ศัลยา ประชาชาติ : “บิ๊กตู่” ลุยเองกู้เศรษฐกิจ ระดมมืออาชีพ ประจำการ “ศบศ.” “ไพรินทร์” แกนนำดรีมทีมไทยคู่ฟ้า

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/2 ที่เพิ่งเข้าทำงานอย่างเป็นทางการนั้น ดูเหมือนจะไม่มี “ฮันนีมูนพีเรียด” หรือช่วงเวลาที่จะตั้งหลักตั้งลำกันเลยก็ว่าได้

เนื่องเพราะทันทีที่ทีมเศรษฐกิจใหม่ถอดด้ามเริ่มสตาร์ต ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสสอง ปี 2563 ก็โชว์ให้เห็นทันควันว่า ติดลบ -12.2%

แกนนำพรรครัฐบาลพลังประชารัฐ ประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาอีก 6-9 เดือนเป็นอย่างน้อยที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะสามารถกู้วิกฤต-ฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้

ท่ามกลางตัวแปรสำคัญนั่นคือ ฝ่ามรสุมทางการเมือง-แฟลชม็อบ

 

นี่คือปัจจัยสำคัญต่อการดำรงอยู่ของรัฐนาวา และเดิมพันสูงในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ “พล.อ.ประยุทธ์” จึงต้องลงมือ-ลงแรง ลุยแก้ปัญหาที่ดำดิ่งด้วยตัวเอง โดยนั่งบัญชาการ-กุมบังเหียนคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19

ภายใต้ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” หรือ “ศบศ.”

โดยมีอำนาจ-หน้าที่จัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.ระยะเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และ 2.ระยะปานกลาง-ระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตภายหลังจากโควิด-19 สิ้นสุดลง

มี 6 รองนายกรัฐมนตรีจากทุกพรรคการเมือง-โควต้าพิเศษ และ 10 รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล ผนึกเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตัวแทนจากภาคเอกชน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมปั๊มชีพจรเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีนักบริหาร “มืออาชีพ” จากบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ-ระดับโลก นายกานต์ คฤหเดช กรรมการผู้จัดการและสมาชิกคณะกรรมบริหาร LGT Bank ภูมิภาคเอเชีย บริษัทบริหารความมั่นคั่งให้กับบริษัทชั้นนำ

ซึ่งเป็น “มือปิดดีล” ควบรวมบริษัทไทยเบฟเวอเรจ กับ F&N จนได้รับการตั้ง “ฉายา” จากแกนนำพรรครัฐบาลยกให้เป็น “The Hope”

พร้อมกันนี้ยังได้ดึงตัวนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เข้าร่วมทีม

และมีแกนนำอย่างนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กุนซือเศรษฐกิจ ประจำตึกไทยคู่ฟ้า มือเศรษฐกิจ “คู่บุญ” พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ก่อนครบวาระ คสช. ได้รับการแต่งตั้งเป็น 1 ในคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีชื่อ “ติดทุกโผ” ใน “ทีมเฉพาะกิจ” ทั้งคณะจัดทำแผน-ทีมผ่าตัดบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ทว่าติดบ่วงข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายบางประการจึงให้นายไพรินทร์ต้องทำหน้าที่ “ปิดทองหลังพระ” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป

 

ครั้งนี้ นายไพรินทร์ “นั่งหัวโต๊ะ” คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” จึงเป็นมือ-เป็นไม้ พล.อ.ประยุทธ์ในการชุบชีวิตเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับคนหาเช้ากินค่ำ ถึงเจ้าสัวหมื่นล้าน

โดยมี 9 ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ ผู้ว่าการ ธปท. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ

มีอำนาจ-หน้าที่ขับเคลื่อนและเร่งรัดให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับนโยบาย แนวทาง และมาตรการรัฐบาลไปปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลบรรลุผลสำเร็จ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล

กลั่นกรองและเสนอแนะต่อคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจถึงแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้กรอบการบริหารเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ติดตามและประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามกรอบการบริหารเศรษฐกิจ และรายงานเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ

ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์การต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ เพื่อให้ส่งเอกสาร ข้อมูล ให้ความเห็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ

นายไพรินทร์จึงมีอำนาจเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี สามารถสั่งการ 9 ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานราชการที่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน พล.อ.ประยุทธ์

 

นอกจากนี้ ยังมี “คณะอนุกรรมการ” ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อยและขนาดย่อม จัดทำรายละเอียดข้อเสนอแนะและแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน เร่งรัดการลงทุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นประธาน

2. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อจัดทำรายละเอียดข้อเสนอแนะและแนวทางการดำเนินมาตรการในระยะยาว เพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต มีนายไพรินทร์เป็นประธาน

3. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา เพื่อสนับสนุนด้านข้อมูลและรายละเอียดข้อเสนอแนะมาตรการเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ มีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นประธาน

ไม่แต่เพียงเฉพาะ “ทีมเศรษฐกิจ” ที่ประจำการอยู่ใน “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” เท่านั้น

ยังมี “สองขุนพลเศรษฐกิจ” ที่เปรียบเป็นมือซ้าย-มือขวา อย่าง “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ปรีดี ดาวฉาย” ขุนคลัง-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“สุพัฒนพงษ์” เปิดใจครั้งแรกว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลักจึงทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ภายใต้ยุทธวิธีแก้ปัญหาเร่งด่วนโดยให้ประเทศมีเสถียรภาพในการเติบโตต่อไป ภายใต้นโยบายรวมไทยสร้างชาติ

“ต้องลด บรรเทาและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ภายใต้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท เราอยู่ในสถานการณ์ใหม่และมีความไม่แน่นอนสูง วิกฤตนี้อาจจะสิ้นสุด 12 เดือน 15 เดือน หรือสิ้นปี 2564 ถึงจะมีทางออกจากการผลิตวัคซีน ต้องประคับประคองไป ทำไป เผื่อไป โดยการบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วนภายใต้นโยบายไทยสร้างชาติ”

 

สุดท้ายคนข้างหลังการเซ็ตฉาก-เซ็ตทีมการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ “สารพัดประโยชน์” คือ “ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่อยู่ใน “ชุดเฉพาะกิจ” แก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ทุกชุด-ทุกคณะ

ยังมีคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีทุกคนเป็นกรรมการ กำกับ-ติดตาม-เร่งรัด ช่วยเหลือและเยียวยาระดับพื้นที่ โดยมี 29 รัฐมนตรีรับผิดชอบในทุกจังหวัด ผ่านการอัดฉีดงบประมาณจากปี 2564 กว่า 3 ล้านล้าน

กลายเป็นโครงสร้างล่าสุด 1 ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ กับอีก 3 คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับนโยบาย-ระดับปฏิบัติ และระดับพื้นที่จังหวัด

เป็น “ลมใต้ปีก” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/2 ท่ามกลางมหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีอนาคตของประเทศเป็นเดิมพัน