รูปธรรม “จิตว่าง” ลานหินโค้ง สวนโมกข์ ไกลจาก สุญญตา

จากนี้จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า ท่านพุทธทาสภิกขุ ยืนหยัดอยู่ในกระบวนการนำเสนอเรื่อง “จิตว่าง” อย่างแน่วแน่และมั่นคง

ไม่ว่าจะเรียกว่า “สุญญตา” ไม่ว่าจะเรียก “ศูนยตา”

ความแน่วแน่และมั่นคงนี้เป็นความแน่วแน่และมั่นคงบนหลักการแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีเฉไฉ ไม่มีแปรเปลี่ยน

ไม่ว่าจะเรียกว่า “เถรวาท” ไม่ว่าจะเรียกว่า “มหายาน”

หลักการของ “ความว่าง” ยังเป็นหลักการที่เห็นร่วมกัน เพียงแต่เถรวาทในประเทศไทยมิได้เน้นในเรื่องนี้ จึงนำไปสู่ความเข้าใจผิด

คิดว่า “ความว่าง” เป็นเรื่องของ “มหายาน”

ยิ่งเห็นท่านพุทธทาสภิกขุลงมือแปล “สูตรของเว่ยหล่าง” อันเน้นในเรื่อง “ความว่าง” ตั้งแต่ต้นจนจบ

ยิ่งคิดว่าได้อิทธิพลมาจาก “เซน” อันเป็นส่วนหนึ่งแห่ง “มหายาน”

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ท่านยังมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับสำนักคิดมหายานของจีนดังที่ไปร่วมปาฐกถาในสมาคมไทย-จีน ผูกมิตรกับนายแพทย์ตันม่อเซี้ยง ทั้งยังแปลเรื่องราวของเซนทั้งจากจีนและญี่ปุ่นเข้ามา

ก็เลยมองว่าท่านได้หันเหจาก “เถรวาท” ไปสมาทานทางด้าน “มหายาน” แล้วอย่างเต็มเปี่ยม

นี่ยังเป็นคำตอบจากคำถามในตอนก่อนว่าด้วยเรื่องของ “จิตว่าง” เพียงแต่ได้มีการย่อยกระทั่งลักษณะแห่ง “ความว่าง” ห่างไกลจากภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี ไม่ว่าจะเป็นภาษาสันสกฤต ไม่ว่าจะเป็นในแบบของเว่ยหลาง

ต้องอ่าน

ทีนี้ก็อยากจะให้ดูโดยละเอียดลงไปว่า ธรรมดาโดยปกติธรรมดาคนเรามันว่างอยู่โดยธรรมชาติ เช่น คุณนั่งอยู่แถวนี้ทั้งหมดนี้จิตกำลังว่าง ไม่ได้ยึดถือว่าอะไรเป็นตัวตน ว่าของตน

จิตว่างอย่างนี้จึงฟังอาตมาพูดรู้เรื่อง

ถ้าอะไรมาเป็นตัวตน-ของตนกลุ้มอยู่ จิตไม่มีว่าง คนนั้นคงฟังอาตมาพูดไม่รู้เรื่องดอก แล้วก็จะรำคาญเสียด้วย

เดี๋ยวนี้จิตว่างจากตัวกู-ของกูพอที่จะฟังอาตมาพูดรู้เรื่องจึงมีประโยชน์

นั่นแหละประโยชน์ของจิตว่างเป็นอย่างนั้น แล้วมันก็นอนหลับแหละถ้าคนจิตมันว่าง ถ้าจิตมันไม่ว่างมันนอนไม่หลับ กินยานอนหลับกี่เม็ดมันก็ไม่หลับ หนักเข้าก็ตายเลย กินยาเข้าไปมากแล้วมันก็ตายเลย จิตมันไม่ว่าง

นี่เราควรรู้จักกันให้ยุติธรรมสักหน่อยว่าที่รอดชีวิตอยู่ได้ ไม่เป็นโรคประสาทนี้เพราะจิตมันว่างอยู่ตามธรรมชาติ

ว่างตามธรรมชาติ “ตัวกู-ของกู” ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอำนาจของธรรมชาติ

เช่น คนเขามาที่นี่เขามาจากที่อื่น พอมานั่งที่ตรงนี้เขาบอกว่า “โอ๊ย นี่ทำไมมันสบายใจอย่างบอกไม่ถูก” คนนั้นมันไม่รู้ว่าธรรมชาติแถวนี้มันบังคับแวดล้อมจิตของเขาให้ว่าง ให้ลืมสิ่งต่างๆ ที่บ้านที่เรือนข้างหลังโน้นหมด

จิตว่างจากความยึดถือ ไม่นึกถึงอะไร ไม่ยึดถืออะไร และสบายที่สุด

มานั่งตรงนี้ มานั่งข้างก้อนหินตรงนี้ทำไมมันจึงสบายที่สุดเล่า เพราะธรรมชาติทั้งหมดนี้ ต้นไม้ ก้อนหิน ดิน ทราย อะไรก็ตาม มันแวดล้อมจิตใจให้ว่างไปเสียจากความยึดถืออะไรที่ยึดถือมาแต่บ้าน

คนกลุ้มใจมาแต่บ้าน พอมาถึงตรงนี้มันว่าง แล้วมันก็เลยหายกลุ้มใจ

มันสบายใจอย่างบอกไม่ถูก ไม่รู้สึกเหตุผล แต่รู้สึกว่ามันสบาย นี่ถ้าใครมีจิตว่าอย่างนี้ คนนั้นจะไม่รู้สึกเป็นทุกข์ จะนอนหลับสนิท จะทำอะไรได้ดี จะคิดเลขก็คิดได้ดี จะเรียนหนังสือก็เรียนได้ดี จะทำการงานอะไรก็ทำได้ดี

เพราะจิตมันว่างจากความเดือดพล่านแห่ง “ตัวกู-ของกู”

นี้จึงบอกว่าอย่าทำอะไรด้วยความหวังแห่ง “ตัวกู-ของกู” มีสติปัญญาไล่ “ตัวกู-ของกู” ออกไปเสีย

ทำงานนั้นด้วยสติปัญญา อย่าหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าหิวอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะไม่ว่าง

ดังนี้แล้วการงานนั้นก็จะดี จะทำงานได้ดี ทำงานได้ผลดี และจะมีความสุขในการทำงานนั้นด้วย

นี่เรียกว่าทำงานด้วยจิตว่าง ไม่มีทุกข์ แต่เป็นความสุขไปในตัว และงานนั้นจะมีผลดีด้วย

นี่แหละจิตว่างที่ถอดรูปออกมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า

หากเรียกตามสมัยนิยม ท่วงทำนองของท่านพุทธทาสภิกขุก็คือ การทำให้ “จิตว่าง” สัมพันธ์อย่างแนบแน่นอยู่กับชีวิตประจำวัน

ยกตัวอย่างจากความเป็นจริงของคนมาสวนโมกขพลาราม

ยกตัวอย่างจากรูปธรรมแห่งการว่างจาก “ตัวกู-ของกู” อย่างสัมผัสและแตะต้องได้ โดยปรับประสานกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละคน

เป็น “จิตว่าง” ในแบบ “คนธรรมดา”

ไม่มีกลิ่นอายของ “นาคารชุนะ” ไม่มีกลิ่นอายของ “มาธยมิกกะ” หลุดพ้นจากทั้ง “สุญญตา” และ “ศูนยตา”

มีเพียง “ความว่าง” และ “จิตว่าง”