จัตวา กลิ่นสุนทร : 2482-2557 “ถวัลย์ ดัชนี” จากเชียงรายสู่ “ศิลปินแห่งชาติ” (2544)

สารภาพตามตรงว่าเบื่อความขัดแย้งทางการเมืองมาก จึงขออนุญาตพักยกเขียนเรื่องเก่าๆ ในวงการศิลปะตามความรักชอบพอเหมือนเช่นเดิม

เดือนตุลาคมเดินทางมาถึงอีก พร้อมกับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณา 6 ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 (23-24 กันยายน)

วิเคราะห์กันตามความเป็นไปในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ดูเหมือนสมาชิกทั้งหลายต่างยอมที่จะแก้ไขในประเด็นที่จะให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น (มาตรา 256)

ส่วนประเด็นปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้อง เช่น 272, 159, 279 มีแนวโน้มติดขัด อาจไม่ได้ 84 เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ได้รู้ผลกันไปแล้ว

ขอแสดงความเห็นสักเล็กน้อยว่า ถ้าหากสมาชิกวุฒิสภายังยืนกรานปกป้องรักษาเจ้านาย รักษาอำนาจ กอดรัดประโยชน์กอบโกยรายได้ รักษาหม้อข้าวของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น ย่อมเป็นเรื่องน่าวิตกต่อบ้านเมืองพอสมควร

 

พลังนักศึกษา-ประชาชนทุกวันนี้แตกต่างไปจากอดีตเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น การแก้รัฐธรรมนูญจะผ่านได้-ไม่ได้คงไม่อยู่ในรัฐสภาแต่อย่างเดียวเท่านั้น พลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษา-ประชาชน (อาจ) มีส่วนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทั้งสิ้น

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ย้อนเวลาไป 44 ปี ต้องเขียนซ้ำย้ำความเจ็บปวดทุกๆ ปีเมื่อเวลาเดินทางหมุนเวียนมาถึงเป็นการเตือนความรู้สึกตัวเองแทนการบอกเล่าอีกครั้งว่า ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณสนามฟุตบอล และสนามหลวงด้านทิศเหนือซึ่งติดต่อกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คณะนิติศาสตร์ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพียงแต่มีถนนกั้นพร้อมแนวต้นมะขามเท่านั้น

มีการเข่นฆ่ากันเกิดขึ้นโดยคนไทยด้วยกันเองอย่างโหดร้ายทารุณ ตั้งแต่เช้าตรู่ยันสายบ่ายคล้อย โดยกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่ง คือนิสิต-นักศึกษาเป็น “คอมมิวนิสต์ญวน”

ภาพทั้งหลายอันโหดเหี้ยมได้ถูกเผยแพร่ไปสู่สายตาชาวโลก และได้รับการค้นคว้าตามหากันจนได้พบเป็นจำนวนครบถ้วนแล้วสำหรับผู้ที่สูญหาย ไม่ว่าจะเป็นชายหนุ่มที่ถูกแขวนคอที่ต้นมะขาม เด็กหญิงที่ถูกผูกคอลากไปบนพื้นสนามหญ้าสนามหลวงอย่างสนุกสนานร่าเริง

ชายหนุ่มอีก 2-3 คนที่ถูกเผาซ้อนสลับกับยางรถยนต์ ท่ามกลางสายฝนตรงถนนราชดำเนินนอกติดกับสถานที่ตั้งพระแม่ธรณีบีบมวยผม

ทุกเรื่องที่เอามาบอกกล่าวเล่าขานล้วนเป็นประสบการณ์ตรง มาจากความทรงจำเมื่อ 44 ปีที่ผ่านเลย ของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง (ในวันนั้น) เมื่อรุ่งอรุณของวันดังกล่าว

หลังจากที่เคยได้พบเห็นเปลวเพลิงเผาผลาญสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลบนถนนราชดำเนิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสำนักงานประจำทำงานอยู่ก่อนหน้านั้น 3 ปีเมื่อ 47 ปีก่อน คือ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516–

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงนี้เคยมีผู้เสนอให้บรรจุเป็นแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ แต่บังเอิญไม่ได้ติดตามความเป็นไปอย่างใกล้ชิดจึงไม่ทราบว่าปัจจุบันเรื่องดังกล่าวดำเนินไปถึงไหน อย่างไร?

 

นักเรียน-นักศึกษา คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เขามีช่องทาง โอกาสในการศึกษาเรียนรู้ค้นคว้าตามหาประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกไว้ได้ในทุกๆ ที่ หรือบางส่วนที่หายไป ไม่เหมือนแต่เก่าก่อนที่กล่าวกันว่าผู้ชนะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ อย่างคนรุ่นเก่าระดับปู่-ย่า ตา-ยาย รุ่นพ่อ-แม่ของพวกเขาได้ศึกษาเล่าเรียนเท่าที่กระทรวงศึกษาธิการบรรจุไว้ในหลักสูตร แค่ช่วงจากสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์เท่านั้น

เกิดความเป็นห่วงคร-อาจารย์ทั้งหลายที่หยุดอยู่กับที่ปิดกั้นตัวเอง ละเลยเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ไม่ศึกษาเพิ่มเติม ท่านอาจจะรู้น้อยต้องเดินตามหลังเด็ก และอาจจะไม่ได้รับความเชื่อถือ สอนสั่งเขาได้อีกต่อไป

เพื่อนเก่าตั้งแต่สมัยเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่ม-สาวได้เดินทางไปท่องเที่ยวทางภาคเหนือ พร้อมส่งภาพถ่าย “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นบ้านศิลปินแห่งชาติของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ “สาขาทัศนศิลป์” (2544)

ผมได้สอบถามกลับไปว่า แล้วได้แวะ “วัดร่องขุ่น” ด้วยหรือไม่?

แทนคำตอบเขาส่งรูปมาให้ดูเช่นกัน วัดร่องขุ่น ซึ่งเป็นการลงทุนลงแรงทุ่มเทในการสร้างสรรค์ของเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ “สาขาทัศนศิลป์” (2554) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ก่อนถึงตัวเมืองเชียงรายประมาณ 13 กิโลเมตร ซึ่งเลยไปอีกไม่ไกลก็ถึงพิพิธภัณฑ์บ้านดำ

เท่ากับเป็นการจุดประกายให้เกิดความระลึกถึง “ปราชญ์วาดรูป” ขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่ท่าน (พี่) ได้ลาจากไปยังภพอื่น รวมได้ 6 ปีแล้ว

 

ผมเคยกล่าวไว้นานแล้วว่าเรื่องของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี มีมากเกินกว่าจะนำมาเล่าขานได้หมด เพราะฉะนั้น เมื่อมีอะไรมากระทบจนเกิดความคิดถึง จึงต้องทำตามที่เคยกล่าวไว้ ถึงแม้ว่าวันนี้ความก้าวหน้าก้าวไกลเรื่องเทคโนโลยี เรื่องของโซเชียลมีเดียจะพัฒนาไปไกลจนคนรุ่นผมแทบตามไม่ทัน

ถวัลย์ ดัชนี ศึกษาศิลปะเบื้องต้นที่โรงเรียนเพาะช่าง (โดยเป็นนักเรียนทุนจากจังหวัดเชียงราย) และคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศเนเธอร์แลนด์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก มีผลงานโดดเด่นระดับนานาชาติ

ท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี เกิดวันที่ 27 กันยายน 2482 ที่จังหวัดเชียงราย เสียชีวิตวันที่ 3 กันยายน 2557 ที่กรุงเทพฯ

เคยได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชีย ที่เมืองฟูกูโอกะ (Fukuoka Asian Culture Prize – “Art and Culture Prize”) ประเทศญี่ปุ่น

งานแสดงครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศคือ นิทรรศการ “ไตรศูรย์” ปี พ.ศ.2547-2548 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพฯ

ท่านสามารถชมงานของ “ปราชญ์วาดรูป” ได้ตามพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก และหอศิลป์ร่วมสมัย กรุงเทพฯ รวมทั้งผลงานที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ นางแล ที่รวมศิลปะทุกสาขา ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม

 

พิพิธภัณฑ์บ้านดำได้รับการสานต่อดูแลโดยทายาทคนเดียวของท่าน ซึ่งขอเรียนตรงๆ ว่าไม่ทราบจริงๆ ว่าได้เปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างไรบ้าง หลังจากที่ต้องต่อสู้กับผู้ที่จะเข้าฉกฉวยแย่งชิงทรัพย์สมบัติของผู้เป็นพ่ออยู่นานปี

ขณะนี้จะจัดทำภาพพิมพ์ผลงานของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งมีราคาสูงมากจนเกินกว่าจะหาซื้อหาได้มาเป็นเจ้าของ พิพิธภัณฑ์บ้านดำจึงร่วมกับบริษัท คัลเลอร์ โกล ประเทศไทย คิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อปกป้อง ยืดอายุผลงานศิลปะให้คงทนถาวร โดยจัดพิมพ์บนแคนวาส (Canvas) เกรดพรีเมียม ประดับด้วยทองคำเปลว ใส่กรอบไม้แท้นำเข้า 3 ชั้นสีดำ-ทองไม่มีกระจก ติดแผ่นป้ายโลหะรองรับพร้อมหมายเลขกำกับจากพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ปกป้องภาพด้วยนวัตกรรม Age Stop จาก Color Glo Thailand

ภาพหน้าแผ่นดินผลิต 100 ภาพ (หมายเลขพิเศษ) / ราคา 58,000/ขนาด 130/130 เซนติเมตร จำนวน 81 หมายเลข ราคา 38,000 และขนาด 125/125 (ขนาดรวมกรอบ)

ทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับผลงานอมตะของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี เป็นสมบัติตกทอดด้วยความชอบธรรมโดยสายเลือดของดอยธิเบศร์ ดัชนี ทายาทคนเดียวของท่าน

ผู้ดูแลผลงานอมตะ และสืบทอด “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” เชียงราย