อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : อุดมการณ์ทางการเมือง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
AFP PHOTO / MANDEL NGAN

ระหว่างที่มีการหาเสียงขับเคี่ยวกันระหว่าง นางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครต กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา หลายฝ่ายมองว่า อุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม (conservative) ซึ่งหมายถึงพรรครีพับลิกัน กับฝ่ายก้าวหน้า (progressive) ซึ่งหมายถึงพรรคเดโมเครตได้หมดสิ้นไปแล้ว

จริงๆ แล้ว อุดมการณ์ทางการเมืองดังกล่าวในการเมืองสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาไม่ได้มีมานานแล้ว

พรรคการเมืองทั้งสองมีนโยบายหลายอย่างคล้ายคลึงกัน เป็นตัวแทนของระบบทุนนิยมอเมริกันและระบบทุนนิยมโลกเหมือนกัน

หลายฝ่ายมองว่า ตัวแทนของทั้งสองพรรคการเมืองสะท้อนความคิดทางการเมืองใหม่ระหว่างฝ่ายที่เอียงไปทางเปิด (open) และฝ่ายหนึ่งเอียงไปทางปิด (closed)

โดยเห็นว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ เอียงไปทางปิด นิยมอเมริกัน (Americanism) ไม่นิยมโลกาภิวัตน์ (not globalism)

อย่างไรก็ตาม นางฮิลลารี คลินตัน ก็ไม่ได้เอียงไปทางเปิดเสียหมด แนวความคิดปีกหนึ่งของพรรคเดโมแครตคือ เบอร์นี่ แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ก็เอียงไปทางปิด เขามีนโยบายต่อต้านการค้าระหว่างประเทศ¹

 

การแบ่งแยกทางการเมืองลักษณะใหม่

การแบ่งแยกทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่ความแตกแยกทางการเมืองและความชั่วร้ายทางการเมืองอะไร ทางความคิด อุดมการณ์และนโยบายสาธารณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ และเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นหลายๆ แห่ง ไม่ใช่เฉพาะที่สหรัฐอเมริกา

มองข้ามไปที่ทวีปยุโรป นักการเมืองจำนวนมากได้โต้แย้งว่าโลกนี้น่ารังเกียจ เป็นพื้นที่ที่มีแต่แรงกดดัน และประเทศที่ดีๆ ทั้งหลายควรสร้างกำแพงเพื่อกีดกันสิ่งที่มาจากภายนอก

ข้อโต้แย้งต่างๆ นานานี้ช่วยให้เกิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในฮังการีเป็นรัฐบาลที่คลั่งชาติ (ultra nationalism) ส่วนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในโปแลนด์ได้มีรูปลักษณ์คล้ายกับแนวความคิดของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ คือ เกลียดและกลัวต่างชาติ (xenophobia) และไม่เคารพหลักการของรัฐธรรมนูญ²

พรรคการเมืองในยุโรปที่นิยมประชานิยม (populism) และนิยมอำนาจนิยม (authoritarianism) ทั้งจากฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายต่างได้รับความนิยมใกล้เคียงกันนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 มาแล้ว

การอ้างอิงการฆ่าปาดคอนักบวชนิกายคาทอลิกอายุ 85 ปีในโบถส์ใกล้เมือง Rouen เป็นเหตุการณ์ล่าสุดของการโจมตีด้วยการก่อการร้ายในเมืองทั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนี อันตรายที่เกิดขึ้นคือ ความรู้สึกไม่มั่นคงได้นำไปสู่ชัยชนะของการเลือกตั้งรัฐบาลต้องการจะปิดโลก

นี่เป็นความเสี่ยงอย่างที่สุดในการให้เสรีภาพแก่โลกนับตั้งแต่หลังยุคคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา ไม่มีอะไรอีกเลยมากไปกว่าพวกเขาต่อต้านสิ่งที่เขาคิดว่าสร้างความตื่นกลัวให้กับสังคมเขา

 

ข้อพิจารณาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเด่นชัดในช่วงของสงครามเย็น ขบวนการฝ่ายซ้ายเคลื่อนไหวตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ มีผู้นิยมฝ่ายซ้าย

ในเวลาเดียวกัน ก็มีกลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มชาตินิยมและผู้นำทางศาสนา ทั้งสองฝ่ายอาจมีพรรคการเมืองเป็นตัวแทน แต่บางครั้งก็ไม่แน่ชัด หลายครั้งพรรคการเมืองนั้นเป็นเพียงตัวแทนชนชั้นนำและ/หรือตัวแทนเชื้อชาติมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม หลังยุคอาณานิคม หลังยุคสงครามเย็น รากเหง้าของการเมืองชนชั้นนำโดยเฉพาะผู้นำทหารและอำนาจนิยม (authoritarian rule) เป็นโครงสร้างหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตยที่มีนโยบายร่วมกันปราบคอมมิวนิสต์กับสหรัฐอเมริกา ล้วนแต่มีรัฐบาลและผู้นำอำนาจนิยม เช่น ในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย

มีการเลือกตั้งหลายครั้งแต่ผู้นำก็เป็นชนชั้นนำ คณะบุคคลหรือมีพรรคการเมืองเดียวครองอำนาจมานาน

ส่วนอดีตประเทศสังคมนิยมได้แก่ สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีการเลือกตั้งก็จริง แต่ผู้นำก็ยังเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวคือ พรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนเมียนมาเริ่มมีการเลือกตั้งได้ไม่นานและพรรคการเมืองยังใหม่และอ่อนแอ

สิ่งที่น่าสนใจคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเลือกตั้ง แต่โครงสร้างการเมืองอำนาจนิยมเป็นโครงสร้างหลัก

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังเปิดประเทศและเปิดประเทศมากยิ่งขึ้นเพราะเชื่อว่าโลกาภิวัตน์ การค้าเสรียังช่วยสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีกระแสการก่อการร้าย ความแตกต่างทางศาสนาและมีลัทธิสุดโต่ง รวมทั้งมีการใช้ความรุนแรง แม้ว่ามีการไหลบ่าของผู้อพยพย้ายถิ่นจากประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าเพื่อมาหางานทำในประเทศที่เจริญกว่า

แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังได้รับอานิสงส์จากการเคลื่อนย้ายของคนในรูปแบบของนักท่องเที่ยว นักศึกษา

ภูมิภาคนี้ความจริงมีความเกลียดกลัวต่างชาติ มีความแตกต่างทางศาสนาและมีพวกที่นิยมลัทธิสุดโต่ง แต่การปิดประเทศทั้งในแง่พรมแดน ทั้งในแง่อุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งในแง่การพัฒนาเศษฐกิจ รวมถึงการสร้างกำแพงอย่างที่แนวความคิดของผู้นำในสหรัฐอเมริกาและยุโรปบางประเทศยังไม่มี

หวังว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้นำเดี่ยว ระบบอำนาจนิยมและพวกคลั่งชาติคงมีเหตุผลรองรับและฐานสนับสนุนไม่มากนัก

คงต้องติดตามกันต่อไป

 


¹”The new political divide” The Economist 30 July 2016.

²Ibid.,