ฐากูร บุนปาน | บรรดา “ผู้ใหญ่” ทั้งหลาย เมื่อโดนเด็ก “ถอนหงอก”

การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในวันที่ 19 กันยายนนี้

ถูกประเมินทั้งฝ่ายจัดการชุมนุม-เอาใจช่วยการชุมนุม และฝ่ายของเจ้าหน้าที่รัฐ-ฝ่ายควบคุมการชุมนุม-ผู้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ “เบิ้ม” กว่าการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในครั้งที่ผ่านๆ มาแน่นอน

คำถามมีอยู่แค่ว่า เมื่อมาชุมนุมกันมากขนาดนี้ มีฝ่าย “ปฏิกิริยา” ออกมาแสดงท่าทีต่อต้านเสียชัดเจนขนาดนี้

จะเกิด “ความรุนแรง” ขึ้นหรือไม่

คําถามอจินไตยแบบนี้ไม่มีใครตอบได้หรอกครับ

แม้แต่หมอดู

ที่รู้แน่ๆ อย่างเดียวจากประวัติศาสตร์ของการชุมนุมในประเทศไทยก็คือ ความรุนแรงนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจากฝั่งของผู้ชุมนุม

แต่เกิดจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธ

14 ตุลาคม 2516 ก็เป็นเช่นนี้

6 ตุลาคม 2519 ยิ่งชัดเจนว่ามีการวางแผนให้เกิดความรุนแรงถึงแก่ชีวิตเลือดเนื้อ

พฤษภาทมิฬ 2535 ก็มาทำนองเดียวกัน

พฤษภาคม 2553 ชัดเจนอีกเช่นกันว่าเป็นการ “ล้อมปราบ” มีการสั่งให้ใช้อาวุธจริง-กระสุนจริง มีพลซุ่มยิงเหมือนการทำสงครามกับศัตรูภายนอก

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะรู้ว่าเมื่อมีการชุมนุมแล้วจะมีความรุนแรงตามมาหรือไม่

โน่นครับ ต้องถามผู้นำกองทัพเลย

ว่าจะหันปากกระบอกปืนที่ตามหลักการต้องชี้ออกนอกบ้าน เข้ามาเป็นปืนที่จ่อ-จี้-ยิง-สังหาร คนร่วมชาติเดียวกันอีกหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าส่วนใหญ่ของผู้ร่วมการชุมนุมเป็นเยาวชน

ไม่ตั้งแต่นิสิต นักศึกษา

ลงไปถึงวัยนักเรียน

ถ้าคำตอบและการปฏิบัติจริงหรือ-ไม่

ก็โล่งใจได้เปลาะหนึ่ง

แต่ความรุนแรงนั้นไม่ใช่การถือปืนออกมาจ่อใส่กันดื้อๆ แบบในหนังไทยเท่านั้น

ยังมีความรุนแรงอีกหลายรูปแบบที่มาในรูป “อีแอบ”

โดยเฉพาะการใช้วิธีข่มขู่คุกคามทางกฎหมาย

ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ต้องกราบเรียนว่า ไม่ค่อยจะได้ผลเท่าไหร่ หรือได้ผลน้อยลงไปทุกที

เพราะถ้าได้ผลมากขึ้นตามความตั้งใจของผู้ใช้อำนาจ

จำนวนผู้ร่วมชุมนุม การสนับสนุน กำลังใจ หรือกระแสจะเพิ่มจนชัดเจนอย่างนี้หรือ

แทนที่จะกลับมาตั้งคำถาม อะไรหรือทำไมถึงได้ทำให้ “ความไม่ถูกใจ” ขยายวงออกไปกว้างขวางขนาดนี้

กลับจะยังใช้อำนาจ ใช้กลไก ใช้เล่ห์เหลี่ยม ไปจัดการกับผู้เห็นต่าง

ซึ่งข้อเท็จจริงทั้งในโลกและในบ้านเรา ก็ยืนยันให้เห็นอยู่แล้วว่า ไม่เคยสำเร็จ

ก็ยังอุตส่าห์ “วนลูป” ทำอย่างเดิมอยู่นั่นแล้ว

อะไรที่ทำแล้วล้มเหลวแล้วล้มเหลวเล่า จะหวังให้มีปาฏิหาริย์ในครั้งถัดมา

ไอ้ไข่วัดเจดีย์ยังส่ายหัวเลย

เอาเข้าจริงแล้ว โดยส่วนตัวนั้นกังวลอยู่เรื่องเดียวละครับ

ว่าบรรดา “ผู้ใหญ่” ทั้งหลาย เมื่อโดนเด็ก “ถอนหงอก” มากเข้า เพราะเด็กอ่านหนังสือมากกว่า มีข้อเรียกร้องที่บริสุทธิ์ใจปราศจากผลประโยชน์ยิ่งกว่า

พอถูกรุกไล่มากๆ เข้าแล้วตอบไม่ได้

เดี๋ยว “อาย” จะกลายเป็น “โกรธ”

แล้วหน้ามืด ตัดสินใจทำในสิ่งที่แรกคิดว่าไม่อยากและไม่ควรทำ

อย่าทำเป็นเล่นไป ผู้ใหญ่ที่ไม่ใหญ่จริงด้วยสมองและหัวใจ หรือพิการบกพร่องวิ่นแหว่งอยู่ข้างใน บ้านนี้เมืองนี้มีให้เห็นอยู่เยอะไป

ผู้ใหญ่พรรค์นี้ถูกจี้จุดเข้าเมื่อไหร่ ก็เผลอ “หลุด” ออกมาให้คนขำหรือสมเพชหนนั้น

ตอนหลุดแล้วเห็นคนเขาแอบปิดปากหัวเราะนี่ล่ะครับ ที่คนเราจะอายจนกลายเป็นโกรธได้ง่ายๆ

อะไรที่ไม่คิดว่าได้เห็นก็จะได้เห็น

อะไรที่ไม่คิดว่าจะเกิดก็อาจจะเกิดได้

จึงหวังแต่ว่ามือของคนที่กุมอาวุธ (ที่ซื้อมาโดยภาษีของประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือคนที่ออกมาร่วมชุมนุม) จะมี “สติ” กำกับอยู่เสมอ

รู้ผิด รู้ถูก รู้อะไรควรไม่ควร

และที่สำคัญที่สุดคือ รู้ค่าชีวิตของเพื่อนร่วมชาติ

รวมทั้งต้องรู้ด้วยว่า เมื่อที่เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นแล้ว

กว่าจะถึงเสียงปืนนัดสุดท้าย สังคมต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์จำนวนมหาศาล

ทั้งด้วยทรัพยากร ด้วยเวลา

และด้วยชีวิต