ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ / THE HATER ‘ปั่นกระแส’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

THE HATER

‘ปั่นกระแส’

 

กำกับการแสดง Jan Komasa

นำแสดง Maciej Musialowski Vanessa Aleksander Jacek Komen Agata Kulesza

Maciej Stuhr

 

หนังจากโปแลนด์เรื่องนี้ออกฉายเมื่อต้นปี ไม่ทันไรก็เกิดวิกฤตโควิดขึ้นจนปิดบ้านปิดเมืองปิดโรงหนัง จึงต้องนำออกฉายเป็นดีวีดี และเพิ่งเข้าฉายทางเน็ตฟลิกซ์ขณะนี้

หนังได้รับรางวัลไทรเบ็กกาและได้รับความชื่นชมอย่างแพร่หลาย ในด้านการวิพากษ์สังคมออนไลน์ได้อย่างน่าตกใจ

รวมทั้งวิพากษ์ชนชั้นในลักษณะที่เจ็บแสบไม่ผิดกับ Parasite ของเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว

 

ด้วยความรวดเร็วและจุดประกายให้ลุกลามไปง่ายดั่งไฟป่าของการสื่อสารทุกวันนี้ สังคมออนไลน์แปรโฉมการโฆษณา ประชาสัมพันธ์และการหาเสียงของนักการเมืองไปอย่างที่หลายๆ คนตามไม่ทันและคาดไม่ถึงทีเดียว

ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าเดี๋ยวนี้มีบริษัทประชาสัมพันธ์ หรือพีอาร์เอเยนซี่ ที่รับจ้างทำประชาสัมพันธ์ในเชิงลบสำหรับลูกค้าที่ต้องการลดทอนหรือทำลายคู่แข่ง

การโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่ได้ทำกันในแง่บวกด้วยการแนะนำและชักจูงใจผู้คนให้สนใจสินค้าของตัวเองอีกแล้ว แต่ก้าวล่วงไปถึงการกำจัดคู่แข่งให้พ้นออกไปจากเวทีการแข่งขัน

อย่างเช่น สาวสวยที่เป็นกูรูด้านสุขภาพในสังคมออนไลน์ โดนการปล่อยข่าวทำลายชื่อเสียงของเธออย่างมีระบบทีละเล็กทีละน้อยจนคนเลิกใช้สินค้าที่เธอแนะนำ

แผนการทำลายคู่แข่งแบบนี้เรียกว่า smear campaign หรือการสาดโคลนใส่อย่างเป็นระบบ

 

แต่หนังเล่าเรื่องของหนุ่มชื่อ โตมาซ (มาเชียจ มูซิอาโลวสกี) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ซึ่งถูกอาจารย์เรียกตัวไปพบ เนื่องจากเปเปอร์ของเขาลอกข้อเขียนของคนอื่นมาทั้งดุ้น เขาโดนไล่ออกจากมหาวิทยาลัย

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการผิดจรรยาบรรณอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในวงวิชาชีพที่สอนให้เคารพกฎหมายซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมบัญญัติขึ้น

โตมาซจำต้องก้มหน้ายอมรับการลงโทษทางวินัยอันรุนแรงนั้นโดยไม่มีทางอุทธรณ์ แต่ทันใดเขาก็พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เขาควักหนังสือออกมาขอลายเซ็นของอาจารย์โดยเขาบอกว่าเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องจากเขาชื่นชมอาจารย์ผู้เขียนเหลือเกิน

อาจารย์ผู้เรียกตัวนักศึกษามาไล่ออก งุนงงกับสถานการณ์ที่พลิกผันไปซึ่งๆ หน้า จึงต้องเปลี่ยนหมวกจากอาจารย์มาเป็นผู้เขียนหนังสือ และผู้ประพันธ์หนังสือย่อมไม่สามารถปฏิเสธคำขอลายเซ็นของแฟนผู้ชื่นชมได้

ไม่นานหลังจากนั้น โตมาซก็ได้ใช้ประโยชน์จากลายเซ็นนั้นอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง

 

โตมาซเป็นเด็กกำพร้ายากจนจากต่างจังหวัด และได้รับอุปการะค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยจากครอบครัวที่ร่ำรวย โรเบิร์ต (จาเช็ก โคเมน) พร้อมด้วยภรรยาและลูกสาวสวย เกบี้ (วาเนสซา อเล็กซานเดอร์)

เมื่อถูกถามว่าเรียนหนังสือเป็นยังไงบ้าง โตมาซโกหกซึ่งๆ หน้า ว่าเขาทำได้ดีจนอาจารย์มอบหนังสือที่มีลายเซ็นให้เขาเป็นพิเศษ

โตมาซแอบหลงรักเกบี้ ลูกสาวคนสวยของครอบครัวนี้ และแกล้งลืมมือถือที่เปิดสายทิ้งไว้ คอยแอบฟังคำสนทนาหลังจากที่เขาจากมาแล้ว และได้รับรู้ความจริงว่าครอบครัวนี้ไม่ได้ชื่นชมเขาเหมือนเวลาที่อยู่ต่อหน้าเลย แต่หัวเราะเยาะและดูแคลนเขาเสียด้วยซ้ำ

โตมาซหางานทำอย่างยากเย็น และลงเอยด้วยการเป็นเด็กฝึกงานในเอเยนซี่ประชาสัมพันธ์ ที่มีหัวหน้าเป็นสาวใหญ่ชื่อเบียทา (อากาทา คูเลซซา)

เขาทำผลงานได้ถูกใจเจ้านาย โดยทำลายชื่อเสียงของกูรูทางสุขภาพไปจนไม่มีใครซื้อสินค้าที่เธอแนะนำอีกแล้ว ด้วยการปล่อยข่าวลือเล็กๆ น้อยๆ ว่าใช้สินค้าของเธอแล้ว ทำให้มือเหลือง ส่งข่าวสร้างเฟกนิวส์จนกลายเป็นกระแสต่อต้าน

และโตมาซได้รับความไว้วางใจให้ใช้อุปกรณ์สอดแนม (wiretap) โดยที่เขานำมาใช้กับเรื่องส่วนตัวด้วยการสอดแนมชีวิตของสาวในดวงใจที่เป็นดอกฟ้าสูงสุดเอื้อม

 

เอเยนซี่ยังรับงานทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการเมือง และโตมาซพาตัวเองเข้าสู่แวดวงของพาเวล รุดนิกกี (มาเซียจ สดูห์ร) ซึ่งเป็นผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ซึ่งครอบครัวผู้อุปการะของเขาสนับสนุน จนได้กลายเป็นคนวงในใกล้ชิด หรือหอกข้างแคร่ของพาเวล

เขาใช้หนทางแทบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะทางเฟซบุ๊ก โดยแอบตามดูโปรไฟล์และพฤติกรรมออนไลน์ และติดต่อผู้ร่วมอุดมการณ์ โดยผ่านทางเกมคอมพิวเตอร์ ในฐานะผู้เล่นเป็นตัวละครในเกม โดยปลอมแปลงเสียงและไม่ต้องเห็นหน้าเห็นตากัน

ปลุกปั่นให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์สร้างความวุ่นวาย และสร้างม็อบสองฝ่ายให้นัดชุมนุมในวันเวลาเดียวกันและสถานที่ใกล้เคียงกัน ให้ม็อบชนม็อบเพื่อสร้างความวุ่นวาย

ประเด็นร้อนต่างๆ ที่ปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังได้ง่ายที่สุดคือ การเหยียดผิว เหยียดชนชาติ ความกลัวคนต่างชาติโดยเฉพาะชาวมุสลิมที่จะเข้ามารุกรานยุโรปซึ่งเป็นชนชาติผิวขาว และความกลัวพวกลักเพศ

ตัวเอกของเรื่อง ไม่ใช่พระเอก แต่เป็น “แอนตี้ฮีโร่” หรือคนที่ไม่มีลักษณะเป็นพระเอกเลย โตมาซเฉลียวฉลาดทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ และเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ต่างๆ เหมือนอย่างที่สุนทรภู่ว่าไว้ว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

แต่ก็เป็นคนที่ไม่น่าเข้าใกล้เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่รู้ว่าจะหันมาแว้งกัดได้เมื่อไหร่

 

หนังรักษาระยะห่างระหว่างคนดูกับตัวละครตัวนี้ โดยบางครั้งเราร่ำๆ จะเห็นใจโตมาซอยู่แล้ว แต่เขาก็ทำอะไรที่น่ารังเกียจที่ทำให้เราไม่อยากให้ความเห็นใจไปทุกที เขาสามารถเรียกน้ำตาให้ไหลเพื่อเรียกความเห็นใจได้ถูกกาละแทบทุกครั้ง แต่ขณะเดียวกันเราก็มองเห็นแรงจูงใจที่ทำให้เขาบีบน้ำตา

ถึงแม้ตอนจบดูเหมือนว่าจะปล่อยคนชั่วให้ลอยนวลอยู่ และสร้างความแค้นเคืองในการ “ทำชั่วได้ดี” แต่ก็ยังเป็นตอนจบที่อ้างว้างและวังเวงอย่างชอบกล ทิ้งให้เราให้อยู่ในโลกที่อันตรายจากคนประเภทนี้

เชื่อว่าผู้กำกับฯ คงต้องการส่งสารทิ้งท้ายบรรยากาศอันวังเวงนี้ เพื่อให้เตือนใจให้เรารู้ว่าการสร้างความเกลียดชังยังคงอยู่ในสังคมต่อไปอีก ถ้าเราไม่เลิกตามกระแสและเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในโลกออนไลน์