังรัก” หนึ่งเรื่อง (ซึ่งเผลอๆ สายสัมพันธ์ระหว่างตัวละครนำชาย-หญิง อาจไม่ได้เรียกว่า “ความรัก” ด้วยซ้ำ) เพื่ออำพรางและสื่อนัยยะถึงเป้าประสงค์แท้จริงของผู้กำกับฯ/ผู้เขียนบท/ผู้เล่าเรื่อง

นั่นก็คือความเชื่อมั่นในการยืนหยัดต่อสู้และส่งต่ออุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย จากคนสู่คน รุ่นสู่รุ่น

มองในแง่นี้ “October Sonata” จึงอาจมิใช่หนังรักที่มีสัญลักษณ์ทางสังคมการเมืองซุกซ่อนอยู่ตามรายทาง หากแต่ตัวหนังทั้งเรื่องเองก็มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ที่เก็บงำอุดมการณ์ทางการเมืองบางชนิดเอาไว้ แล้วค่อยๆ คลี่เผยมันออกมาอย่างแนบเนียน

นอกจากนั้น ผมยังเพิ่งสัมผัสได้ว่าหนังเรื่อง “October Sonata” ให้ความสำคัญกับ “อุดมคติ” สูงมาก

“อุดมคติ” อันปรากฏผ่านการเฝ้ารอคอยใครสักคน ซึ่งอาจเป็นภาพแทนของความใฝ่ฝันทางการเมืองบางอย่าง

ดังจะเห็นว่าช่วงชีวิตกว่าทศวรรษของตัวละครชื่อ “แสงจันทร์” นั้นดำเนินไปได้เพราะการมีอุดมคติหรือการเฝ้าใฝ่ฝันถึง “รวี” ชายผู้เป็นแรงบันดาลใจและนำพาเธอไปพบกับ “ความเป็นไปได้อื่นๆ” ในชีวิต (แม้ทั้งสองคนจะมีโอกาสพบหน้ากันเพียง 3 หน บนเส้นทางความสัมพันธ์ที่ยืนยาวเกินสิบปี)

และหลังจากเข้าร่วมการต่อสู้รณรงค์เคลื่อนไหวทั้งในเขตเมือง ชนบท ตลอดจนป่าเขา สุดท้าย ปัญญาชนเช่น “รวี” ก็ทุ่มเทพลังเฮือกสุดท้ายในชีวิต เพื่อธำรงรักษาเศษเสี้ยวอุดมคติที่ยังหลงเหลือติดค้างอยู่ในตัวเขา และเพื่อเติมเต็มอุดมคติอันยิ่งใหญ่ของ “แสงจันทร์”

อุดมคติจึงเป็นพลังที่หล่อเลี้ยงชีวิตของตัวละครนำทั้งคู่ มากพอๆ หรืออาจมากกว่า “ปฏิบัติการ” ใดๆ ในโลกความเป็นจริง

ประเด็นต่อมา ผู้ชมหลายรายรวมถึงผมคงค่อนข้างจะเห็นพ้องตรงกันว่าตัวละครหลักที่มี “ความสมจริง” มีเนื้อหนังจับต้องได้ เพียงหนึ่งเดียวใน “October Sonata” ก็คือ “ลิ้ม”

“ลิ้ม” เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่ขยันขันแข็งและสามารถลืมตาอ้าปากทางเศรษฐกิจ-สังคมได้ในทศวรรษ 2510 เขารักและแต่งงานกับ “แสงจันทร์” แต่ชีวิตครอบครัวของทั้งคู่กลับล้มเหลว (เพราะอุดมคติของฝ่ายหญิง)

ต่อมา ในทศวรรษ 2520 “ลิ้ม” ลงมือก่อร่างสร้างครอบครัวของตนเองได้สำเร็จ รวมทั้งยังเป็น “นายทุน” ที่ (แอบ) ช่วยเหลือประคับประคองอุ้มชูอุดมคติของ “รวี” และ “แสงจันทร์” ให้เจริญงอกงามผลิดอกออกผล

เมื่อมานั่งดูหนังรอบใหม่ ณ ห้วงเวลานี้ ชุดคำถามที่ปรากฏขึ้นในความคิดผมก็คือกลุ่มคนที่นิยามตัวเองเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ในปัจจุบัน ยังต้องการ “เถ้าแก่ลิ้ม” อยู่หรือไม่? และในทางกลับกัน “เถ้าแก่ลิ้ม” จะยังน่ารักมีมิตรจิตมิตรใจกับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” เหมือนเดิมหรือเปล่า?

เนื้อหาช่วงท้ายๆ ของ “October Sonata” คือการฉายภาพ “สภาวะประนีประนอมคืนดีกัน” ระหว่างนายทุนกับฝ่ายซ้าย/ประชาธิปไตย ในภาคประชาสังคมไทย (โดยหนังได้ตัดลบ/กีดกันตัวตน-บทบาทของ “รัฐไทย” ออกไป) ซึ่งสภาพสังคมการเมืองดังกล่าวก็ดำรงอยู่ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 จนถึงกลาง 2540 ก่อน “ยุคแอนตี้ทักษิณ”

แต่สิ่งที่ชวนคิดคือนับแต่ความขัดแย้งทางการเมืองปลายทศวรรษ 2540 ถึงต้น 2550 เรื่อยมาจนปัจจุบัน

นายทุน-คนชั้นกลางประเภท “เถ้าแก่ลิ้ม” จะยังคงดำรงตนเป็น “ตัวกลาง” ในการประนีประนอมทางการเมือง หรือเป็นทั้ง “ลูกที่ดี” ผู้ว่านอนสอนง่ายของครอบครัวขนาดใหญ่ที่เรียกว่ารัฐไทย และ “คุณพ่อน้อยๆ” ที่คอยอุปถัมภ์ค้ำจุนนักคิดนักเขียนปัญญาชนนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยยุคหลังสงครามเสื้อสี ไปพร้อมๆ กัน ได้อยู่หรือไม่?

หรือว่าสถานะ “คนกลาง” ที่สามารถสวมบทบาท “สองหน้า” ได้ของ “เถ้าแก่ลิ้ม” จะสูญสลายหายไปหมดแล้ว ตั้งแต่เมื่อทศวรรษก่อน?

ในทางตรงกันข้าม ก็น่าตั้งคำถามว่าบรรดาคนรุ่นใหม่ที่กำลังออกมาต่อสู้เรียกร้องบนท้องถนนในทศวรรษ 2560 ยังต้องการ “ท่อน้ำเลี้ยง” จาก “คุณพ่อรู้ดีรายย่อยๆ” เช่น “เถ้าแก่ลิ้ม” อยู่อีกหรือเปล่า?

ท่ามกลางการรื้อสร้างความหมายของ “ประวัติศาสตร์การเมืองเดือนตุลา” ที่มีทั้งการฟื้นฟูบางเรื่องราวที่เคยถูกกดทับปิดบังจนเงียบหายไป และการลืมเลือนตัดทิ้งหลายสิ่ง/บุคคลที่เคยปรากฏบทบาทโดดเด่น

ผมยังอยากเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังตื่นตัวทางการเมือง ได้มาลองชม “October Sonata” และตีความ-วิพากษ์วิจารณ์มันตามมุมมอง-ประสบการณ์ของพวกตน

แน่นอนว่าแม้เนื้อหาของหนังเรื่องนี้ อาจจัดเป็น “เรื่องเล่าเดือนตุลาชุดที่ 2” ซึ่งหมายถึงเรื่องเล่าของ “คนรุ่นหลังเดือนตุลา” ที่พยายามครุ่นคิดเชิงวิพากษ์ต่อ “การเมืองและคนเดือนตุลา” ตามการนิยามของ “ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่อุดมคติที่ปรากฏใน “October Sonata” ก็ยังไม่ได้ “ไปไกล” ทัดเทียมเท่า “ความฝัน” ของเหล่านักต่อสู้บนท้องถนนรุ่นปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี มีแง่คิดจิตวิญญาณหลายประการในหนัง ที่น่าจะเชื่อมร้อยเข้ากับพลังความเชื่อของคนรุ่นหลังๆ ได้

ตั้งแต่ประเด็นการยืดหยัดในอุดมคติและความพยายามในการส่งมอบอุดมการณ์การต่อสู้ ไปจนถึงกระบวนการเรียนรู้-รอคอย-ผิดพลาด-ผิดหวังของปัจเจกบุคคลคนหนึ่งและผู้คนรุ่นหนึ่งท่ามกลางกระแสธารความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ยิ่งกว่านั้น หนังยังกล่าวถึงความท้าทายในการกล้าลงมือทำอะไรใหม่ๆ เพื่อพิสูจน์ยืนยันอุดมคติของตนเอง และเพื่อเปิดทางเดินชีวิตไปสู่ความเป็นไปได้ชนิดอื่นๆ

ผ่านบทสนทนา อาทิ เธอต้องลองอ่าน “สงครามชีวิต” ให้จบเสียก่อน เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าเธอยังอยากเป็น “เพลิน” อยู่หรือไม่, เธอต้องลองเขียนหนังสือไปก่อน แล้วค่อยมาดูกันว่าเธอจะสามารถเป็นนักเขียนได้หรือเปล่า

รวมถึงฉากปิดไฟหน้ารถเพื่อจะได้มองเห็นแสงหิ่งห้อยสวยงามยามค่ำคืนอันสุดแสนโรแมนติกซีนนั้นด้วย