คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ภราดรภาพในความทุกข์ทน และอนาคตของความหวัง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งมีหลานชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งอายุยังไม่เต็มหนึ่งขวบ เด็กน้อยคนนี้เป็นลูกของน้องชาย หลังจากแม่เสียชีวิตไปได้สองปีกว่าๆ เด็กคนนี้ก็เกิดมาในครอบครัวของเรา

ใจหนึ่งก็อยากจะคิดว่าหรือเจ้าหลานคนนี้จะเป็นแม่ที่กลับมาหา แต่จะเป็นจริงหรือไม่ก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเขาคือหลานชายสุดที่รัก

ยิ่งไปกว่านั้น ชีวิตหนึ่งสูญหายไปแล้วมีชีวิตใหม่งอกเงยในเวลาไม่นาน นั่นทำให้ผมสะเทือนใจมากๆ ราวกับสัจธรรมของชีวิตปรากฏชัดเจนอยู่ต่อหน้า

ทุกครั้งที่ผมได้อุ้มเขา เขาคงได้รับความอบอุ่นจากพุงอ้วนๆ ของผม เพราะเขามักหลับอย่างสบายใจ

แต่ “อาแปะ” คนนี้เองก็รู้สึกถึงความอบอุ่นอย่างเป็นธรรมชาติที่เขามีให้ผมด้วย

 

แม้ในท่ามกลางความสุข ผมก็มีความกังวลเจือปนอยู่ในจิตใจ

หลานชายของผมจะเติบโตขึ้นมาในสังคมแบบไหน

เขาต้องเผชิญความยากลำบากอะไรในชีวิตบ้าง

แน่ละว่าทั้งพ่อและแม่ของเขารับราชการเป็นครู เขาคงไม่ได้ลำบากในแง่ความเป็นอยู่และความรักที่คนรอบข้างมีให้

แต่เขาจะเติบโตมาในสังคมที่มีการเมืองการปกครองอย่างไร

เขาจะอยู่ในรัฐสวัสดิการที่เอื้อให้เขามีชีวิตที่ดีงาม มีสิทธิและเสรีภาพ หรือจะอยู่ในรัฐที่กดขี่เขาทั้งทางตรงและทางอ้อม

เมื่อนึกถึงสิ่งนี้ ผมจึงค้อมคารวะแด่เยาวชนและเพื่อนทั้งหลายผู้ต่อสู้กับรัฐอันอยุติธรรมมาอย่างยาวนาน และทวีจำนวนมากขึ้นในทุกวันนี้ ความเคลื่อนไหวที่กำลังปรากฏขึ้น ได้สร้างความหวังแก่ผู้คนไม่น้อยรวมทั้งผมด้วย

ผมนั่งฟังการปราศรัยของน้องๆ นิสิตจุฬาฯ ทางออนไลน์ ผมเป็นนิสิตปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2547 เมื่อเข้าไปเรียนใหม่ๆ จุฬาฯ และสยามเป็นสิ่งแปร่งแปลกสำหรับคนบ้านนอกคอกนาผู้เพิ่งจบจากเชียงใหม่อย่างผม

มันช่างโอฬาริก เต็มไปด้วยกลิ่นของระเบียบประเพณี ความอนุรักษนิยมจัดๆ

ในอีกด้านมันก็ช่างหรูหราและแฟชั่นจัดเหลือเกิน

โชคดีที่ภาควิชาปรัชญาที่ผมเรียนอยู่ไม่มีอะไรแบบนั้น และการเป็นเพียงนิสิตปริญญาโททำให้เรามาเรียนเพื่อจะ “เรียน” จริงๆ ไม่ต้องมาเข้าร่วมในกิจกรรมอะไรมากมาย

เราจึงเป็นคนนอกในความเป็นคนในอีกที

 

แต่วันที่ผมฟังน้องๆ นิสิตปราศรัย “เสาหลักจะหักเผด็จการ” ซึ่งเกิดขึ้นใต้ตึกของคณะอักษรฯ คณะที่ผมรู้สึกถึงกลิ่นความอนุรักษนิยมนั่นแหละ ผมจึงรู้ว่าสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว ดูเหมือนกลิ่นเหล่านั้นจะจางลงไปมาก แม้อาจมีบางคนไม่ค่อยพึงใจเท่าใดนัก

ยิ่งเมื่อน้องๆ กล่าวขอโทษคนเสื้อแดง ยกย่องคนเสื้อแดง มีตัวแทนกรรมาชีพขึ้นเวที และนอกจากประเด็นใกล้ตัวอย่างปัญหาในมหาวิทยาลัยของเขาเอง มีประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และประเด็นปัญหาอื่นๆ ในสังคม

ผมน้ำตาซึมครับ ไม่ใช่เพราะผมเป็น นปช.หรืออดีตคนเสื้อแดง (แม้ว่าทัศนคติของผมก็ดังที่เห็นๆ กันอยู่ สมัยนั้นเขาเรียกกันว่า “กลุ่มนักวิชาการที่เห็นใจคนเสื้อแดง”) แต่ผมน้ำตาซึมเพราะนิสิตจุฬาฯ ซึ่งส่วนมากเป็นคนชั้นกลางค่อนไปทางสูงได้กล่าวยกย่องกลุ่มคนที่ชนชั้นกลางในกรุงเคยดูถูกเหยียดหยามเหมือนไม่ใช่คน จนนำไปสู่การล้อมปราบท่ามกลางความสนับสนุนของชนชั้นกลางนั่นเอง

แถมเขายังพูดถึงปัญหาของชุมชนรอบๆ จุฬาฯ ของชาวบ้าน ของกรรมกรหรือใครที่นอกวงของเขาไปอีก

ในเวทีใหญ่ที่ราชดำเนิน คนเสื้อแดงได้รับการกล่าวถึงอีกครั้ง และบนเวทีก็มีการพูดประเด็นของกลุ่มคนที่หลากหลาย นักศึกษา นักเรียนมัธยม คนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มศิลปิน ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐด้วยกันทั้งสิ้น

ภาพของคนรุ่นพ่อ-แม่ ย่า-ยาย แจกอาหารและน้ำแก่น้องๆ ผู้ชุมนุม ไม่ได้มาเพื่อแสดงตัวอย่างโอ่อ่า แต่หลบอยู่ตามมุมต่างๆ คอยช่วยเหลือสนับสนุนเท่าที่จะทำได้ น้องๆ ก็ขอบคุณด้วยความเคารพ ทำให้เข้าใจได้ว่า คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้รังเกียจผู้ใหญ่หรือคนรุ่นเก่าทุกคนอย่างที่ใครกล่าวหาหรอกครับ

เขานับถือคนที่เขาคิดว่าควรนับถือจริงๆ

แต่สังคมเราเองที่ชอบบังคับให้นับถือกันที่ “อาวุโส” ทั้งๆ ที่ “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” ก็มีเยอะ

 

จากเหตุการณ์ทั้งหมด ทำให้ผมนึกถึงวงเสวนาทางวิชาการเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงประเด็นเรื่อง “ภราดรภาพ” กับ “การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ” ที่จริงประเด็นนี้เริ่มมาจากข้อสังเกตของบางคนว่า หลายครั้ง เราไม่ค่อยกล่าวภราดรภาพ (fraternity) เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองสักเท่าไหร่

บางครั้งภราดรภาพกับการเรียกร้องทางการเมืองดูเหมือนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะในระดับความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น พี่-น้อง เพื่อนฝูงหรือครอบครัวที่ต้องมามีปัญหากันเพราะคิดไม่เหมือนกันทางการเมือง

อาจารย์สุวรรณาให้ข้อสังเกตว่า “การต่อสู้ที่ผ่านมาบ่อยครั้ง เหมือนเราอยากได้ความเสมอภาค แล้วเอาภราดรภาพเป็นราคาที่ต้องจ่าย”

แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่อาจารย์เสนอทั้งหมด แต่ผมคิดว่า การแก้ไขความขัดแย้งเรื่องนี้ในระดับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลคงไม่ต่างกับปัญหาของ “ทางเลือก” ทางศีลธรรมแบบอื่นๆ คือ ทำอย่างไรให้การเลือกของเรานั้น สามารถทำให้เรายืนยันตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง

ซึ่งตำแหน่งแห่งที่นั้นก็ได้ยืนยันคุณค่าหลักที่เรายึดถือในชีวิตไว้ด้วย แต่ผมคงไม่ลงไปในประเด็นนี้มากนัก

เพราะผมสนใจมากกว่าว่าในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ภราดรภาพจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางได้อย่างไร

 

ผมคิดว่า การกล่าวถึงคนเสื้อแดงของนิสิต-นักศึกษา การเชื้อเชิญกลุ่มที่มีประเด็นความแตกต่างของปัญหาจากรัฐให้มาร่วมในการเคลื่อนไหวด้วยกัน นี่คือสิ่งสะท้อน “ภราดรภาพ” ที่กำลังเกิดขึ้นในทางการเมืองและสังคมนั่นแหละ

ภราดรภาพอาจเกิดขึ้นเพราะมีอุดมการณ์ร่วมกัน หรืออาจยึดถึงหลักความเชื่อความคิดบางอย่างร่วมกัน แต่ที่น่าสนใจคือ ภราดรภาพที่เกิดจาก “ความทุกข์” ที่มีอยู่ร่วมกัน

หลายท่านอาจคิดว่า เฮ้ย นี่คอลัมน์ศาสนานะเว้ย จะพล่ามอะไรเกรงใจชื่อคอลัมน์นิดหนึ่ง แต่ผมคิดว่า นี่คือเรื่องศาสนาโคตรๆ

พุทธศาสนานั้นเน้นเรื่องภราดรภาพมาก พระภิกษุผู้สละเรือนญาติพี่-น้องมาอยู่ในชุมชน (สงฆ์) ก็ต้องดูแลกันเอง รักใคร่กันเหมือนพี่-น้อง

ยิ่งคำสอนในพุทธศาสนานั้น มีท่าทีของภราดรภาพเยอะทีเดียว

 

คําสอนในระดับหีนยาน (ใช้เรียกระดับของคำสอน ไม่ใช่เรียกนิกายนะครับ) เราตระหนักถึงความทุกข์ของตัวเองอย่างแจ่มชัด และปรารถนาจะดับทุกข์นั้น เมื่อทุกข์ของเราดับลงแล้ว เราปรารถนาจะช่วยคนอื่นที่มีทุกข์ต่อไป

ส่วนในระดับมหายานนั้น เราไม่เพียงตระหนักในทุกข์ของตนเองเท่านั้น แต่เราตระหนักไปพร้อมๆ กันว่า คนอื่นก็ทุกข์อย่างเรา หรือความทุกข์คนอื่นนั้นมีมากมายกว่าเราเสียอีก (ก็เพราะสรรพสัตว์มีมากกว่าเรานั่นเอง) เราจึงปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ไปพร้อมๆ เราหรือก่อนเรา

“เพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น” จึงเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง เพราะสะท้อนว่า ต่างคนต่างมีความทุกข์ร่วมกัน และหากเข้าใจด้วยว่าความทุกข์นั้นไม่ได้มีเฉพาะความทุกข์ของปัจเจกซึ่งอาจดับลงได้ด้วยการภาวนาต่างๆ ในส่วนตน แต่ยังมีความทุกข์ทางสังคมโดยรวมซึ่งเกิดจากโครงสร้างอันบิดเบี้ยวและระบอบการปกครองที่ไม่ถูกต้อง อันไม่อาจแก้ได้ด้วยการนั่งภาวนาเท่านั้น เราจึงควรออกไปแก้ไขความทุกข์นั้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหวทางการเมืองสารพัดรูปแบบดั่งที่เห็น

ภราดรภาพเกิดขึ้นจากการเห็น “ความเชื่อมโยง” เหมือนที่เราพร่ำสอนกันเรื่องกฎอิทัปปัจจยตา ความทุกข์ของคนคนหนึ่งในสังคม ได้สะท้อนให้เราเห็นอะไรอีกมากมายซึ่งเป็นปัจจัยของความทุกข์นั้นๆ และผลที่มันส่งต่อไปอีกเรื่อยๆ

ดังนั้น เราจึงควรขอบคุณน้องๆ และทุกคนที่เสียสละออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองนะครับ เพราะหากสังคมดีขึ้น เราเองก็ได้รับประโยชน์ ทั้งที่เราอาจทำอะไรน้อยยิ่งกว่าน้อย

ขอให้พลังจงอยู่กับทุกคน

ขอบคุณครับ

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)