บทวิเคราะห์ | ไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” งานเข้า “อัยการ-ตำรวจ” / รัฐบาล “ตู่-ป้อม” งานงอก จับตาน้ำผึ้งหยดเดียว?

ติดอันดับทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

สำหรับคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทกลุ่มธุรกิจกระทิงแดง ขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่พุ่งชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท เมื่อปี 2555

ตลอดเวลา 8 ปีมีคำถามเกิดขึ้นมากมายในคดี

ทั้งกระบวนการพิจารณาคดีล่าช้า ปล่อยปละจนบางข้อหาหมดอายุความ บางข้อหาพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง

ไม่ว่าข้อหาเมาแล้วขับที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเมื่อปี 2556 ข้อหาชนแล้วหนี ข้อหาขับรถเร็ว ข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหาย ทั้ง 3 ข้อหาคดีหมดอายุความเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556

กระทั่งล่าสุดอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และตำรวจไม่ได้ทำความเห็นแย้งคัดค้าน โดยคดีนี้มีกำหนดหมดอายุความในปี 2570 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า

ทำให้สังคมเกิดข้อกังขาสงสัยเหตุและผลของอัยการในการพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” ทั้งที่เป็นคดีร้ายแรง ผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ตามด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายลุกลามบานปลายถึงขั้นเรียกร้องให้มีการสังคายนากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

พร้อมตั้งคำถามกดดันไปยังรัฐบาลว่า กล้าและจริงใจในการเอาตัวคนผิดมาลงโทษหรือไม่

สำหรับคดีบอส อยู่วิทยา หากไม่มีคำชี้แจงที่สมเหตุสมผลก็มีแนวโน้มสังคมยอมรับไม่ได้ กลายเป็นปัญหา “น้ำผึ้งหยดเดียว” สะเทือนถึงรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ

ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์อันหนักหน่วงกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา

ทำให้หน่วยงานองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทั้งอัยการและตำรวจ ต้องออกมาเร่งดับกระแสไม่ให้ลุกลามร้อนแรงมากกว่านี้

นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 3 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุ

สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าการสั่งสำนวนคดีนี้เป็นไปตามหลักกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่

และมีเหตุผลในการสั่งคดีอย่างไร

จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีดังกล่าว มีนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงานและคณะทำงานอื่นรวมทั้งสิ้น 7 คน

คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่เรียกสำนวนมาตรวจสอบ รวมถึงสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยให้ดำเนินการด่วนที่สุด

นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ยังกำชับให้คณะทำงานเริ่มดำเนินการตรวจสอบทันที ให้รายงานผลภายใน 7 วัน

เช่นเดียวกับฝั่งตำรวจที่ตั้งทีมขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงปมร้อนนี้เช่นกัน

โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นประธานตรวจสอบ พร้อมคณะกรรมการรวม 10 คน

พร้อมกำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และรายงานผลให้ทราบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง

เรื่องนี้ยังร้อนลามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหาร ซึ่งได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคดีนี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา มอบหมายให้มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะกรรมการ

คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พร้อมเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

ก่อนรายงานมายังนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน

ความข้องใจต่อการไม่ฟ้องคดีบอส อยู่วิทยา ยังเกิดขึ้นในแวดวงนักวิชาการด้านกฎหมาย

เมื่อ 31 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมลงนามในแถลงการณ์กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญานายวรยุทธ อยู่วิทยา

แถลงการณ์ระบุ ช่วงหลายปีที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุของความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม

จนเกิดวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน”

ขณะที่บุคลากรส่วนใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย พยายามอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

พยายามกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

แต่หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมถึงการดำเนินคดีอาญาต่อนายวรยุทธ ทำให้ความพยายามดังกล่าวไร้ความหมายในสายตาของประชาชน

ตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมที่มีต่อองค์กรและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม บั่นทอนกำลังใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม

เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายและหลักนิติรัฐ พร้อมกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเรียกร้องให้สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร็ว

1. ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการคดีอาญากับนายวรยุทธโดยละเอียดและอธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนถึงผลของคดีที่ขาดอายุความและการใช้ดุลพินิจไม่ฟ้องคดีอาญา

2. ตรวจสอบว่าการดำเนินการและการใช้ดุลพินิจดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย สุจริตและโปร่งใสหรือไม่

หากพบการดำเนินการหรือการใช้ดุลพินิจในขั้นตอนใดไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สุจริต หรือไม่โปร่งใส

ให้พิจารณาดำเนินการและใช้ดุลพินิจใหม่ให้ถูกต้อง

ความเคลือบแคลงสงสัยในข้อเท็จจริงเริ่มขยายเป็นวงกว้าง

พร้อมกันนั้นได้มีการเรียกร้องให้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมออกมาตอบคำถามสังคมและประชาชนถึงเหตุผลการไม่สั่งฟ้องคดี

ในจำนวนนี้รวมถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ที่ออกมาตั้งคำถามว่า

ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในความสองมาตรฐาน ในแง่หนึ่งเมื่อคนรวยคนมีอำนาจทำผิดกฎหมายไม่ต้องเข้าคุกในประเทศนี้

ขณะเดียวกันคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจ ทำผิดกฎหมายจะถูกติดคุกติดตะราง

ความยุติธรรมเป็นเสาหลักสุดท้ายของสังคมในภาวะที่ประชาชนหมดศรัทธากับสถาบันการเมืองต่างๆ

เมื่อประชาชนหมดศรัทธากับความยุติธรรม สังคมจะล่มสลาย

ความยุติธรรมคือที่พักพิงสุดท้ายของประชาชน

การเอากระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ หรือไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในวันที่ประชาชนไร้สิ้นความหวัง แผ่นดินจะเดือดดาล จึงไม่อยากให้สังคมไปถึงจุดนั้น

ดังนั้น เรื่องนี้ต้องกลับมาที่รัฐบาลว่าจะกล้าจริงใจเอาคนผิดมาลงโทษหรือไม่

วันพุธที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

ว่าตนเองได้สั่งติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและเห็นควรต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจนเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการและศาล

ส่วนที่มีการเชื่อมโยงกรณีบอส อยู่วิทยา รอดพ้นคดี กับการบริจาคเงิน 300 ล้านบาทให้รัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกัน คนละเรื่อง

“ยืนยันไม่เคยเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น 5 ปีที่ผ่านมาผมไม่เคยเสียหายเรื่องเหล่านี้ จึงขอให้ความเชื่อมั่น จะพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ ทั้งหมด ทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้” นายกฯ กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงตามสไตล์ว่า ตนเองและรัฐบาลไม่รู้จักบอส อยู่วิทยา เป็นการส่วนตัว

ส่วนข้อสังเกตที่ว่า “จุดเปลี่ยน” ของคดี อยู่ที่กรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุครัฐบาล คสช.นั้น พล.อ.ประวิตรระบุ กรรมาธิการไม่มีอำนาจชี้นำหรือชี้ขาดเรื่องนี้ตามที่ถูกเชื่อมโยงถึงแต่อย่างใด

ส่วนที่มีชื่อ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีตสมาชิก สนช. น้องชายของ พล.อ.ประวิตรเป็นประธานกรรมาธิการชุดดังกล่าว พล.อ.ประวิตรยืนยันตระกูลของตนเองไม่รู้จักกับตระกูลอยู่วิทยา ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมาขอความช่วยเหลืออะไร

เช่นเดียวกับกรณีตระกูลอยู่วิทยา บริจาคเงินให้รัฐบาล 300 ล้านบาท

“ก็ไม่มีอะไร ให้ว่าไปตามขั้นตอน” พล.อ.ประวิตรกล่าว

จากนี้จึงต้องจับตาถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงของทั้งอัยการ ตำรวจ และรัฐบาลในการสร้างความกระจ่างให้สังคม

เพื่อเรียกคืนศรัทธาจากประชาชน

โดยไม่ปล่อยให้คดี “บอส อยู่วิทยา” ลุกลามกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว