การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / Asian Comics (จบ)

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Asian Comics (จบ)

 

หนังสือเล่มนี้ของ John A Lent ถูกอ้างอิงโดยนักศึกษาปริญญาโทบ้านเราในการเขียนวิทยานิพนธ์หลายครั้ง

เรามาอ่านตอนสุดท้ายของหมวดการ์ตูนไทยกัน

สำนักพิมพ์ Skybook ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1992 เพื่อผลิตแบบเรียนได้ทำหนังสือการ์ตูนความรู้เรื่องรามเกียรติ์ฉบับการ์ตูน (Ramakian) เมื่อปี 2004 ตามด้วย ขุนอินระนาดเทวดา (Khun-in God of Xylophone) และ ตามรอยพระเจ้าห้าร้อยชาติ (Tracing the 500 Reincarnated Lives of Buddha)

ผมได้อ่านรามเกียรติ์ฉบับการ์ตูนนี้ครั้งที่วางแผงใหม่ๆ สารภาพว่าเมื่อแรกเห็นก็ตกใจ เพราะตนเองอ่านรามเกียรติ์จริงๆ ตั้งแต่ชั้นประถม เริ่มด้วยฉบับบทละครของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ก่อนที่จะตามไปอ่านฉบับสมบูรณ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งเปลี่ยนตนเองไปเป็นอีกคนหนึ่งเลย

พอเห็นการ์ตูนที่ตั้งใจดีทำให้เรื่องง่ายต่อการอ่านก็เป็นห่วงประสาคนแก่ทั้งที่ตอนปี 2004 ยังไม่แก่เท่าไร

สำนักพิมพ์ SE-ED เริ่มต้นด้วยการพิมพ์แบบเรียนเช่นกัน ก่อนที่จะออกการ์ตูนความรู้ 9 เล่มชุดวิทยาศาสตร์อ่านสนุก (Fun-to-Read Science)

อมรินทร์พริ้นติ้งสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดทำการ์ตูนความรู้ญี่ปุ่นในปี 1993 หลังจากนั้นจึงแยกแผนกอมรินทร์คอมมิกส์ออกมา

นานมีบุ๊คส์เริ่มการ์ตูนความรู้ในปี 1993 ตามด้วยโดเรมอนฉบับลิขสิทธิ์ หลังจากนั้นจึงเป็นชุดการ์ตูนความรู้ปี 2006 ที่ทำให้นานมีเป็นผู้ผลิตการ์ตูนความรู้ที่ใหญ่ที่สุด (Thailand’s largest educational comics firm.) คือ Escape from an Inhabitable Island และ Escape from the Amazon Jungle ลิขสิทธิ์จากเกาหลี

ผมได้อ่านการ์ตูนชุดความรู้ของญี่ปุ่น และยื่นให้ลูกๆ เด็กๆ ชอบมาก ไม่ทราบวันนี้ยังพิมพ์ขายอยู่หรือเปล่า

 

บันลือสาส์น วิบูลย์กิจ สยามอินเตอร์คอมิกส์ แมนเนเจอร์กรุ๊ป มติชนกรุ๊ป เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป เป็นผู้เล่นสำคัญของวงการการ์ตูนและสิ่งพิมพ์

วิบูลย์กิจออกการ์ตูนไทยรายเดือนเพื่อนำเสนอการ์ตูนไทย 10 เรื่อง พร้อมๆ กับการ์ตูนญี่ปุ่นรายเดือนคือ Neoz และ Viva Friday

ส่วนสยามอินเตอร์คอมิกส์มี C-Kids ผู้ผลิตเกือบทุกรายจะแทรกผลงานนักเขียนการ์ตูนไทยเอาไว้ด้วยเสมอ

บุรพัฒน์ในเครือแมนเนเจอร์กรุ๊ปทำการ์ตูนฮ่องกงและไต้หวัน แอ็คชั่นเฟรมคิดส์ของบุรพัฒน์ทำการ์ตูนไทย หนุมานชาญสมร (Hanuman Chansamorn) ตามด้วย ไกรทอง (Kraithong, Crocodile Hunter) นอกจากนี้ ยังมีการ์ตูนตลกสัปดน Daily Dirty Jokes หนา 128 หน้า (Yodpongsakul2006) เรื่องหลังนี้ผมไม่เคยเห็นเลยครับ

มติชนกรุ๊ปยังรักษากลุ่มเบญจรงค์ไว้ซึ่งเหลือสมาชิกเพียง 2 คน แต่ได้สร้างทีมเขียนการ์ตูน 20 คนขึ้นมาใหม่เพื่อผลิตการ์ตูน Living with The Great Grandpa (Pon2006)

ส่วนเนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ปทำ Boom Comics ปี 2005 ปราบดา หยุ่น บุตรชายของกรรมการผู้จัดการ สุทธิชัย หยุ่น โดย Typhoon Books ทำหนังสือการ์ตูนแนวสำหรับชนชั้นกลางและชั้นสูง (middle- and upper class readers) ด้วยผลงาน hesheit ซึ่งงานเขียนของวิสุทธิ์ พรนิมิต (Wisut Ponnimit) วิสุทธิ์เขียนการ์ตูน 9 ตอนเล่าเรื่องราวผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมโตเกียวและกรุงเทพฯ เข้าด้วยกันก่อนที่จะเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2004 (Nakamura2006)

บิล แรนดอล เขียนถึงงานของวิสุทธิ์ว่าน่ารัก แต่แฝงความประหลาด มหัศจรรย์ และเสียดสี (Randall2006)

งานเขียน hesheit เป็นงานเขียนที่หยาบมาก ไร้กฎเกณฑ์ และไม่ค่อยจะมีบทพูด ไต้ฝุ่นบุ๊คส์ทำนิตยสารรายสามเดือน Mud ในเวลาต่อมา

คุณวิสุทธิ์เคยส่งหนังสือทำมือ hesheit มาให้ผม เป็นรูปแบบสองเล่มจบ ผมยังเก็บเอาไว้อยู่ ตอนที่เปิดอ่านครั้งแรกสารภาพว่าโดน แต่ก็เป็นงง มันสกปรกมาก ฮาฮา เห็นผลงานของเขาคงเส้นคงวาและขายดีในเวลาต่อมาก็ยอมรับว่าฝีมือดีจริงคืออ่านแล้วโดนแทบทุกเรื่อง เมื่อได้ยินว่าเขาไปญี่ปุ่นก็ดีใจตาม

ไต้ฝุ่นบุ๊คส์มิใช่เจ้าเดียวที่เปิดทางให้การ์ตูนแนว หนังสือการ์ตูน A Day Story Comics โดย A Book วางตลาดหนังสือการ์ตูนขาว-ดำความหนา 400 หน้าของนักเขียนการ์ตูน 4 คน

 

เช่นเดียวกับส่วนอื่นของโลก ตลาดการ์ตูนไทยมีนิยายภาพ (Graphic novels) เป็นเรื่องขนาดยาวเล่าเรื่องเรื่องเดียว ซึ่งรวมถึงการ์ตูนเล่มละบาท (one-baht cartoons) ที่ขายให้แก่ผู้มีรายได้น้อย (low-income readers) ตามร้านค้ากลางคืน สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่ง

ส่วนใหญ่จะมี 5 เรื่อง (?) เรื่องละ 16 หน้า เนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กซ์ ความรุนแรง หรือเรื่องผีๆ โดยสำนักพิมพ์การ์ตูนไทย สามดาว ศรี-อุดมกิจ-เสริมมิตร ปันดีสาส์น และสากล

การ์ตูนไทยพัฒนามากขึ้นและเป็นที่รู้จักยอมรับมากขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ด้วยการลงทุนของสำนักพิมพ์ใหม่ๆ

เมื่อถึงปี 1999-2004 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (HM King Bhumibol Adulayadej, Rama IX) โดยนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ชัย ราชวัตร เขียนการ์ตูนสองเรื่อง พระมหาชนก และเรื่องทองแดง (Phra Mahajanaka & Rueang Tongdaeng)

ชัยซึ่งประสบความสำเร็จจากงานเขียนการ์ตูนล้อการเมืองและการ์ตูนสั้นบอกว่านี่เป็นผลงานที่ตนเองภาคภูมิใจมากที่สุด (Chai2006)

ความเชื่อมั่นของกษัตริย์ในนักเขียนการ์ตูนมิได้หายไปไหน เป็นกษัตริย์เมื่อเกือบหนึ่งศตวรรษที่แล้วที่ได้ช่วยเหลือเผยแพร่การ์ตูนไทย (จอห์นเริ่มต้นบทที่ว่าด้วยการ์ตูนไทยด้วยเรื่องการเขียนการ์ตูนล้อผลงานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6)

 

เวลาอ่านประวัติการ์ตูนไทย ทั้งที่เป็นคนไทยเขียนหรือที่เป็นนักวิชาการต่างประเทศเขียน ที่อยากรู้มากกว่าใครทำอะไรเมื่อปี พ.ศ.เท่าไรคือ เพราะอะไรผู้เขียนประวัติการ์ตูนไทยถึงคัดเหตุการณ์ ผลงาน หรือนักเขียนการ์ตูนไทยคนนั้นมาเล่า

เดาว่าก็คงเพราะเป็นหลักไมล์สำคัญ ซึ่งก็ไม่เข้าใจมากนักว่าเป็นหลักไมล์ของอะไร

ดังนั้น เมื่ออ่านของหลายๆ คนเข้าก็รู้สึกได้ว่ายังไม่มีใครเขียนได้สมบูรณ์ที่สุดไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูลคือใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไร และผลกระทบที่มีต่อสังคม

การ์ตูนไทยพัฒนามามากแต่ไม่มากพอ มีผู้คนจำนวนมากพยายามรักษาและส่งเสริมแต่ไม่มากพออยู่ดี ความหลากหลายมีน้อยทั้งที่เรามีเรื่องราวให้เขียนถึงมากมาย สภาพทั่วไปเหมือนภาพยนตร์ นวนิยาย หรือเรื่องสั้น เรามีคนเก่งๆทุกวงการ

แต่เหมือนเปล่งศักยภาพไปไม่ถึงขีดสุดเสียที