ลั่นกลอง! แก้รัฐธรรมนูญ สำรวจปฏิกิริยาตอบสนอง รัฐบาลกั๊ก-ส.ว.เสียงแตก ฝ่ายค้าน-ปลดแอก-ครช.ลุย

รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นประเด็นร้อนแรงที่มีการเรียกร้องให้เร่งแก้ไข เพื่อผ่าทางตัน ลดขัดแย้งทางการเมือง

เป็นเช่นนั้นก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกมองว่า “ออกแบบ” มาเพื่อเอื้อประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจ คสช.

ดังที่สะท้อนผ่านพรรคพลังประชารัฐก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา

แม้ตลอดระยะเวลา 1 ปีของรัฐบาลพลังประชารัฐภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย แต่ก็ไม่ปรากฏทีท่าจากรัฐบาลในการริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง

จวบกระทั่งกลุ่มสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และกลุ่มเยาวชนปลดแอกออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องส่งผ่านไปยังรัฐบาล

หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา

ได้รับเสียงตอบรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง จากจุดเริ่มบริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขยายลามไปยังมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาหลายจังหวัดทั่วประเทศ เป็นแรงขับเคลื่อนด้วยพลังบริสุทธิ์

ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

ทั้งยังเป็นตัวเร่งการทำงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีมติหลังการประชุมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม

เห็นพ้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ปลดล็อกเปิดทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น

ถือเป็นก้าวแรกสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้แบบเต็ม-เต็ม รัฐบาลจึงตกเป็นเป้าจับตา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความเห็น จุดยืนต่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ว่า

จุดยืนของตนคือสนับสนุนการทำงาน วันนี้ให้เป็นเรื่องการพิจารณาในระดับกรรมาธิการ คาดว่าจะเสนอญัตติของฝ่ายค้านเข้ามา ฝ่ายรัฐบาลพร้อมร่วมมือในกลไกต่างๆ เหล่านี้ในสภาเพราะเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ

หากเสนอร่างเข้ามาจะมีร่างของรัฐบาลเสนอควบคู่ไปด้วย

“เราเตรียมเสนอร่างของรัฐบาลในเรื่องนี้อยู่แล้ว รัฐสภาพร้อมพิจารณาร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างๆ โดยรัฐบาลยืนยันให้ความร่วมมือทุกประการ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวพร้อมปฏิเสธว่า สิ่งที่พูดไม่ได้หวังลดกระแสการชุมนุมและข้อเรียกร้องของกลุ่มนิสิต-นักศึกษา

ทั้งย้ำว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ควรแก้ไข ไม่ได้ขัดแย้ง แต่ต้องฟังความเห็นกรรมาธิการ และต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลมาหารือร่วมกัน

พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร?

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ตอนเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ พรรคประชาธิปัตย์กำหนดไว้อย่างน้อยที่สุดต้องแก้ไขมาตรา 256

“แต่สุดท้ายเรื่องทั้งหมดต้องหารือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก่อนว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยังคงสงวนท่าทีต่อเรื่องนี้

“ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทยฟังประชาชนอยู่แล้ว แต่ด้วยความเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องดูความเห็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่ามีความเห็นอย่างไร”

เป็นท่าทีไม่ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์และพรรคประชาธิปัตย์ นั่นก็คือ ต้องหารือกันก่อน

ที่กระตือรือร้น แน่นอนว่าย่อมเป็นพรรคฝ่ายค้าน

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน เผยว่า วันที่ 17 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยจะยื่นญัตติเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256

โดยเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ช้า หลังญัตติผ่านจะใช้เวลาแก้ไขมาตรา 256 ประมาณ 5 เดือน

จากนั้นจะเป็นการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาเพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจหยิบยกฉบับเก่ามาทำประชามติ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า พรรคก้าวไกลมีมติที่เป็นข้อเสนอแก้ไขวิกฤตการเมือง 5 ข้อ

1.ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2.ทบทวนคดีความทางการเมือง 3.เลิกคุกคามนักศึกษาและประชาชน 4.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และ 5.แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นมาดำเนินการ

ก้าวไกลยังเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 มาตรา ได้แก่ มาตรา 269, 270, 271, 272 บทเฉพาะกาลเกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และมาตรา 279 ที่ให้การรับรองประกาศคำสั่ง คสช.ก่อนหน้านี้ ให้เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเสมอ

เป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ

อีกหนึ่งปฏิกิริยาน่าสนใจมาจากฝั่ง ส.ว.

นายวันชัย สอนศิริ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องรัฐธรรมนูญทุกฝ่ายมีเป้าหมายตรงกันว่าต้องแก้ ก็รีบเดินหน้า เพื่อลดความขัดแย้งไปเปลาะหนึ่ง

โดยขอให้รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ต้องการแก้ตรงไหนว่ากันมา เอากันให้ชัดๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม

ส่วนตัวเรื่องโหวตนายกรัฐมนตรี ในสถานการณ์ตอนนั้นคิดว่าน่าจะใช่ เพื่อเอารัฐสภามาร่วมด้วยช่วยกันในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่วันนี้และความเป็นจริงเห็นแล้ว เรามีเป้าหมายตรงกัน เพื่อความเป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

ถ้าจะแก้ส่วนนี้ เห็นด้วยและไม่ขัดข้อง

เช่นเดียวกับ 6 ผบ.เหล่าทัพที่เป็น ส.ว.โดยตําแหน่ง คนเหล่านี้มีตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบมากมาย จึงอยากให้ทั้ง 6 คนกลับไปทำหน้าที่อย่างเต็มที่ จะได้ไม่ถูกข้อครหา

อีกเรื่องคือองค์กรอิสระ ทั้งคุณสมบัติและกระบวนการสรรหา น่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

ถ้าทำได้ถือว่าดับไฟแห่งความขัดแย้งไปได้กองหนึ่ง

ต่อมานายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. แสดงความเห็นสวนทางนายวันชัยว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญประเด็น ส.ว. เป็นความเห็นส่วนตัวของนายวันชัย ที่วิเคราะห์จากสถานการณ์การเมือง

เป็นเสียงส่วนน้อย เสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ยังนิ่ง รอดูสถานการณ์อยู่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นเกี่ยวกับ ส.ว.นั้น ต้องดูว่า ส.ว.มาโดยรัฐธรรมนูญ มีภารกิจปฏิรูปประเทศ ติดตามยุทธศาสตร์ชาติ เลือกนายกรัฐมนตรีที่กำหนดเป้าหมายไว้แต่แรก

การเปลี่ยนแปลงต้องรอบคอบ ดูกระแสอย่างเดียวไม่ได้ ต้องว่าด้วยเหตุผล

อีกด้านความเคลื่อนไหวมาจากคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านวิปฝ่ายค้าน ให้บรรจุในวาระพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรออกเป็นกฎหมาย

ภายใต้จุดยืน “ไม่แก้ไข เขียนใหม่เท่านั้น”

นายอนุสรณ์แถลงการณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและชนชั้นนำของประเทศ บนการลิดรอนสิทธิเสรีภาพบนความผาสุกของประชาชน ร่างมาเพื่อผลประโยชน์ของบางกลุ่ม

และสร้างเงื่อนไขแน่นหนาไม่ให้แก้ไขตามมาตรา 256

ขณะเดียวกันเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากคนรุ่นใหม่อย่างกว้างขวาง เพราะตระหนักว่าความเลวร้ายที่พวกเขาเจออยู่ตอนนี้และในอนาคตมาจากรัฐธรรมนูญ และต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

แม้จะมีการตอบสนองการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคการเมืองทั้ง ส.ส.และ ส.ว. แต่ก็แก้ไขเฉพาะมาตราและเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม จึงจำเป็นต้องมีการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ซึ่งได้รับการสนองตอบจากพรรคฝ่ายค้านทันที

“บันไดนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญคือร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ขอบคุณ ครช.ที่ร่างมาให้ ฝ่ายค้านจะรับและนำไปตรวจสอบสาระและข้อกฎหมาย ก่อนให้สมาชิก ส.ส.ลงชื่อและเสนอญัตติภายในสัปดาห์นี้ ฝ่ายค้านยืนยันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 2 เรื่องหลักที่จะแก้มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกับ ครช.แน่นอน”

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว

ปฏิกิริยาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายการเมืองไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ตลอดจน ส.ว. จะมีความจริงจังจริงใจแค่ไหน เป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตาตรวจสอบทุกฝีก้าว

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของ ครช. กลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งยกระดับขึ้นเป็นคณะประชาชนปลดแอก ชุมนุมกดดันรัฐบาล 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องรอติดตามบทสรุปว่าเป้าหมายที่วางไว้

จะบรรลุผลหรือไม่ อย่างไร