เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ถอดรหัสวรรณกรรมไทย

คุยกันในแวดวงวรรณกรรมว่า นิทานและวรรณกรรมไทยทั้งหลายนั้นมักมีเรื่องโหดๆ ประเภท “ร้ายเหลือที่-ดีเหลือเกิน” รวมทั้งเหมือนจะไม่คำนึงถึงความผิดถูกทางศีลธรรม

ตัวอย่างเช่น แม่เลี้ยงใจร้ายทำอุบายฆ่าลูกเลี้ยงในเรื่องปลาบู่ทอง แม้ในชาดกเรื่องเวสสันดรที่พระเวสสันดรบริจาคลูกทั้งสองคือกัณหาชาลีไปเป็นข้ารับใช้ให้ชูชกกระทำทารุณ

เรื่องพระลอเองก็เถิด เคยอยู่ในบัญชี “เผาวรรณคดี” สมัยหนึ่งมาแล้ว

นี่คือตัวอย่างด้านลบของวรรณกรรมไทย อันจำเป็นต้อง “วิพากษ์” ดังเคยมีกลุ่ม “วรรณคดีวิจารณ์” ได้มีบทบาทมาแล้วในระดับหนึ่ง

 

วรรณกรรมต่างประเทศทำนองนี้แก้ปัญหาด้วยการ “แต่งใหม่” ดังเราได้เห็นในภาพยนตร์สโนไวต์ และซินเดอร์เรลลาฉบับใหม่ ตีความใหม่ มีมุมมองต่างไปจากเดิม

หลายเรื่องในวรรณกรรมไทยสมควรจะสังคายนาถอดความสังเคราะห์ส่วนดีออกมาให้เห็นได้เช่นกัน

ยิ่งถ้านำมาสู่โครงการ “หนังสือบังคับอ่าน” ในโรงเรียน โดยจำแนกตามระดับชั้นด้วยแล้วยิ่งจำเป็นต้อง “แต่งใหม่” ทุกเรื่องด้วยซ้ำไป เพื่อสกัดเอาส่วนดีที่มุ่งประสงค์ของแต่ละเรื่องนั้นๆ ให้คงอยู่เด่นชัด ด้วยการนำเสนออย่างมีศิลปะ (มิใช่เชิงสั่งสอนเทศนา) ทั้งต้องคำนึงถึงความ “ร่วมสมัย” เป็นหลักด้วย

ทำได้จริง นี่จะเป็นการ “ถอดรหัสวรรณกรรมไทย” ครั้งสำคัญ และจะเป็นโฉมหน้าใหม่ของการศึกษาไทยที่ปลุกสำนึก “รักอ่าน รักคิด” ได้จริง

 

ที่จริงเรื่องทำนองนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ทำมาแล้วด้วยการอธิบายหลัก “ปฏิจจสมุปบาท” ผ่านนิทานเรื่อง “ยายกะตา” ปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า ตามลำดับเรื่อง ซึ่งเป็นกระบวนของการเกิดทุกข์และการดับทุกข์

เริ่มจากหลานไม่เฝ้า นั่นแหละเป็นการเริ่มของ “อวิชชา” คือความไม่รู้ ผลคือ “ยายมายายด่า ตามาตาตี” นี่คือทุกข์เกิด

สายดับทุกข์เริ่มแต่แมลงหวี่รับจะไปตอมตาช้าง นี่เป็นการเริ่มของ “วิชชา” จนถึงนายพรานยอมมายิงอีกาไม่ให้มากินถั่วกินงาได้อีก ผลคือยายมายายไม่ด่า ตามาตาไม่ตี หลานก็มีความสุข นี้คือปฏิจจสมุปบาทสายดับทุกข์

กระบวนเรื่องและลำดับสายปฏิจจสมุปบาทจะสอดรับกันพอดี

นิทานเรื่องนี้เป็นภาพเขียนอยู่ในโรงมหรสพทางวิญญาณที่สวนโมกข์ไชยา กับจำลองมาเขียนไว้ที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ด้วย

 

ทํานองนี้เราอาจนำมาใช้กับวรรณกรรมไทยทั้งหลายที่สมควร “แต่งใหม่” ได้ทั้งหมด

มิฉะนั้น วรรณกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นของ “คร่ำครึ” อยู่ในตู้เก่าเก็บ หรือบนหิ้งที่รกด้วยหยากไย่ใยแมงมุมขยุ้มเหยื่ออยู่เพียงเท่านั้น

เคยตีความเรื่องสังข์ทองว่านี่เป็นนิทานหรือวรรณกรรมแนวพุทธธรรมสำคัญเรื่องหนึ่งที่น่านำมา “แต่งใหม่” ได้ และสมควรทำด้วย

คือเรื่องของพุทธธรรมที่เป็นอริยสัจ อันต่อยอดจากหลักธรรมของพราหมณ์หรือฮินดู ดังเรื่องที่ให้พระสังข์สถิตในหอยสังข์นั้น

หอยสังข์คือสัญลักษณ์ของพราหมณ์ ดังเจ้าชายสิทธัตถะเริ่มร่ำเรียนสรรพศาสตร์ของพราหมณ์ในช่วงก่อนจะตรัสรู้นั้น

การบรรลุธรรมคือตรัสรู้พระอริยสัจในคืนใต้ต้นโพธิ์ ณ วาระนั้น เปรียบได้กับการที่เด็กน้อยพระสังข์ออกมาจากเปลือกหอย ดังเรื่องออกมาช่วยตายายทำงานบ้าน ตามพุทธประวัติว่าทรงดำริอยู่หลายราตรีว่าจะนำธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้นี้มาสอนแก่เวไนยสัตว์หรือจะทรงเสวยวิมุติสุขอยู่เฉพาะพระองค์เพียงลำพัง

วาระที่พระองค์ตัดสินใจออก “โปรดสัตว์” คือนำพระอริยสัจธรรมมาแสดงแก่โลก นี่แหละคือวาระของการทุบเปลือกหอยสังข์แตกสู่สภาวะพุทธภูมิอันดำรงอยู่อย่างแท้จริง

 

นี้เป็นประเด็นสำคัญ ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วเรื่องของพระสังข์ที่ดำเนินต่อไปตามเรื่องก็ล้วนเป็นอุปมาอุปไมยทั้งสิ้น คือเป็นสัญลักษณ์ของการอธิบายสภาวธรรมตามขั้นตอนอันชวนให้สนุกกับการตีความ

เช่น นางยักษ์พันธุรัตน์คืออะไร เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องโลกธรรมใช่หรือไม่ การชุบตัวเป็นทองคืออะไร และทำไมจึงสวมรูปเงาะ ซึ่งเฉกเช่นเดียวกับสภาพของ “ภิกษุ” ผู้ขอ ใช่หรือไม่

มนต์เรียกเนื้อเรียกปลาคืออะไร การแลกกับการเฉือนใบหูและจมูกของหกเขยเป็นการเตือนสติไม่ให้ยึดติดกับผัสสะชนิดที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ใช่หรือไม่

จนถึงรจนา คือสัญลักษณ์ของเวไนยสัตว์ที่มีดวงตาเห็นธรรม อันเป็นดั่งรูปทองซ่อนอยู่แม้ในสภาพของชนชั้นล่างที่ปุถุชนคือผู้หนาด้วยกิเลสหยามหมิ่นนั้น ใช่หรือหาไม่

เหล่านี้ล้วนเป็นคุณค่าที่รอการถอดความในลักษณะ “แต่งใหม่” เพื่อนำเก่ารับใช้ใหม่ ด้วยการ

เลือกที่จริง ทิ้งที่เท็จ