จัตวา กลิ่นสุนทร : วังวนการเมืองไทย จาก “วีระ” สู่ “วีระกานต์”

วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ เราเป็นเพื่อนกันมานานแล้ว (4)

อาชีพการเมืองบนถนนสาย “ประชาธิปไตย” ของ “วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์” จะว่าไปดูเหมือนต้องแวะเวียนเข้าไปพักผ่อนยังที่คุมขังอยู่เป็นประจำเสมอๆ

คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับเผด็จการทหาร ต่อต้านรัฐบาลทหาร ไม่นิยมชมชอบการปฏิวัติ รัฐประหาร ด้วยการขนกำลังพลจากกองทัพออกมายึดอำนาจ

ผู้ยึดครองอำนาจมักใช้กฎหมายจัดการกับผู้นิยมการปกครองที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกคิดว่าเลวน้อยที่สุด ซึ่งแตกต่างไปจากเผด็จการ ซึ่งมันมีมานานตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475

นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อยมิเพียงแต่ต้องถูกจับกุมคุมขังเท่านั้น ถึงขนาดต้องล้มหายตายจากสูญเสียชีวิตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ประเภทต้องถอดใจเลิกล้มทอดทิ้งอุดมการณ์เนื่องจากโดนคุกคามกดดันอย่างหนักไปถึงครอบครัว ญาติพี่น้อง ลูกเมีย ก็เคยมีให้เห็นได้เรียนรู้กันมาตลอดเวลาจากประวัติศาสตร์การเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ

 

ประมาณ 5 ทศวรรษยุคสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร กับพวกพ้อง ซึ่งคนสูงวัยยังพอจดจำได้ว่ามีนักการเมืองหนุ่มไฟแรงขณะนั้นอย่างน้อย 3 ท่าน นำโดยท่านอุทัย พิมพ์ใจชน (อดีตประธานรัฐสภา+ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ+รัฐมนตรี+ส.ส.ชลบุรี 8 สมัย) ท่านบุญเกิด หิรัญคำ (อดีต ส.ส.ชัยภูมิ) ท่านอนันต์ ภักดิ์ประไพ (อดีต ส.ส.พิษณุโลก)

ส.ส. 3 ท่านที่กล่าวนี้ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับจอมพลถนอม กิตติขจร ข้อหากบฏ ที่ทำรัฐประหารตนเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 และยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2511 แต่สุดท้ายทั้ง 3 ผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งของประชาชนถูกดำเนินคดีข้อหากบฏเสียเอง โดยต้องโดนคุมขังอยู่เกือบ 2 ปี

วีระกานต์ไม่เคยย่อท้อเหนื่อยหน่ายกับการเดินทางบนเส้นทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่เขาใฝ่ฝันนิยมชมชอบ

แต่เขาต้องทิ้งเก้าอี้ตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญทีเดียว เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงในพรรค ในวันที่ 1 มกราคม 2531 จนเกิดกลุ่มการเมือง เรียกว่ากลุ่ม 10 มกรา

สาเหตุมาจากการต่อสู้ประลองกำลังกันระหว่างกลุ่มของท่านพิชัย รัตตกุล (อดีตหัวหน้าพรรค) กับท่านเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ (เสียชีวิต) ในการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค

การแตกทำให้วีระกานต์ต้องตัดสินใจหันหลังให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เพื่อนสนิทต่างวัยที่ร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองจนกระทั่งติดคุกมาด้วยกัน คือ (เสธ.หนั่น) พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ (ถึงแก่กรรม) ได้รับการสนับสนุนให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

และได้สร้างการเมืองอีกบทหนึ่งในการส่งให้ท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย (ประธานรัฐสภา) สู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เสธ.หนั่นกับวีระกานต์ต้องแยกทางกันไปนานกว่า 10 ปี

 

เนื่องจากวีระกานต์เป็นคนมีพรสวรรค์หลากหลายรอบตัว ร้องเพลงก็ได้ พูดจาปราศรัยก็สามารถเรียกแขกได้ไม่แพ้นักปราศรัยหาเสียงคนดังทั้งหลาย

เวลาที่ต้องเว้นวรรคการเมืองบางครั้งยังหันกลับไปเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์รายวัน อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ชาวไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จคล้ายกับช่วงเวลาที่เดินผ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เพราะทั้งหลายทั้งปวงมิได้เป็นงานหลักที่เขามุ่งมั่นเหมือนอาชีพนักการเมือง

เคยมีคนออกทุนทรัพย์ให้นำมาสร้างภาพยนตร์เพื่อโจมตีท่านสมัคร สุนทรเวช (อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 25) ชื่อเรื่องว่า “ไอ้ซ่าส์จอมเนรคุณ” อย่างเช่นเมื่อตอนร่วมกับเพื่อนๆ ช่วยกันเขียนหนังสือชื่อ “สันดานรัฐมนตรี” กระทั่งถูกฟ้องเป็นจำเลยกันทั้งทีมดังที่เคยกล่าวไปครั้งก่อน บังเอิญสร้างไม่สำเร็จต้องเลิกล้มไป

แต่ตอนนั้นทำท่าเอาจริงเอาจังมาก กระทั่งไปพูดคุยกับอดีตนักแสดงชาวใต้อย่างชุมพร เทพพิทักษ์ (เสียชีวิต) ให้มาเป็นผู้กำกับฯ

 

วีระกานต์นับว่าประสบความสำเร็จทางด้านครอบครัวทีเดียว เขาตกลงปลงใจสร้างครอบครัวกับ “ศรีวิไล ประสุตานนท์” อดีตนางเอกละครเรื่อง “เจ้าหญิงแสนหวี” เป็นดาวของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีลูกชายด้วยกัน 3 คน ตามรายงานข่าวแจ้งกันมาว่าครอบครัวของเขาได้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยยังต่างบ้านต่างเมืองในประเทศแถบถิ่นยุโรป

แต่เขาไม่เคยทอดทิ้งงานการเมือง หลังเดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไปก่อตั้งพรรคประชาชน (พ.ศ.2538) เป็นหัวหน้าพรรคดำรงไทย (พ.ศ.2539) พรรคเอกภาพ เป็นที่ปรึกษาประธานรัฐสภา (วันมูหะมัดนอร์ มะทา)-(พ.ศ.2540) เป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ (พ.ศ.2545) กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (พ.ศ.2547) เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทย (พ.ศ.2548) ต่อไปยังพรรคเพื่อไทย และไทยรักษาชาติ (พ.ศ.2562) ซึ่งได้ถูกตัดสิทธิ์ไปเสียก่อนถึงวันเลือกตั้ง

นักเลือกตั้ง นักประชาธิปไตยกับการเดินทางบนถนนการเมือง ว่ากันว่าย่อมต้องมีบาดแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศนี้ ซึ่งจนกระทั่งทุกวันนี้ยังต้องดำเนินต่อไป เพราะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร? ที่เรียกว่าประชาธิปไตยยังดำเนินไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ อีกทั้งประเทศเราตกจากประเทศประชาธิปไตยอันดับที่ 80 ไปสู่อันดับที่ 161 เรามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็จริง แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าภายใต้กติกาอะไร?

ใครเป็นผู้สร้างขึ้นมา?

 

นักการเมืองของบ้านเรายังนิยมชมชอบ และให้การสนับสนุนผู้นำทหาร ซึ่งเห็นประชาชนเป็นเพียงส่วนประกอบแบบผู้อาศัยมากกว่าเป็นเจ้าของประเทศ นักการเมืองน้ำเน่าทั้งหลายยังต้องการเกาะเขาไปมีอำนาจเพื่อกอดเก็บเศษเสี้ยวผลประโยชน์ที่ได้รับเจียดมาให้

แต่นักประชาธิปไตยทั้งหลายย่อมต้องคัดค้านกันเต็มที่อยู่แล้ว ต้องต่อสู้ในทุกมิติเพื่อความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากว่าถ้าบ้านเมืองของเรามีทหารปกครองด้วยอำนาจเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้เจริญก้าวหน้า ประชาชนสามารถลืมตาอ้าปากได้ ป่านนี้ประเทศไทยของเราคงก้าวไปไกล และเป็นประชาธิปไตยทัดเทียมอารยประเทศแล้ว

ทหารปกครองประเทศนี้พร้อมสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จะมีเว้นวรรคให้มีการเลือกตั้งเพื่อเปิดช่องให้หายใจกันได้บ้างก็เพียงระยะเวลาสั้นๆ สุดท้ายแล้วทหารก็กลับมายึดอำนาจจากประชาชนไปอีก และพยายามสร้างกติกาเพื่อต่อท่ออำนาจออกไป ซึ่งคงพอมองเห็นภาพได้ไม่ยาก เพราะเรารู้สึกว่ามันคุ้นเคยกันมานาน

กระทั่งทุกวันนี้บ้านเมืองของเรายังติดกับดัก “รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560” โดยผู้ร่างเองได้ออกมายอมรับแล้วว่าจัดทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ ยังไม่รู้ว่าเราจะหาทางออกจากหลุมดำได้อย่างไร?

มันจึงมีคำถามว่าเมื่อไรประชาชนจึงจะมีสิทธิเสรีภาพสามารถเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศ

เมื่อไรรัฐธรรมนูญ 2560 จึงจะได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่เป็นไปสำหรับคนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งก็เป็นคำถามอีกเช่นเดียวกัน เนื่องจากว่าสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ออกแบบชนิดเกือบจะปิดประตูตายในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

 

วีระกานต์ยังเดินบนถนนการเมืองแบบมุ่งมั่นไม่หวั่นเกรงอำนาจอะไรทั้งนั้น เมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเสียงค้านกันโดยทั่วไปว่าไม่เป็นไปตามกติกา ไม่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน เกิดม็อบที่เรียกกันว่าม็อบมือถือออกมาคัดค้าน เกิดการปะทะกับทหารจนบาดเจ็บล้มตายในปี พ.ศ.2535 ที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

เขาไปปราศรัยต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงถูกออกหมายจับ แต่ได้เข้ามอบตัวโดยไม่ขอประกันตัว จึงถูกนำไปฝากขังไว้ยังโรงเรียนพลตำรวจ บางเขน พร้อม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กระทั่ง พล.อ.สุจินดาพ้นจากตำแหน่ง จึงได้รับการปล่อยตัว นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ต้องโดนกักขัง การถูกจับกุมคุมขังเป็นเรื่องปกติของวีระกานต์ ซึ่งไม่เคยหยุดการต่อต้านคัดค้านสิ่งที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย จึงถูกจับครั้งที่ 4 ในข้อหามั่วสุมกันเกินกว่า 10 คนขึ้นไป ณ บริเวณท้องสนามหลวง ก่อนจะเดินทางไปบ้านสี่เสาเทเวศร์

การชุมนุมครั้งใหญ่ปี พ.ศ.2553 ที่เรียกว่า “แดงทั้งแผ่นดิน” ขับไล่รัฐบาล ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ยุบสภา-ลาออก ขณะนั้นวีระกานต์ (วีระ) เป็น “ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) ได้เข้ามอบตัวพร้อมแกนนำโดยถูกคุมขังทั้งหมด 7 เดือนก่อนจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว นับเป็นครั้งที่ 5 ที่เขาต้องถูกนำตัวไปกักขัง

ปี พ.ศ.2553-2554 คุณพ่อแนะนำให้เปลี่ยนชื่อจาก “วีระ” เป็น “วีระกานต์” เพื่อสิริมงคล