ฮอนด้า “ซิตี้ ใหม่” ซิ่งสนุก เด่นที่อัตราเร่ง-ช่วงล่างเนี้ยบ

สันติ จิรพรพนิต

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถกลุ่ม “ซิตี้คาร์” หรือ “ซี-เซ็กเมนต์” ถือว่าซัดกันดุเดือด ไม่แพ้กลุ่มอีโคคาร์ แต่รุ่นที่มาแรงจนน่าตกใจคือ “ฮอนด้า ซิตี้” เนื่องจากอายุอานามถือว่าไม่น้อยแล้ว แต่กลับขายแรงขึ้นเรื่อยๆ

ถึงขนาดปีที่แล้วเป็นแชมป์ในเซ็กเมนต์ มียอดขายนระดับ 2 พันเศษถึง 3 พันคันเศษๆ มาตลอด

จนช่วงปลายๆ ปีนี่แหละที่แผ่วลงไปเนื่องจากเตรียมเปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ในช่วงต้นปี 2560 ทำให้สาวกฮอนด้า ขนอดูตัวใหม่เสียก่อ

ซึ่งบอกเลยว่าไม่ผิดหวังเพราะเปิดตัวออกมาได้เปรี้ยงปร้างสุดๆ

แถมมีหลายอย่างที่ใส่เข้ามาเป็นครั้งแรกของเซ็กเมนต์อีกต่างหาก

ที่เด่นสุดๆ ไม่พ้นติดตั้งไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED ในทุกรุ่น ถือว่าเป็นครั้งแรกของเซ็กเมนต์

นอกจากนี้ ยังใส่ไฟหน้าแบบ LED (เฉพาะรุ่น SV และ SV+) และไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED (เฉพาะรุ่น SV และ SV+)

โดยระบบไฟแบบ LED ประกอบไปด้วยแถวหลอด LED เรียงตัวเป็นแนวยาว การสะท้อนแสงจากไฟด้วย Reflector ภายในโคมไฟ ทำให้ผู้ขับขี่มองเห็นเส้นทางได้อย่างชัดเจนทั้งขณะขับขี่ในเวลากลางคืน หรือขณะฝนตกหนัก การทำงานใช้พลังงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ไฟหน้าของซิตี้ใหม่ ขอยืมแนวคิดมาจากรุ่นพี่ทั้ง “แอคคอร์ด” และ “ซีวิค” นั่นเอง

กระจังหน้าแบบโครเมียม พร้อมกันชนหน้า-หลัง ดีไซน์ใหม่สไตล์สปอร์ต ล้อลายใหม่ดีไซน์สปอร์ต ได้แก่ ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว (เฉพาะรุ่น V และ V+) และล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว (เฉพาะรุ่น SV และ SV+)

ห้องโดยสารใหม่ เพิ่มความสปอร์ตมากขึ้น ติดตั้งไฟส่องสว่างแบบ LED ได้แก่ ไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า (เฉพาะรุ่น SV+) และไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารแบบ LED (เฉพาะรุ่น SV+)

คอนโซลด้านหน้า ออกแบบโดยการผสมผสานวัสดุที่มีพื้นผิวต่างกันได้อย่างลงตัว ระหว่างแผงหน้าปัดพื้นผิวสีดำ และแผงคอนโซลตรงกลางรูปตัว T ในโทนสีเมทัลลิกเข้ม ตกแต่งตามจุดต่างๆ ด้วยโทนสีกันเมทัลลิก (Gun Metallic)

พื้นที่ส่วนบนของแผงหน้าปัดถูกออกแบบให้ดูแบนเรียบ ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยในการขับขี่ยิ่งขึ้น

ตกแต่งบริเวณช่องแอร์ รอบบริเวณคันเกียร์ และรอบมาตรวัด ด้วยวงแหวนสีเงิน ทำให้ภายในห้องโดยสารมีความสวยงามโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

พวงมาลัย 3 ก้านพร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่น และระบบควบคุมความเร็ว หรือครุยส์คอนโทรล ซึ่งใช้งานง่ายๆ หลังพวงมาลัยมีปุ่มเปลี่ยนเกียร์แบบแพดเดิ้ลชิฟต์

มาตรวัดเรืองแสงแบบ 3 วง ออกแบบใหม่ให้ดูมีมิติมากขึ้น พร้อมไฟเรืองแสดงสีขาวขณะสตาร์ตรถ

เบาะนั่งสไตล์สปอร์ต เดินด้ายเย็บแบบ 2 แถว เบาะที่นั่งด้านหลังปรับพับได้ 60:40

ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ เครื่องเสียงหน้าจอสัมผัส รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และ iOS และยังรองรับการเชื่อมต่อภาพและเสียงผ่าน HDMI ลำโพง 8 ตำแหน่ง

ขุมพลังเครื่องยนต์ SOHC i-VTEC 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 117 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 146 นิวตัน-เมตร ที่ 4,700 รอบต่อนาที พร้อมระบบส่งกำลังที่มีทั้งแบบอัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง หรือเกียร์ CVT และเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ

ช่องใส่ของต่างๆ เพียบตามสไตล์ฮอนด้า

ระบบความปลอดภัยครบถ้วน ทั้งให้ถุงลมนิรภัยมาถึง 6 ตำแหน่ง

เปิดประตูเข้าไปนั่งภายใน เบาะนุ่มและโอบกระชับกำลังเหมาะ รุ่นท็อปนี่มีปุ่มสตาร์ต-ดับเครื่อง กุญแจรีโมตมีไว้พกติดตัวเท่านั้น เพราะสามารถเปิดปิดประตูด้วยปุ่มรับสัญญาณที่มือจับด้านนอก

กดปุ่มสตาร์ตเบาๆ เสียงเครื่องยนต์แทบไม่เล็ดลอดเข้ามาให้ได้ยิน

ฮอนด้ายังคงเอกลักษณ์คันเกียร์แบบลากขึ้น-ลง

อัตราเร่งช่วงต้น-กลางมาได้รวดเร็วมาก เรียกว่ากดเท่าไหร่มาเท่านั้น ม้าที่มีอยู่ในเครื่องยนต์สับแหลกใส่เข้ามาไม่มีอู้

ขณะที่ตีนปลายเริ่มดื้อที่ราวๆ 150-160 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ยังได้เรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม เพราะเป็นรถซิตี้คาร์ ไม่ใช่ซูเปอร์คาร์ที่จะไปซิ่งที่ไหน ผมจึงไม่ได้ขยี้ขยำทำความเร็วมากนัก ทั้งๆ ที่รู้ว่าความเร็วปลายไหลได้อีก

พวงมาลัยระบบไฟฟ้า (EPS) แปรผันน้ำหนักตามความเร็ว เพิ่มความสบายและมั่นใจมากขึ้น เพราะในยามความเร็วต่ำ หรือจอดในที่แคบๆ ต้องเดินหน้า-ถอยหลังหลายครั้ง ไม่ต้องควงจนกล้ามขึ้น คุณผู้หญิงที่ชอบช้อปปิ้งในห้างเป็นประจำ น่าจะถูกใจ

ส่วนในย่านความเร็วสูง พวงมาลัยมีน้ำหนักมากขึ้นเพื่อความมั่นใจในการขับขี่ โดยระดับความเร็ว 120-130 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุมได้สบายๆ แต่ถ้าทะลุไปถึง 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจต้องกำแน่นขึ้นสักนิด แต่ก็ไม่ได้น่าหวาดเสียว

แต่ถ้าทำความเร็วสูงขนาดนั้นบนทางยกระดับยาวๆ อย่างเส้นบูรพาวิถี (บางนา-บางปะกง) อาจต้องระมัดระวังลมที่ตีด้านข้างด้วย

การทำความเร็วและอัตราเร่งดูเหมือนจะเป็นจุดเด่น แต่อีกส่วนคือความประหยัดเพราะรถรุ่นนี้หากขับแบบทั่วๆ ไป ใช้ความเร็วที่เหมาะสม ตามสเป๊กของเกียร์ซีวีที เคลมว่าประหยัดน้ำมันสูงถึง 17.9 กิโลเมตร/ลิตร แต่ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีดได้เพิ่มอีกนิดหน่อย

อีกส่วนที่ได้ความประหยัดเพิ่มขึ้นคือรองรับการใช้พลังงานสูงสุดถึง E85

ในส่วนของช่วงล่าง ด้านหน้าแบบแม็กเฟอร์สัน สตรัต อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม H-shape แม้ดูจะไม่เปลี่ยนไปจากของเก่า แต่น่าจะตั้งค่ามาได้เหมาะสม เพราะทั้งนุ่มนวลและหนึบแน่นกว่าของเก่าอยู่พอสมควร

การเข้าโค้งรองรับได้สบาย รวมไปถึงการเปลี่ยนเลนเร็วๆ หรือเร่งแซงด้วยความเร็วสูงไม่มีอาการให้ต้องแก้

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะฐานล้อที่ยาวขึ้น 50 มิลลิเมตร ทั้งตัวถังก็ยาวขึ้น และความสูงก็ลดลง แม้ 2 ส่วนหลังจะไม่มากนัก แต่ก็มีผลให้ศูนย์ถ่วงของรถดีขึ้นและเสถียรกว่ารุ่นเก่า

ระบบเบรกด้านหน้า ดิสก์เบรกพร้อมช่องระบายความร้อน ด้านหลังดรัมเบรก

จุดเด่นอีกอย่างของซิตี้ใหม่ ที่ทำได้เหนือกว่ารุ่นเก่าคือ “ความเงียบ”

ความเร็วระดับ 120-130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงมาถือว่าเก็บเสียงได้ดีมาก ทั้งเสียงเครื่องยนต์หรือเสียงลม

แม้หากดูผาดๆ ภาพรวมด้านนอก-ในของซิตี้ใหม่ จะไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมาก แต่หากดูเนื้อในแล้วถือว่าเปลี่ยนไปพอสมควร ทำให้รถมีอัตราเร่งและความสนุก-ความมั่นใจในการขับขี่มากขึ้น

ที่สำคัญแม้จะเป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ แต่กลับยืนราคาเดิม ที่แทบไม่เคยปรากฏมาก่อนที่รุ่นปรับโฉมจะมีค่าตัวเท่ากับของเก่า

“ฮอนด้า ซิตี้ใหม่” มีให้เลือก 6 รุ่นย่อย ราคา 550,000-751,000 บาท

แต่ถ้าใครอยากได้สียอดฮิตอย่างสีขาวออร์คิด (มุก) เพิ่ม 10,000 บาท และสีดำคริสตัล (มุก) เพิ่ม 6,000 บาท