คนมองหนัง | ความท้าทายของวงการหนังไทย ใน/หลังยุค “เยาวชนปลดแอก”

คนมองหนัง

“เบื่อหน่ายกับประเทศนี้ที่เราไม่สามารถทำหนังที่เราอยากพูดได้ตรงๆ โดยที่ไม่ต้องหลีกหนีไปใช้ภาษาภาพยนตร์หรือในเชิงสัญลักษณ์หรือว่าอุปมาอุปไมย คืออยากทำอะไรที่มันตรงๆ แล้ว โดยเฉพาะช่วงที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยในหลายปีที่ผ่านมา”

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ให้สัมภาษณ์กับหอภาพยนตร์ฯ

28 พฤษภาคม 2563

“อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” กล่าวคำพูดข้างต้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ เวลานั้น เขาคงได้ตระหนักถึงการก่อตัวของม็อบคนรุ่นใหม่ในช่วงต้นปี 2563 แต่ยังไม่ได้สัมผัสถึงการขยายขนาดมวลชนเป็นกลุ่มเยาวชนปลดแอกและคณะประชาชนปลดแอกตลอดช่วงราวๆ หนึ่งเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาที่จะพูดอะไรตรงๆ โดยหลีกหนีกระบวนท่าชั้นเชิงทางสัญลักษณ์และการอุปมาอุปไมยของอภิชาติพงศ์ กลับกลายเป็นบทสนทนาซึ่งสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเยาวชน/ประชาชนปลดแอก และม็อบนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 ได้เป็นอย่างดี

นับจากเหตุรัฐประหาร 2549 เหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. มาจนถึงการรัฐประหาร 2557 ดูเหมือนวงการภาพยนตร์ไทย ทั้งในระดับอุตสาหกรรม ตลอดจนแวดวงหนังอิสระ-หนังสั้น จะออกเดินล้ำหน้ากลุ่มผู้บริโภคหลักของตนเอง คือ คนหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ ไปพอสมควร

เพราะในขณะที่มีหนังไทยจำนวนหนึ่งพยายามพูดถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ผ่านนิทานเปรียบเทียบ-ระบบสัญลักษณ์อันซับซ้อน แนบเนียน และนุ่มนวล ซึ่งช่วยรับประกันความปลอดภัยให้แก่คนทำงาน

คนหนุ่มสาวในเมืองจำนวนมากกลับยังไม่ได้มีท่าทีกระตือรือร้นทางการเมือง ทั้งยังมีไม่น้อยซึ่งแสดงท่าทีต่อต้านประชาธิปไตยตามรอยคนรุ่นพ่อ-แม่

สถานการณ์ใน พ.ศ.2563 บ่งชี้ว่าอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อ และปฏิบัติการของคนรุ่นใหม่ (เกือบยกรุ่น) ในยุคปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ จนสามารถกล่าวได้ว่าคนเหล่านี้นั้นก้าวเท้าแซงหน้า “วัฒนธรรม/อุตสาหกรรมบันเทิงร่วมสมัย” อันมี “ภาพยนตร์ไทย” เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ไปเรียบร้อยแล้ว

มาตรวัดสำคัญข้อหนึ่งก็คือ ขณะที่เนื้อหาในทางสังคมการเมืองของหนังไทยยังคงติดหล่มหรือกับดักของความคลุมเครือ ปฏิบัติการบางอย่างที่คนดูหนังได้ร่วมกันก่อขึ้นโดยมิได้นัดหมายในโรงภาพยนตร์ตลอดช่วงเวลาราวหนึ่งปีที่ผ่านมา กลับเชื่อมโยงไปถึงภาวะพลิกผันนอกโรงภาพยนตร์ได้สนิทแนบแน่นกว่า

แน่นอน สภาวการณ์เช่นนี้ได้ทิ้งความท้าทายบางประการไว้ให้คนทำหนังไทย ณ เบื้องหลัง ร่วมกันขบคิด

ประการแรก กระบวนท่าเชิงสัญลักษณ์ที่ดำรงอยู่ในแวดวงหนังไทยตลอดทศวรรษ 2550 เคียงคู่กับการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์บนท้องถนน ที่ริเริ่มโดยนักกิจกรรม-คนเสื้อแดงบางส่วน เช่น สมบัติ บุญงามอนงค์ (บ.ก.ลายจุด) อาจกำลังดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ

ด้านหนึ่ง เมื่อการต่อสู้บนท้องถนนในยุคต้นทศวรรษ 2560 มีลักษณะของการพูดถึงความต้องการและปัญหาต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์มากขึ้น นี่ก็อาจเปิดเส้นทางใหม่ๆ ให้แก่คนทำหนังไทยที่อยากสื่อสารประเด็นทางการเมือง

เป็นเส้นทางใหม่ซึ่งสอดคล้องกับความปรารถนาของผู้กำกับฯ รางวัลปาล์มทองคำเช่นอภิชาติพงศ์

AMSTERDAM, 15 december 2016 – On 15 December 2016, HRH Prince Constantijn of the Netherlands presented the 2016 Principal Prince Claus Award to Thai filmmaker and artist Apichatpong Weerasethakul on 15 December. Five additional Prince Claus Awards were presented to: Kamal Mouzawak (Lebanon), PeaceNiche | The Second Floor (T2F) (Pakistan), Bahia Shehab (Egypt/Lebanon), La Silla Vacía (Colombia) and Vo Trong Nghia (Vietnam). The Prince Claus Awards Ceremony was held in the presence of members of the Dutch Royal Family at the Royal Palace Amsterdam. The programme included performances by Kinan Azmeh and Kevork Mourad. PHOTO: Frank van Beek

อีกด้านหนึ่ง ต่อให้วงการหนังไทยใน/หลังยุค “เยาวชนปลดแอก” จะยังก้าวข้ามเซฟโซนของระบบสัญลักษณ์-อุปมาอุปไมยไปไม่พ้น

ทว่ากระบวนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่ายมากขึ้น เข้าถึงมวลชนวงกว้างทั่วประเทศได้มากขึ้น อาทิ การผูกโบขาวต้านเผด็จการ และการชูสามนิ้วระหว่างเข้าแถวเคารพธงชาติของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ณ พ.ศ.นี้ อาจเป็นกลไกที่ช่วยบีบให้นิทานเปรียบเทียบทางการเมืองในภาพยนตร์ไทย ต้องมีความ “นิช” และมีลักษณะอินดี้เฉพาะกลุ่มลดน้อยลง

ประการที่สอง อาจถึงคราวที่ “ตัวละครวัยรุ่น” ในหนังไทยร่วมสมัย จะต้องมีลักษณะเป็น “บุคลาธิษฐาน” (“วัยรุ่น” คือสิ่งไม่มีชีวิตที่ถูกสร้างให้มีชีวิตชีวาโดยผู้กำกับฯ-ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งพยายามคาดคิดจินตนาการว่า “วัยรุ่นจริงๆ” ควรจะเป็นเช่นไร) น้อยลง และเป็น “วัยรุ่นจริง” แบบคนรุ่นใหม่บนท้องถนนมากยิ่งขึ้น

ตัวละคร “วัยรุ่น” ซึ่งรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตของตนเอง แล้วลงเอยด้วยอาการกลับไม่ได้ไปไม่ถึงหรือเคว้งคว้างล่องลอยอยู่ในสังคมอันไร้หลักยึดเหนี่ยว ตัวละคร “วัยรุ่น” ซึ่งเสียงของตนเองถูกกดทับทั้งโดยระบอบเผด็จการและประชาธิปไตยจำแลง อาจมิได้เป็นภาพแทนของ “วัยรุ่นไทยจริงๆ” ที่น่าพึงพอใจที่สุดอีกต่อไป

ในภาวะที่ “วัยรุ่นไทย” ณ โลกความจริง พร้อมจะเปิดหน้าต่อสู้กับครู-ผู้ใหญ่-อำนาจรัฐ-ค่านิยมความเชื่อดั้งเดิม ที่กดทับพวกเขามาเนิ่นนาน

ในภาวะที่ “วัยรุ่นไทย” มีความรู้ ผ่านแหล่งข้อมูลอันหลากหลายมหาศาล มิใช่คนรุ่นหลังที่งุนงงหลงทางอยู่ท่ามกลางความสับสนอลหม่าน

ในภาวะที่ความต้องการ-ความปรารถนาดี-ความใฝ่ฝันของ “วัยรุ่นไทย” ถูกประกาศออกมาอย่างชัดเจน เปิดเผย ไม่คลุมเครือ ไม่ต้องตีความให้มากมาย

คนทำภาพยนตร์ไทยจำเป็นต้องสืบค้นว่า “วัยรุ่นไทยจริงๆ” ในยุคปัจจุบัน นั้นกำลังดูอะไร ฟังอะไร อ่านอะไร พิมพ์อะไร และอยากพูดอะไร

และปฏิบัติการทางสังคมเหล่านั้นได้ก้าวล้ำพฤติการณ์สมมุติของ “ตัวละครวัยรุ่น” ในหนังไทยไปมากมายแค่ไหน

(เช่นเดียวกับการต้องศึกษาว่าการใช้ “ทวิตเตอร์” เป็นเครื่องมือระดมพลและเผยแพร่ความคิดทางการเมืองในโลกความจริงนั้น ก้าวหน้าและมีพลังบวกมากกว่าภาพแทนหม่นๆ ของ “โซเชียลมีเดีย” ในภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่เพียงใด)

ประการสุดท้าย (ซึ่งไม่ใช่ท้ายสุด) มีความเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนรุ่นที่น่าสนใจของดารา-นักแสดง

การแสดงจุดยืนทางการเมืองของดารา-นักแสดงนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เหนือความคาดหมาย แต่หากย้อนไปเมื่อทศวรรษก่อน หลายคนคงไม่เชื่อว่าจะมีบุคลากรหลักๆ ในวงการบันเทิงจำนวนมาก ที่กล้าประกาศจุดยืนอยู่เคียงข้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยและท้าทายอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม

สวนทางกับสภาวะปัจจุบัน ที่ดารา-นักแสดงรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย กล้า/สามารถจะแสดงจุดยืนดังกล่าวได้โดยเปิดเผย ขณะที่ดารา-นักแสดงรุ่นอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ซึ่งเคยแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างหนักแน่น นั้นกำลังโรยราอิทธิพลชื่อเสียงและไม่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภครุ่นใหม่ๆ มากขึ้นทุกที

นั่นอาจหมายความว่าภาพยนตร์ไทยที่ตั้งใจพูดเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น และสามารถสะท้อนภาพของ “วัยรุ่นไทย” ได้อย่างสมจริงมากขึ้น จะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรนักแสดง

นี่คือความท้าทายบางส่วนที่คนรุ่นใหม่ซึ่งกระตือรือร้นทางการเมืองร่วมเพาะปลูกขึ้น และย่อมผลิดอกออกผลเป็น “ภาพยนตร์ไทยยุคใหม่” ในไม่ช้า