E-DUANG : เด็ด”รถกระบะ”สะเทือน”สนช.”ได้อย่างไร

เหมือนกับว่า “ปรากฏการณ์” ไม่พอใจต่อมาตรการรัดเข็มขัดและเข้มงวดกับรถกระบะ

จะพุ่งเป้าเข้าใส่ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 14/2560

แม้ว่าคำสั่งนี้จะมาจาก “ความปรารถนาดี” ต้องการจัดระเบียบเทศกาลสงกรานต์ใหม่

และเน้นไปยัง “รถกระบะ”

ปฏิกิริยาจึงสะท้อนออกมาจาก “ชาวบ้าน” ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับ “รถกระบะ” อย่างเป็นด้านหลัก

บังเอิญ “รถกระบะ” เป็นดั่งตัวแทนของ “ชาวบ้าน”

เป็นชาวบ้านในชนบท หรือ “รากหญ้า” ทั้งที่อยู่ในเมืองและในต่างจังหวัด ความร้อนแรงจึงสูงเป็นอย่างมาก

ความร้อนแรงนี้ทำให้จำเป็นต้องชะลอ “คำสั่ง”

เป้าหมายเฉพาะหน้าอาจเป็นเรื่องของคำสั่งหัวหน้าคสช.แต่แท้จริงแล้วมีมากกว่านั้น

เท่ากับตอกย้ำบทบาทของ “สนช.”

 

โดยบทบัญญัติของ”รัฐธรรมนูญ” กำหนดให้ “สนช.” อยู่ในอำนาจนิติบัญญัติ

ดำรงอยู่ในลักษณะเป็น “ผู้แทนปวงชน”

กระนั้น นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา รากที่มาและบทบาทของ “สนช.” เด่นชัด

เพราะว่าเป็น “การแต่งตั้ง” โดย “คสช.”

บทบาทจึงเป็นมือเป็นไม้ให้กับ “คสช.” ไม่เคยสะท้อนออกซึ่งความเดือดร้อนของ “ปวงชน”

แตกต่างจาก “สภา” อันมาจาก “การเลือกตั้ง”อย่างสิ้นเชิง

 

ยิ่งรากที่มาของ “สนช.” จะได้รับการสืบทอดไปยัง 250 ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เมื่อเปรียบเทียบกับ “ส.ส.” อันมาจาก”การเลือกตั้ง”ยิ่งชั้ด

เป็นความชัดในกระบวนการ “ที่มา” เป็นความชัดในบทบาทและภาระหน้าที่

โล่งโจ้ง จางปาง ในสายตา “ประชาชน”

ระหว่างบทบาทของ “นักเลือกตั้ง” จากประชาชน กับ บทบาทของ “นักลากตั้ง” จากคสช.

สถานะและเกียรติภูมิย่อมต่างกัน

ศักดิ์ศรีในสายตาของ “ประชาชน” ยิ่งไม่เหมือนกัน