ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 กันยายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ดนตรี |
ผู้เขียน | วารี วิไล |
เผยแพร่ |
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยโพสต์ว่า ฝรั่งเศสมีเพลง La Marseillaise เป็นเพลงชาติ
ทำนองของเพลงนี้ อดีตนักศึกษา ทวีป วรดิลก สมัยทศวรรษ 2490s ได้แต่งเนื้อร้อง กลายเป็นเพลง “มาร์ช ม.ธ.ก.”
ทวีปยังได้แต่งเนื้อร้องเพลง “โดมในดวงใจ” อีกด้วย ความที่เขาเป็น น.ศ.หนุ่มไฟแรง หัวก้าวหน้า เขาจึงถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2494 ในยุคเผด็จการทหารครองเมือง
ชื่อของธรรมศาสตร์เป็นที่กล่าวขวัญอีกครั้ง เมื่อนักเรียน-นักศึกษาประกาศจัดการชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
แต่ฝ่ายบริหารไม่อนุญาต โดยระบุว่า การขออนุญาตไม่ได้ทำตามระเบียบของมหาวิทยาลัย ท่ามกลางเสียงวิจารณ์
เสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากธรรมศาสตร์ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ก่อกำเนิดภายหลังการเปลี่ยนแปลง 2475
หลังกบฏแมนฮัตตันวันที่ 2 กรกฎาคม 2494 ทหารเข้าควบคุมธรรมศาสตร์ สมัยนั้นเรียกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ม.ธ.ก. ทำให้นักศึกษาไม่มีที่เรียน
กองทัพบกยังเตรียมการซื้อที่ดินกลับคืน อ้างว่าเพื่อใช้ตั้งเป็นกองทหาร เป็นเงิน 5 ล้านบาท
นักศึกษา มธ.ยุคนั้นรวมตัวเป็นจำนวนนับพันคนทวงคืน กระทั่งวันที่ 5 พฤศจิกายนปีเดียวกัน นักศึกษาใช้วิธีรวมตัวไปท่องเที่ยว ขากลับนำรถเข้าไปในพื้นที่มหาวิทยาลัย แล้วฮือยึดมหาวิทยาลัยคืน จนเป็นธรรมศาสตร์มาจนทุกวันนี้
นั่นคือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของธรรมศาสตร์
มารอบนี้ ศิษย์เก่าแตกความเห็นเป็น 2 ขั้ว
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยระบุว่า การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นสุ่มเสี่ยงจะพาคนไปตาย
เป็นความห่วงใยที่น่าคิด เพราะคนกลุ่มนี้เคยเข้าร่วมการชุมนุมของ กปปส. ที่ลงเอยด้วยรัฐประหาร 2557
หลายคนในกลุ่มนี้สนับสนุนการรัฐประหาร ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กิน “สลิ่ม” จนมองหน้ากันไม่ติด
ครูบาอาจารย์อีกหลายคน ติดลมรัฐประหาร มีตำแหน่งแห่งหนเพลิดเพลินติดลมกันไป
ย้อนกลับไปดูเพลง La Marseillaise ประพันธ์โดยโกลด โฌแซ็ฟ รูเฌ เดอ ลีล (Claude Joseph Rouget de Lisle) เมื่อปี พ.ศ.2335 หรือปี 1792 หลังจากฝรั่งเศสประกาศสงครามกับออสเตรีย เดิมเพลงนี้มีชื่อว่า Chant de guerre pour l”Armee du Rhin (War Song for the Army of the Rhine)
ปี 1795 สมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสประกาศให้เพลงนี้เป็นเพลงชาติ หลังจากกองทหารอาสาสมัครจากเมืองมาร์เซย์เดินทัพเข้าปารีส และร้องเพลงนี้ปลุกขวัญการต่อสู้ของชาวปารีส
อีก 100 กว่าปีต่อมา เนื้อหาอันทรงพลังของเพลงนี้ ทำให้ในปี 2494 ทวีป วรดิลก นักเขียน กวีและนักแปลหัวก้าวหน้า นำมาใส่เนื้อไทย
มีเนื้อหาบางตอนดังนี้
อันธรรมศาสตร์สืบนามความสามัคคี ร่วมรักในสิทธิ-ศรี เสรีชัย
สัจธรรมนำเรา เร้าในดวงใจ โดมดำรงธงชัย ในวิญญาณ
โดมดำรงคงจิตหาญดวงมาลย์มั่น สถิตในธรรมล้ำบันลือชัย …ฯลฯ
จากทำนองเดียวกันนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ กวีปฏิวัติจากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในห้วงที่ถูกเผด็จการจับติดคุกระหว่างปี 2501-2507 นำไปแต่งเพลงมาร์ชลาดยาว
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งหลังการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย สถาบันมหาวิทยาลัย อาจารย์ นักศึกษา และพื้นที่มหาวิทยาลัย ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ และเพื่อสิทธิประชาธิปไตย
เพลงมหาวิทยาลัย โดยศิษย์เก่า หรือผู้เกี่ยวข้อง จึงมีเนื้อหาบันทึกและรำลึกถึงการต่อสู้ที่เกิดขึ้น
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ๆ ของ มธ.จากนี้ไป จะบันทึกไว้ยังไง น่าจะได้ทราบกันเร็วๆ นี้