กาแฟดำ | Mindset คือ เม็ดทราย

สุทธิชัย หยุ่น

ผมอ่านหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับ “mindset” ซึ่งยังหาคำแปลภาษาไทยที่ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษไม่ได้ตรงใจผมเท่าไหร่นัก

รู้ว่ามันคืออะไร แต่ไม่รู้จะใช้ภาษาพื้นถิ่นของเราคำไหนที่เอ่ยออกมาแล้ว ผู้คนร้อง “อ๋อ”

แต่เรื่อง mindset ไม่ใช่เรื่อง “อ๋อ” กันได้ง่ายๆ

เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นนามธรรมผสมรูปธรรมไม่น้อย ไม่แน่ใจว่ากี่ส่วนเป็นนามธรรม และอีกกี่ส่วนเป็นรูปธรรม

รู้แต่เพียงว่าพอเอ่ยคำนี้ทีใด คนฟังส่วนใหญ่จะคิดว่ามันเป็นเรื่องนามธรรม เข้าใจยาก ไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน

ทั้งๆ ที่ความจริงมันเป็นเรื่องรูปธรรม เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน และกระทบโดยตรงต่อคำว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” ในอาชีพงานการและชีวิตส่วนตัวทุกเรื่อง

ผมจึงคิดเสียใหม่ว่าจะอธิบายความหมายของ mindset แบบเปรียบเปรยและโยงไปถึงเรื่องจริงในชีวิตของทุกคน

จะแปลตรงตัวว่า “วิธีคิด” ก็ไม่ตรงความหมาย

จะเรียกมันว่า “ทัศนคติ” ก็ไม่เชิง

หรือจะบอกว่ามันคือ “กระบวนทัศน์” ก็ฟังยากเกินไป

หรือมันเป็นทั้งหมดนี้ผสมกันเป็น “ท่าทีต่อชีวิต” ก็ยังไม่ใช่อีกนั่นแหละ

บ่อยครั้งจึงต้องเรียกทับศัพท์ว่า “มายด์เซ็ต”

Mindset สำหรับผมคือ “เม็ดทราย”

วาดภาพเม็ดทรายริมชายหาดที่วางเรียงกันแล้วเป็นผืนใหญ่กว้างขวาง คลื่นซัดมาแรงเม็ดทรายก็ไม่หวั่น มันผสมกลมกลืนกับธรรมชาติของน้ำทะเลได้เสมอ

มันไม่ยอมให้น้ำทะเลซัดพาให้หายไปจนหมดสภาพ

หากมอง Mindset เป็นลบ มันหลุดเข้าไปในรองเท้าเรา จะเป็นเรื่องเกะกะ สร้างความรำคาญ และทำให้เดินเหินลำบาก

เหมือนคนมีวิธีคิดต่อชีวิตเป็นลบ เห็นอะไรปฏิเสธไว้ก่อน กลัวไว้ก่อน คิดว่าทำไม่ได้ คิดว่าจะล้มเหลว เพราะมีทัศนคติที่ถูกตีกรอบตายตัว อะไรที่ออกนอกกรอบคิดแบบเดิมถือว่าผิดหมด ปฏิเสธหมด

บางคนเรียกมันว่า Fixed Mindset

แต่หากมอง Mindset ด้านบวกหรือ Learning Mindset หรือ Growth Mindset มันคือ “เม็ดทราย” ที่เมื่อรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นแล้วสามารถสร้างตึกรามบ้านช่องใหญ่โตอย่างน่ามหัศจรรย์

คิดแบบ “เติบโต” กับแบบ “ตายตัว” เหมือนฟ้ากับเหวเลยทีเดียว

ความสำเร็จหรือความล้มเหลวอยู่ตรงพลิกวิธีคิดจาก “ตายตัว” เป็น “เติบโต” จริงๆ

นิทานเรื่อง “ช่างโบกปูน” 3 คนยังสามารถนำมาเล่าขานเพื่อตอกย้ำความแตกต่างของ “มายด์เซ็ต” นิดเดียวแบ่งแยกระหว่างความก้าวหน้ากับความล้าหลังได้ชัดเจนมาก

ชายคนหนึ่งเดินไปพบช่างโบกปูน ณ ไซต์ก่อสร้างแห่งหนึ่ง เขาถามคนแรกว่ากำลังทำอะไรอยู่ ได้รับคำตอบว่า

“ผมกำลังเรียงอิฐอยู่”

ถามคนที่สอง คำตอบคือ

“ผมกำลังก่อกำแพง”

เดินไปถามคนที่สามว่ากำลังทำอะไร ได้รับคำตอบเสียงดังและภาคภูมิใจว่า

“ผมกำลังสร้างโบสถ์ที่สวยที่สุดของเมืองนี้”

ทั้งสามคนทำงานเดียวกัน ที่เดียวกัน โครงการเดียวกัน แต่ต่างกันตรง “มายด์เซ็ต” เท่านั้น

เป็นคนละเรื่องคนละราวโดยสิ้นเชิง

หนังสือหลายเล่มที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้จะบอกเราว่าการแบบเติบโตเชื่อว่าไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะอย่างไร ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่เสมอ

ตรงกันข้ามคนที่คิดแบบตายตัวจะมองความล้มเหลวคือหายนะ

ขณะที่คนที่มีวิธีคิดแบบเติบโตจะมองว่ามันคือโอกาส

คนคิดแบบตายตัวบอกตัวเองว่าเกิดมาพร้อมกับความสามารถบางอย่าง และก็ขาดคุณสมบัติบางอย่าง

เพราะเชื่อว่าเมื่อเกิดมาไม่มีคุณสมบัติอย่างนั้น ยังไงๆ ก็ทำไม่ได้ เลิกคิดเลิกพยายาม เสียเวลาเปล่า

แต่คนคิดแบบเติบโตกลับไม่เชื่อเรื่อง “โชคชะตา” ที่มาพร้อมกับการเกิดมาในโลกนี้

คนอย่างนี้บอกตัวเองว่าทุกอย่างพัฒนาตนเองได้ ขอให้ขยันเรียนรู้และฝึกฝนเท่านั้น

ยังไงๆ ก็ต้องสำเร็จ…สักวันหนึ่ง

ในช่วงจังหวะของการที่ทุกอาชีพต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อตั้งรับกับ “ความป่วน” อันเกิดจากเทคโนโลยีหรือ technological disruption นั้น เรื่องสำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีด้วยซ้ำ

อีกทั้งไม่ใช่เรื่องงบประมาณ

ไม่ใช่เรื่องความพร้อมทางด้านบุคลากร

ไม่ใช่เรื่องนโยบายจากระดับผู้บริหาร

และไม่ใช่เรื่องความสามารถเฉพาะด้าน

หากแต่เป็นเรื่องของ Mindset อย่างเดียวจริงๆ

คนที่แบบเติบโตจะมีความพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา

ไม่มองว่าปัญหาเป็นอุปสรรค

แต่มองว่ามันคือความท้าทาย และสนุก

จึงตัดสินใจที่จะมุ่งมั่นพัฒนาตนเองและคนรอบข้างให้ดีขึ้น

เพราะเชื่อว่าทุกคนต่างก็เติบโตและพัฒนาขึ้นได้ทั้งนั้น

อ่านประวัติของแจ๊ก หม่า หรือสตีฟ จอบส์ จะเห็นตรงกันอย่างหนึ่งว่าคนที่ต่อสู้จนได้ชัยชนะและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งนั้นคือคนที่มี Mindset แบบเติบโต

และต้องเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วย

บางคนถึงกับประกาศว่า

“เพราะมันยาก จึงต้องทำ เพราะถ้ามันง่าย ใครๆ ก็ทำกันหมดแล้ว คงไม่ตกมาถึงเราหรอก…”

ผมถูกถามเรื่องนี้ครั้งใดก็จะยกตัวอย่างของจริงจากประสบการณ์ที่ต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อตลอดเวลา

ตั้งแต่ต้องใช้พิมพ์ดีดและตัวเรียงพิมพ์เพื่อทำหนังสือพิมพ์

ต่อมามีคอมพิวเตอร์ ต้องให้กองบรรณาธิการทั้งหมดหยุดใช้พิมพ์ดีดและฝึกใช้คอมพิวเตอร์

ต้องยุบฝ่าย “ช่างเรียง” ที่ใช้มือเรียงต้นฉบับทีละตัวด้วยอักษรตัวตะกั่วและฝึกคนที่พร้อมจะเรียนรู้มาทำงานกับวิธีทำงานใหม่

พอมีกล้องดิจิตอลก็ต้องหาทางเลิกใช้ฟิล์ม

พอมี blog และ social media ก็ต้องแนะนำ, เชิญชวนแกมบังคับให้นักข่าวหัดใช้ช่องทางใหม่ (คำว่าแพลตฟอร์มมาทีหลัง) เพื่อรายงาน, บันทึกและสื่อสารกับผู้เสพข่าวสาร

ทุกขั้นตอนเหล่านี้ล้วนท้าทาย mindset ของคนในที่ทำงานทั้งสิ้น

เป็นความท้าทายที่จะต้องให้ทุกคนออกจาก comfort zone หรือ “เขตแห่งความคุ้นเคย” เพื่อลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยต้องทำ

การปรับ mindset เริ่มจากที่เกือบทุกคนจะถามก่อนว่า

ทำไมฉันต้องปรับตัว?

ฉันปรับตัวแล้วได้อะไร?

มีอะไรรับรองไหมว่าหากฉันพยายามปรับตัวแล้ว จะประสบความสำเร็จ?

ถ้าฉันปรับตัวแล้วไม่สำเร็จ ใครจะรับผิดชอบ?

ถ้าฉันปรับตัวตามคำสั่ง รายได้จะเพิ่มขึ้นหรือไม่?

ถ้ารายได้ไม่เพิ่ม หรือตำแหน่งเหมือนเดิม ฉันจะปรับตัวไปทำไม?

คําถามไหลมาเทอย่างหนักหน่วง มีพื้นฐานจากวิธีคิดแบบเก่าที่ต่อต้านทุกสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงก่อน

บ่อยครั้งต้องถึงกับ “ลากถู” ออกจาก “เขตคุ้นเคย” กันเลยทีเดียว

ที่น่ากลัวคือวัฒนธรรมไทยจะไม่ส่งเสริมให้ผู้เห็นแย้งเหล่านี้แสดงออกอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเพื่อจะได้ตอบคำถามกันอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

ส่วนใหญ่คนมี Mindset แบบเก่าจะไม่ต่อต้านอย่างเปิดเผย หรือที่เรียกว่า “ต้านเงียบ” แต่จะบ่นพึมพำกันเอง และเกิดกระแสของ “ความเฉื่อย” ที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการปรับตัวของทั้งองค์กร

บ่อยครั้ง “สงคราม” ขององค์กรต่างๆ ที่กำลังฟันฝ่าพายุแห่ง disruption นั้นคือการทำศึกระหว่าง “มายด์เซ็ต” สองแบบนี้

หากผู้นำองค์กรไม่มีความมุ่งมั่นและเชื่อในการเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีปฏิบัติจริงก็จะพ่ายแพ้ได้อย่างง่ายดาย

เพราะในภาวะปกตินั้นมายด์เซ็ตเก่าจะชนะมายด์เซ็ตใหม่เสมอ…จึงเป็นที่มาของความล้าหลังของสังคมไทยที่ถูกแซงหน้าไปในหลายๆ ด้าน

เพราะยึดกับการ “ค่อยทำค่อยไป” ในขณะที่อัตราเร่งของความเปลี่ยนแปลงไม่อนุญาตให้เรารีๆ รอๆ หรือ “พร้อมเมื่อไหร่ค่อยมาว่ากัน”

สุดท้ายหากยังติดยึดกับ “มายด์เซ็ต” เก่าก็จะไม่มีช่วงจังหวะไหนที่จะถึงคำว่า “พร้อม”

เพราะยอมให้ “เม็ดทราย” หลุดเข้าในรองเท้า กลายเป็นสิ่งกีดขวางการเดินไปข้างหน้า

แทนที่จะให้เป็น “เม็ดทราย” ที่เป็นส่วนช่วยสร้างตึกรามบ้านช่องใหญ่โตให้กับสังคมเป็นส่วนรวม!