วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ฮ่องกงจากสาธารณรัฐจีนถึง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮ่องกงเมื่อวันวาน (6)
ในยุคสาธารณรัฐ

ตอนที่จีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐนั้น ฮ่องกงมีประชากรประมาณ 436,000 คน ทั้งนี้ เป็นตัวเลขที่สำรวจใน ค.ศ.1910 หรือก่อนการปฏิวัติสาธารณรัฐหนึ่งปี

เวลานั้นกระแสชาตินิยมอันเป็นผลสะเทือนจากการปฏิวัติกำลังขึ้นสู่กระแสสูงในหมู่ชาวจีน ไม่เว้นแม้แต่ชาวจีนในฮ่องกง

ช่วงเวลานี้เองทางรถไฟที่เชื่อมต่อฮ่องกงกับกว่างโจวถูกสร้างขึ้น และเป็นสัญลักษณ์เดียวที่เชื่อมจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงเข้าด้วยกัน หากไม่นับรอยเชื่อมที่เป็นภาคพื้นน้ำซึ่งเป็นรอยเชื่อมที่ไม่เป็นทางการ

ที่สำคัญ เป็นเพียงจุดเชื่อมเดียวที่จะทำให้ประชาคมโลกรู้เรื่องราวของจีน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฏิวัติสาธารณรัฐผ่านไปไม่นาน ความยุ่งยากทางการเมืองในจีนได้โหมกระหน่ำจีนอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งโดยสาระหลักแล้วก็คือการแก่งแย่งอำนาจกันเองในหมู่ชนชั้นนำและขุนศึก

และความยุ่งยากนี้ได้กลบข่าวสารหรือเรื่องราวของฮ่องกงลง

กว่าความยุ่งยากดังกล่าวจะยุติลง เวลาก็ลุล่วงไปจนถึงปลายทศวรรษ 1920 และผู้ที่ทำให้มันยุติลงก็คือ เจียงไคเช็ก (ค.ศ.1887-1975) ขุนศึกที่เคยอยู่เคียงข้าง ดร.ซุนยัตเซน แต่ก็เป็นผู้ทรยศต่ออุดมการณ์ของ ดร.ซุนยัตเซน

โดยหลังจากที่ยุติความยุ่งยากได้แล้ว เขาก็ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี อันเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนในเวลานั้น แต่เขาไม่เคยคิดที่จะนำจีนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของ ดร.ซุนยัตเซนแม้แต่น้อย

เจียงไคเช็กปกครองจีนด้วยระบอบเผด็จการตลอดยุคสมัยของเขา และมีศัตรูตัวใหม่ให้ต้องใช้กำลังเข้าปราบคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน

ครั้นพอญี่ปุ่นบุกจีนใน ค.ศ.1937 เจียงก็มีญี่ปุ่นเป็นศัตรูเพิ่มมาอีกตัว

เหตุดังนั้น แม้เจียงจะขจัดความยุ่งยากไปได้ แต่ความยุ่งยากใหม่ก็ถาโถมเข้าอีกเป็นระลอก ยุคสมัยของเขาจึงเป็นยุคที่จีนหาความสงบแทบไม่ได้

 

ตลอดยุคสาธารณรัฐก็ว่าได้ ที่อังกฤษได้พัฒนาฮ่องกงไปอย่างสงบเรียบร้อย ตราบจนเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นขึ้นใน ค.ศ.1937 ดังกล่าวข้างต้น ฮ่องกงจึงเริ่มปรากฏบทบาทอีกครั้งหนึ่งในฐานะทางผ่านในการลำเลียงอาวุธให้กับจีน

ญี่ปุ่นจึงจำต้องยุติบทบาทนี้ของฮ่องกง

ใน ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นจึงได้ตัดสินใจเข้ายึดฮ่องกง และจับตัวผู้ว่าการเกาะฮ่องกงเอาไว้เป็นตัวประกันโดยควบคุมตัวไว้ที่โรงแรมเพนนินซูลา หลังจากนั้นก็กวาดต้อนชาวอังกฤษทุกคนมาไว้ที่โรงแรมแห่งนี้ ส่วนชาวจีนที่อพยพเข้ามาก็ถูกส่งกลับไปจีนราวเดือนละ 20,000 คน

จากนั้นญี่ปุ่นก็ควบคุมฮ่องกงเอาไว้จนถึง ค.ศ.1945 ญี่ปุ่นก็ต้องถอนกำลังกลับไปเพราะพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากสงครามยุติลง ฮ่องกงก็ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ขึ้นมา นั่นคือ ได้เกิดการอพยพหลั่งไหลเข้าไปฮ่องกงของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ชาวจีนเหล่านี้ไม่เพียงจะเป็นผู้อพยพก่อนหน้านี้ที่ถูกญี่ปุ่นส่งกลับหรือที่อพยพกลับไปเอง หากยังรวมถึงผู้อพยพกลุ่มใหม่อีกด้วย

ชาวจีนเหล่านี้อพยพมายังฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ทำไมในเมื่อสงครามก็สิ้นสุดลงแล้ว?

 

สาเหตุที่อพยพเข้ามาก็เพราะชาวจีนเหล่านี้รู้ดีว่า อีกไม่นานหลังสงครามยุติลงจะต้องเกิดสงครามขึ้นอีก นั่นคือ สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับกว๋อหมินตั่ง เพื่อช่วงชิงอำนาจการปกครองจีนแต่เพียงผู้เดียว

การอพยพหลั่งไหลเข้ามายังฮ่องกงนี้เกิดขึ้นแทบจะไม่ขาดสาย เฉลี่ยแล้วจะมีผู้อพยพเข้ามาเดือนละประมาณ 100,000 คน จนทำให้ฮ่องกงมีประชากรเพิ่มจาก 610,000 คนก่อน ค.ศ.1945 มาเป็น 1.6 ล้านคนเมื่อสิ้นปี ค.ศ.1945

และพอสิ้น ค.ศ.1950 ฮ่องกงก็มีประชากรราว 2 ล้านคน

จากจำนวนชาวจีนที่อพยพมายังฮ่องกงดังกล่าวมีนัยสำคัญอยู่สองประการคือ

ประการแรก ผู้อพยพชาวจีนเล็งเห็นโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัวของฮ่องกงมากกว่าจีน

ในประการที่สอง ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เล็งเห็นแล้วว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีโอกาสสูงที่จะชนะกว๋อหมินตั่งในสงครามกลางเมือง

ในประการหลังนี้ทำให้เห็นว่า ชาวจีนอพยพเหล่านี้ไม่พร้อมที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการอพยพมายังฮ่องกงก็ถือเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง เพราะนับแต่ที่ฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษเรื่อยมานั้น อังกฤษได้ทำให้เห็นแล้วว่าฮ่องกงเจริญรุ่งเรืองขึ้นทุกขณะจริงๆ

โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา

 

อย่างไรก็ตาม สงครามกลางเมืองระหว่างกว๋อหมินตั่งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เกิดขึ้นในช่วงปลาย ค.ศ.1947 จนถึงต้น ค.ศ.1949 นั้น ฮ่องกงกลับกลายเป็นฐานปฏิบัติการลับและแหล่งทุนสนับสนุนให้กับทั้งสองฝ่าย แต่กระนั้น ความรุนแรงของสงครามก็ไม่ได้กระทบเกาะแห่งนี้มากนัก

จะมีก็แต่เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น นั่นคือ ในเดือนเมษายน ค.ศ.1949 รัฐบาลอังกฤษในฮ่องกงได้เสริมกำลังทางทหารเพิ่มขึ้นและจับกุมฝ่ายซ้าย ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยิงปืนใหญ่เข้าใส่เรือรบอมาธิสต์ (Amathyst) ของตนในขณะที่แล่นอยู่ในแม่น้ำหยังจื่อ

แต่เหตุการณ์นี้ก็สามารถยุติลงได้เมื่อมีการเจรจากันระหว่างสองฝ่าย

ตอนที่เกิดกรณีอมาธิสต์ (Amathyst Incident) นั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของจีนเอาไว้ได้แล้ว

ส่วนเจียงไคเช็กซึ่งเห็นลางแพ้ของตนก็ได้อพยพไปอยู่ที่เกาะไต้หวันตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ.1949 แล้ว

กล่าวกันว่า ช่วงรอยต่อของ ค.ศ.1948 กับ ค.ศ.1949 นั้น เจียงไคเช็กซึ่งเป็นชาวคริสต์ได้ฉลองเทศกาลคริสต์มาสด้วยความวังเวงใจยิ่งนัก แม้เสียงเพลงของเทศกาลนี้จะดังแว่วมาไม่ขาดสาย แต่ก็ไม่ได้ช่วยดับความวังเวงใจของผู้แพ้แม้แต่น้อย

 

และแล้วพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เป็นฝ่ายชนะในสงครามกลางเมืองใน ค.ศ.1949 ตามที่ชาวจีนที่อพยพไปฮ่องกงคาดการณ์เอาไว้ และโชคดีของชาวจีนเหล่านี้ก็ตามมาอีกระลอกเมื่อจีนประกาศห้ามมิให้มีการอพยพเข้าฮ่องกง และให้ถือว่าการอพยพเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายที่มีบทลงโทษที่เด็ดขาด

แต่กระนั้น การอพยพก็ยังคงมีอยู่ไม่ขาดสาย แต่เป็นไปด้วยการหลบหนีออกจากจีนเข้ามายังฮ่องกง การหลบหนีเข้าเมืองนี้กระทำผ่านวิธีการต่างๆ เช่น ถ้าโดยสารรถไฟสายกว่างโจว-ฮ่องกง ผู้อพยพจะใช้วิธีแอบกระโดดออกจากรถไฟ หรือแสร้งเข้าห้องน้ำแล้วแอบกระโดดจากห้องน้ำออกไป

วิธีดังกล่าวค่อนข้างขึ้นชื่อจนทางการจีนและฮ่องกงต้องใช้มาตรการป้องกัน นั่นคือ เมื่อรถไฟแล่นเข้าเขตฮ่องกง นอกจากประตูรถไฟจะถูกปิดทุกบานแล้ว

ห้องน้ำก็ยังไม่ให้ผู้โดยสารเข้าอีกด้วย

 

ผมเคยมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ที่จะเล่าให้ฟังคือ ดังที่ผมได้เล่าไปแล้วว่าผมได้ไปจีนครั้งแรกใน ค.ศ.1989 และตรงกับช่วงที่เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่เทียนอันเหมินพอดี ซึ่งในขณะนั้นผมอยู่กว่างโจว ครั้นเสร็จภารกิจเราก็เดินทางด้วยรถไฟขบวนที่ว่านี้เข้าไปยังฮ่องกง

ก่อนที่รถไฟจะแล่นเข้าเขตฮ่องกงนั้น ผมเห็นเจ้าหน้าที่รถไฟซึ่งเป็นหญิงมายืนเฝ้าตามจุดต่างๆ ของรถไฟก็ไม่ได้คิดอะไร จนเวลาผ่านไปครู่ใหญ่ผมก็เกิดปวดปัสสาวะขึ้นมาจึงเดินไปที่ห้องน้ำ แต่พอจะเข้าก็ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามอย่างเด็ดขาดพร้อมกับอธิบายว่า เป็นระเบียบที่ตกลงร่วมกันระหว่างจีนกับฮ่องกง และเธอเกรงว่าผมจะกระโดดหนีออกจากรถไฟ

มิไยที่ผมจะอธิบายให้เธอฟังว่าผมเป็นคนไทยที่อย่างไรเสียก็ไม่คิดหนี เธอก็ยืนยันข้อห้ามดังกล่าวอย่างแข็งขัน

ผลคือ ผมต้องทนปวดปัสสาวะด้วยความทุกข์ทรมานนานร่วมชั่วโมง ก่อนที่จะได้ปลดทุกข์นั้นเมื่อรถไฟจอดเทียบชานชาลาสถานีฮ่องกง

เรื่องนี้ทำเอาผมเข็ดจนตาย

 

อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวที่นับว่าเสี่ยงต่อการบาดเจ็บล้มตายแล้วก็ยังสู้อีกวิธีหนึ่งที่เสี่ยงยิ่งกว่าไม่ได้ นั่นคือ การว่ายน้ำหนีจากฝั่งจีนไปยังฮ่องกง

วิธีนี้ค่อนข้างปลอดภัยจากสายตาของเจ้าหน้าที่ที่ลาดตระเวนอยู่เป็นระยะ แต่ก็เสี่ยงต่อการหมดแรงว่ายน้ำกลางคัน เพราะระยะทางระหว่างสองฝั่งนั้นห่างกันหลายสิบกิโลเมตร มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าว่ายจากฝั่งไหนของจีน มีชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่ต้องจบชีวิตลงด้วยวิธีนี้

และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ คนส่วนนี้ต้องนับว่าแน่จริงๆ

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2