เศรษฐกิจ / ทองคำใกล้หลุด 3 หมื่นบาท สะท้อนเศรษฐกิจทั้งโลกทรุด?

เศรษฐกิจ

 

ทองคำใกล้หลุด 3 หมื่นบาท

สะท้อนเศรษฐกิจทั้งโลกทรุด?

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาส 2/2563 เป็นผลจากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะสุญญากาศ

ความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่งผลให้สินทรัพย์หลายอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ ได้รับความสนใจในการลงทุนสูงมาก เพราะผลตอบแทนสูงและรวดเร็วกว่าการลงทุนแบบอื่น

แต่เมื่อโควิด-19 ไม่จบง่ายๆ จึงสร้างความผันผวนให้ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบค่อนข้างลึก

ปัจจุบันดัชนีปรับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 970 จุด แต่ยังมีความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวที่ผันผวนต่อเนื่อง เพราะปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่องยังไม่สามารถคลี่คลายได้ โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ ที่พบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง

ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนที่ทวีความรุนแรง อาจส่งผลให้เกิดสงครามการค้า (เทรดวอร์) รอบใหม่ กลายเป็นปัจจัยสำคัญกดดันเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

เมื่อสินทรัพย์เสี่ยง มีความเสี่ยงในการลงทุนค่อนข้างสูง สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำจึงมีบทบาทเป็นที่ต้องการของนักลงทุนมากขึ้น เพราะทองคำถือเป็นที่หลบภัยในการลงทุน หรือเซฟ เฮฟเว่น (Safe Haven) โดยเฉพาะในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสูง ตลาดมีความกังวลสูงมาก หรือแพนิก (Panic)

ล่าสุด ราคาทองคำ ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 ทองแท่งรับซื้ออยู่ที่บาทละ 29,200 บาท ขายออกบาทละ 29,300 บาท ส่วนทองรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 28,667.56 บาท ขายออกบาทละ 29,800 บาท ถือเป็นการปรับขึ้นมายืนเหนือ 29,000 บาทครั้งแรกในรอบปี ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไร จนทำให้ราคาทองคำปรับลดลงในระหว่างทาง แต่ยังเชื่อว่าสามารถปรับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง หากมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องต่างๆ สนับสนุนแบบนี้

“ฐิภา นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (วายแอลจี) มองว่าภาพรวมราคาทองคำปรับขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทองคำสปอตปรับขึ้นผ่านระดับ 1,920 เหรียญสหรัฐ เป็นระดับสูงสุดที่ทองคำเคยขึ้นไปถึง

ทำให้ราคาทองคำขณะนี้ ถือว่าเป็นระดับสูงสุดใหม่

โดยราคาทองสปอตทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 1,976 เหรียญสหรัฐ

ราคาทองคำไทยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29,300 บาทต่อบาททองคำ

ในระยะถัดไป หากทองคำยังมีปัจจัยเสี่ยงสนับสนุนอยู่ อาจเห็นราคาพุ่งหลุด 30,000 บาทได้ แม้เบื้องต้นมองว่าช่องว่างของราคาปัจจุบันยังไกลอยู่

 

ปัจจัยสนับสนุนให้ราคาทองคำปรับขึ้นต่อเนื่องคือ ความกังวลความสัมพันธ์สหรัฐและจีน ที่สถานการณ์ล่าสุด ทางการสหรัฐมีคำสั่งให้ทางจีนปิดสถานกงสุลที่ฮิวสตันทันทีภายใน 72 ชั่วโมง ขณะที่ทางการจีนตอบกลับว่า จะปิดสถานกงสุลสหรัฐในจีนเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการตอบโต้

ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศทวีความรุนแรงและบานปลายขึ้นเรื่อยๆ โดยความสัมพันธ์ที่แย่ลงของ 2 ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบในการสร้างความกังวลให้กับตลาดต่อไปแน่นอน ทำให้ภาพความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในสหรัฐ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มอัดฉีดเงินมากขึ้นกว่านี้ได้อีก ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์น้อยลงไป ส่งผลต่อเนื่องให้ความต้องการและการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างมีความเสี่ยงในระยะยาวที่จะด้อยค่าลง การถือครองทองคำจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ลดความเสี่ยงลงได้

นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดทั่วโลกมีอัตราต่ำมาก บางประเทศการฝากเงินมีอัตราดอกเบี้ยติดลบ อาทิ ธนาคารในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และเดนมาร์ก การนำเงินฝาก นอกจากจะไม่ได้ดอกเบี้ยตอบแทนแล้ว ยังต้องเสียเงินในการเก็บรักษาเงินไว้อีก

นักลงทุนจึงต้องหาแหล่งตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ย แต่มีความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงลงทุนในทองคำ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มูลค่าไม่ผันแปรตามกาลเวลา หมายความว่าแม้ราคาจะปรับลดลงบ้าง แต่มูลค่ายังมีอยู่ไม่หายไปแน่นอน ปัจจัยทั้งหลายจึงเป็นแรงสนับสนุนให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวในแดนบวกต่อเนื่อง แม้ระหว่างทางจะเจอแรงขายทำกำไรจนราคาปรับลดลงบ้าง แต่ไม่ได้ลดลงรุนแรงแต่อย่างใด

ความต้องการถือครองทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ไม่ได้มีแค่ในส่วนของนักลงทุนเท่านั้น แต่บรรดาธนาคารกลางในแต่ละประเทศและองค์กรสำคัญในโลกที่ใช้ทองคำเป็นทุนสำรอง รวมถึงกองทุนซื้อขายทองคำที่สำคัญของโลก ยังมีความต้องการซื้อทองคำสะสมเพิ่มเติม จึงหนุนให้ทองคำขึ้นต่อไม่หยุดหย่อน

หากคิดยอดการถือครองทุนสำรองทองคำทั่วโลกจะมีจำนวน 34,859.33 ตัน แบ่งเป็นประเทศและองค์กรที่ถือครองทองคำอย่างเป็นทางการมากที่สุดในโลก 10 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 สหรัฐถือครองทองคำมากที่สุดในโลกจำนวน 8,133.5 ตัน สัดส่วนทุนสำรองทองคำเมื่อเทียบกับทุนสำรองในประเทศทั้งหมดคิดเป็น 78.3%

อันดับ 2 เยอรมนีถือครองทองคำจำนวน 3,364.2 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 74.3%

อันดับ 3 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ถือครองทองคำจำนวน 2,814 ตัน

อันดับ 4 อิตาลีถือครองทองคำจำนวน 2,451.8 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 69.5%

อันดับ 5 ฝรั่งเศสถือครองทองคำจำนวน 2,436 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 63.4%

อันดับ 6 รัสเซียถือครองทองคำจำนวน 2,299.2 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 21.1%

อันดับ 7 จีน (เฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่) ถือครองทองคำจำนวน 1,948.3 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 3.2%

อันดับ 8 สวิตเซอร์แลนด์ถือครองทองคำจำนวน 1,040.0 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 6.3%

อันดับ 9 ญี่ปุ่นถือครองทองคำจำนวน 765.2 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 2.9%

อันดับ 10 อินเดียถือครองทองคำจำนวน 641.8 ตัน มีสัดส่วนทุนสำรอง 6.8%

 

สําหรับประเทศไทยถือครองทองคำสำรองอยู่อันดับที่ 28 ของโลก มีปริมาณการถือครองจำนวน 154 ตัน คิดเป็นสัดส่วนทุนสำรอง 3.5% ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อย หากเทียบกับหลายประเทศ

หากสำรวจการถือครองทองคำของไทยจริงๆ กลับไม่ได้กระจายตัวในส่วนของนักลงทุนรายย่อยมากนัก แต่กระจุกอยู่กับนักลงทุนรายใหญ่ หรือร้านทองเท่านั้น

เนื่องจากทองคำถือเป็นการลงทุนที่มีราคาสูง ประกอบกับประชากรในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ หรือประชาชนฐานรากในสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีกำลังมากพอในการลงทุนทองคำ แม้ภาวะเศรษฐกิจจะมีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงในการหาเงินให้พอใช้จ่ายในแต่ละวันกลับมีมากกว่า

            เรียกได้ว่าทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในหมู่นักลงทุนที่มีกำลังทรัพย์จริงๆ เท่านั้น!!