ผี พราหมณ์ พุทธ : ไสยศาสตร์ หมุดล่องหนและการเมืองไทย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คํา “ไสยศาสตร์” อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ท่านว่า หากดูจากจารึกที่ฐานเทวรูปพระอีศวร สมัยอยุธยา ใช้ว่า “ไสยศาสน์” ดังนั้น คำนี้แต่เดิมหมายถึง “ศาสนาพราหมณ์” (คู่กับพุทธศาสน์และศาสนา “พระปะกำ” คือศาสนาพื้นเมือง) จึงควรเขียนศาสน์ ไม่ใช่ศาสตร์

ผมเห็นด้วยทุกประการครับ เพราะแม้แต่ในหมายรับสั่งพิธีไหว้ครูละครสมัยรัชกาลที่สี่และรัชกาลที่หก ก็ยังเรียกเทวรูปของพราหมณ์ที่เข้าในพิธีไหว้ครูว่า “เทวรูปพระไสยศาสตร์” แสดงว่า ความหมายของไสยศาสตร์หรือไสยศาสน์ยังหมายถึงศาสนาพราหมณ์อยู่

แต่ในเวลาต่อมาไสยศาสตร์จะเปลี่ยนความหมายไป คือหมายถึงสิ่งของและวิชาอาคมเร้นลับกฤตยาคุณต่างๆ ที่มีลักษณะความรู้อย่างหนึ่ง ความหมายจาก “ศาสน์” จึงได้เปลี่ยนเป็น “ศาสตร์” ไปแล้ว

ดังนั้น ผมคิดว่า ในปัจจุบัน คำ “ไสยศาสตร์” ก็น่าจะพอใช้การได้ เพราะเราไม่ได้ใช้เรียกศาสนาพราหมณ์อีกแล้ว

 

ส่วนคำเจ้าปัญหา “ไสย” แปลว่าอะไรกันแน่ บางท่านว่าก็แปลว่า “นอน” “หลับใหล” คำสันสกฤต “ศย” หรือ “ศยฺย” นั้น แปลว่าหลับใหล

คือ ถือว่าของกฤตยาคุณ มนต์ไสยเวท พวกนี้ใช้แล้วก็ทำให้ใหลหลงไป เป็นวิชาหลับ เป็นของให้มัวเมา ผิดกับ “พุทธ” ที่แปลว่า “ตื่น”

แต่ท่านอาจารย์เขมานันทะ บอกว่า ไสย แปลว่า “ดีกว่า” คือเป็นศาสตร์ที่มีแล้วก็ดีกว่าไม่มี ผมไปค้นดูพจนานุกรมของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ท่านว่า มาจากคำมคธ “เสยฺย” แปลว่า “ประเสริฐ” และคำเปอร์เซียน่าจะรับอิทธิพลสันสกฤต “ศย” ก็แปลว่าประเสริฐ ดีเยี่ยม เช่นกัน

ดังนั้น ไสยศาสน์ ที่หมายถึง ศาสนาพราหมณ์ ควรแปลว่า “ศาสนาอันประเสริฐ” หรือศาสนาอันดี เพราะพราหมณ์เองมักถือว่าศาสนาของตนเป็นศาสนาของอารยัน หรือ “อารยธรรม” (ธรรมในบริบทนี้แปลว่า ศาสนา) หมายถึง ศาสนาที่เจริญ ที่ประเสริฐเช่นเดียวกัน

 

ครูไมเคิล ไรท์ มีความเห็นที่แผกออกไป ท่านว่า ไสยศาสน์ น่าจะมาจาก “ไศวศาสน์” คือศาสนาพระไศวะ อันหมายถึงผู้นับถือพระศิวะซึ่งเป็นนิกายของพราหมณ์สยาม แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาพอในเรื่องนี้

ดังนั้น การเน้นความหมายของ ไสย ให้แปลว่า หลับใหล นอน ไม่ว่าจะไสยศาสน์ในความหมายของศาสนาพราหมณ์ หรือไสยศาสตร์ในทุกวันนี้ จึงมีนัยของการเหยียดศาสนาอื่น โดยถือว่าต่ำกว่าพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาแห่งการตื่นรู้ ซึ่งผมคิดว่าคงไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ที่จะยึดถือความหมายแบบนี้ในปัจจุบัน

“ไสยศาสตร์” ที่มิได้หมายถึงศาสนาพราหมณ์(ต่อไปผมจะใช้ในความหมายนี้ทั้งหมด) เป็น “เทคโนโลยี” โบราณอย่างหนึ่ง (ตามคำอธิบายของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์) เพราะมีจุดมุ่งหมายเฉพาะอย่าง เช่น สาปแช่ง หรือปัดเป่า

สำหรับผม ไสยศาสตร์อาจนับได้ว่าเป็น “ภูมิปัญญา” ชนิดหนึ่ง คือเป็นเทคโนโลยีที่สั่งสมกันมาจากคนโบราณ เพียงแต่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความรู้และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ จึงไม่เหมือนกับ “เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์” ที่เน้นความสัมพันธ์อันแน่นอนของสาเหตุและผล

ดังนั้น ปัญหาของไสยศาสตร์จึงอยู่ที่ “ความไม่แน่นอน” หรือความไม่สามารถคาดเดาได้ของผล เช่น สองคนบูชากุมารทองไปเหมือนกัน แต่ทำไมคนนึงถูกหวยอีกคนไม่ถูก ทั้งๆ ที่ทำอย่างเดียวกันทุกประการ

ครั้นอ้างเหตุอื่นที่ทำให้ผลคลาดเคลื่อน เช่น เพราะศรัทธาไม่พอ หรือ ดวงกำลังตกหรือ สารพัดเหตุสุดแต่จะหามาเพื่อสนับสนุน ก็จะเกิดปัญหาอย่างหนึ่งที่คนเรียนปรัชญาเรียกว่า “การไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้เลย” (falsifiability) คือจะผิดพลาดยังไงก็อ้างเหตุว่ามันไม่มีทางผิดพลาดโดยตัวมันเองได้

 

อีกตัวอย่างของการไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ ซึ่งเป็นที่นิยมในวงการโหราศาสตร์ คือการดูดวงย้อนหลัง หมายถึงการไปเอาดวงคนดังทั้งที่เสียชีวิตหรือมีชีวิตมาดูย้อนหลัง แล้วก็อธิบายว่า เหตุใดเจ้าตัวจึงประสบพบเหตุเช่นนั้นในชีวิตเขา (ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว) เพราะมีโยคเกณฑ์ชะตางั้นงี้ ดาวมันมีองศางั้นงี้ โหราศาสตร์ว่าอย่างงี้ ฯลฯ

คือทายอย่างนี้ไม่มีวันผิด ไม่มีวันไม่แม่นครับ โหราศาสตร์จึง “ไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้” ในแง่นี้นักปรัชญาบางท่านจะถือว่า ศาสตร์ใดที่ไม่ถูกพิสูจน์ว่าผิดได้ ล้วนเป็น “ศาสตร์เทียม” คือมีลักษณะเป็นความเชื่อมากกว่าจะเป็นศาสตร์อย่างวิทยาศาสตร์

ในเมื่อไม่อาจยืนยันความแน่นอนของผลได้ ไสยศาสตร์จึงเน้นผลทางจิตวิทยามากกว่า คือ เล่นกับความมั่นใจและ “ความกลัว” ของคนแทน ซึ่งอาจนำไปสู่ผลอย่างที่ต้องการได้อีกชั้นนึง

ไสยศาสตร์จึงคล้าย “ภาษา” มันมีอาจมีผลต่อเมื่อผู้คนทั้งหมดอยู่ในระบบความเชื่อหรือ “ภาษา” เดียวกัน แต่เป็นภาษาทางจิตวิทยาหรือภาษาทางความเชื่อ

เหมือนเวลาฝรั่งด่าแม่เรา ถ้าเราไม่รู้ภาษาฝรั่งเราคงไมโกรธอะไร เช่นเดียวกับไสยศาสตร์ครับ สมมุติมีคนแช่งชักเรา แล้วเราเชื่อเรื่องแช่งชักก็อาจพาลทำให้เราฉิบหายได้เหมือนกัน

แม้บางคนอาจแย้งว่า ทำไมคนไม่เชื่อไสยศาสตร์ก็ยังมีผล ผมคิดว่าอาจเพราะความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์นี้มันไม่ได้อยู่แค่ในระดับจิตสำนึก แต่มันยังลึกไปในระดับจิตใต้สำนึกด้วย จิตสำนึกอาจไม่เชื่อ แต่จิตใต้สำนึกอาจเชื่อ ก็ส่งผลได้

 

ที่จริงไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่โหดเหี้ยมนะครับ เพราะโดยตัวมันไม่ได้มีศีลธรรมกำกับ อยากจะได้ใครก็เอาน้ำมันพรายไปป้าย อย่าฆ่าใครก็ทำของใส่ จะได้ผลไม่ได้ผลเป็นอีกเรื่อง ศีลธรรมที่เพิ่มเข้ามาในไสยศาสตร์ก็ด้วยศาสนาที่ไสยศาสตร์เข้าไปแอบอิงด้วย เช่น พุทธศาสนา

ดังนั้น คนสักยันต์หรือเล่นของ ครูอาจารย์จึงมีข้อห้ามที่ผสมๆ กันไประหว่างศีลธรรมแบบพุทธ (อย่าผิดลูกเมีย อย่าพูดโกหก ฯลฯ) กับความเชื่อของไสยศาสตร์เอง (อย่ากินมะเฟือง อย่าลอดใต้ถุน ไปจนอย่าเลีย…)

กระนั้น ด้วยความใกล้ไกลกับอาณาเขตของศาสนา ไสยศาสตร์จึงมีลักษณะต่างกันดังผมเคยอภิปรายไปแล้ว เช่น ไสยศาสตร์ที่พุทธศาสน์นำมาใช้ได้อย่างดีกับการภาวนา หรือไสยศาสตร์สมัยใหม่ที่ไม่มีทั้งรากและศีลธรรมแบบใดกำกับเลย

ในเมื่อมันเกี่ยวข้องกับกับความกลัวและความเชื่อมั่น ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจึงมักมีไสยศาสตร์อยู่เสมอ ดังมีผู้วิเคราะห์ว่า ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น รัฐประหารก็มีการดูฤกษ์ผานาทีในการก่อการณ์แทบจะทุกครั้งไป

หรือแม้แต่การก่อสร้างสิ่งต่างๆ เช่น หลักเมือง สะพาน หรือโรงพยาบาลบางแห่งในกรุง มิตรสหายนักโหราศาสตร์ของผมก็ไปสืบค้นว่าล้วนมีนัยทางไสยศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับการเมืองด้วยทั้งสิ้น

 

เหตุการณ์ “หมุดล่องหน” คือหมุดคณะราษฎรที่ตรึงไว้ที่พื้นผิวถนนใกล้พระบรมรูปทรงม้า ในฐานะสิ่งแสดงการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองหายไปอย่างไร้ร่องรอยพร้อมการมีอยู่ของหมุดใหม่ “หมุดหน้าใส” ตามที่เรียกกันนั้น ก็น่าจะมีนัยเรื่องนี้ด้วย

สำหรับผม เรื่องนี้คงมิใช่แค่การพยายามเปลี่ยนแปลงลบล้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองหน้าหนึ่ง แต่ดูจะเป็นพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ด้วย และคงเป็นวัตถุประสงค์หลักมากกว่า

ที่จริงก่อนหมุดจะล่องหนเคยมีข่าวการเข้าไปพยายามทำลายหรือทำพิธีทางไสยศาสตร์ต่อหมุดนั้นอยู่เนืองๆ แต่ก็ยังไม่ทำให้หมุดหายไปได้

มิตรสหายผู้ชำนาญโหราศาสตร์ท่านนี้ยังยืนยันว่า แม้แต่ใน พ.ศ. นี้ ชนชั้นนำไทยยังคงใช้ไสยศาสตร์ตลอดเวลา ดังเราคงได้ข่าวเกี่ยวกับที่ปรึกษาทางไสยศาสตร์ของผู้นำอยู่บ้าง

มิตรสหายท่านนี้และอีกหลายท่านที่สนใจไสยศาสตร์พากันสิ้นหวังว่า ไสยศาสตร์ของชนชั้นปกครองไทยนั้นแรงนัก ฝ่ายประชนคงจบสิ้น ไม่สามารถต่อกรได้อีกนานแสนนาน เพราะฝ่ายประชาชนไม่มีผู้อาจสามารถพอจะทำอะไรในเชิงไสยศาสตร์ได้เท่า

ครั้นมีผู้ยกว่าพุทธานุภาพน่าจะสู้ได้กระมัง นักไสยศาสตร์ท่านก็คิดว่าไม่สามารถสู้กับพลังไสยฝ่ายนั้นได้หรอก พุทธไม่แรงพอ ว่างั้น

ผมคิดว่า เราไม่ควรเห็นว่า พลังแบบพุทธศาสนานั้นเหมือนกับพลังในไสยศาสตร์ เพราะสองอย่างนี้มีความคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เหมือนกัน การคิดจะเอาพุทธศาสนาไปสู้กับไสยศาสตร์ในแบบเดียวกับไสยศาสตร์ (คือคิดว่าเหมือนๆ กัน ต่างแค่รูปแบบ) จึงไม่เวิร์กตั้งแต่แรก

พลังของไสยศาสตร์ตั้งอยู่บนความกลัว ถ้าเราทำความเข้าใจความกลัวนั้นให้ดีพอแล้ว สู้ด้วยพลังแบบพุทธศาสนา คือ ความรักเมตตาและความ “ไม่กลัว” จึงน่าจะพอไหว ไม่ใช่พลังของพุทธโดยท่าทีที่ไม่เป็นพุทธ คือพลังลึกลับที่ปราศจากที่เหตุผล

พุทธานุภาพที่แท้จริง เป็นพลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่มาจากภายนอก ไม่ใช่จากพระพุทธะผู้ปรินิพพานไปแล้ว หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด แต่คือพลังของความรักเมตตาและความกล้าหาญในใจเราเอง ซึ่งต้องค่อยๆ สั่งสมไป

การสู้กับไสยศาสตร์ ที่จริงคือการก้าวข้ามพลังของไสยศาสตร์นั่นเอง