เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | เด็ดปีกโนรา

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ร่วมขบวนไปพัทลุง ถือโอกาสปลีกตัวนัดพบคณะโนราและหนังตะลุงในพื้นถิ่นพื้นที่ ซึ่งวันนั้นมากันพร้อมหน้าพร้อมตา คือโนราหกคณะ หนังตะลุงหกคณะ

พิเศษคือมี “นายหนัง” ตัวน้อย ด.ช.นวพัฒน์ เจริญสุข เรียนอยู่ชั้น ป.4 มาเล่นหนังตะลุงหน้าจอ ทั้งเชิดทั้งขับบทให้ฟังอย่างออกรส

พิเศษยิ่งขึ้นยังมีโนราเด็กคือ ด.ญ.พลับพลึง ทอแสงจันทร์ มารำร่ายโนรา พร้อมวงดนตรี ปี่ กลอง ฆ้องโหม่ง ครบวงครบเครื่องกระหึ่มใจดีจริง

พัทลุงนั้นดูจะเป็นเมืองหลวงของ “โนราหนังลุง” โดยแท้

แต่วันนี้หาโรงเล่นหนังรำโนรายากนักแล้ว

“ก็พอมีอยู่ที่เขาหาหนังไปเล่นแก้บน หรือบางที่มีงานศพที่คนตายเขาสั่งให้ลูกหลานหามาเล่นงาน”

นายหนังคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

โนรานั้นจะรวมตัวที่วัดท่าแค

“เดือนสิงหาคมนี้จะมีงานโนราโรงครูที่วัดท่าแค มีประจำทุกปี”

ครูโนราบอกเล่าบอกกล่าว

“มีถ่ายทอดให้ลูกหลานกันอย่างไรล่ะ”

“เคยมีศูนย์ฝึกหนังตะลุงอยู่นะ ได้งบฯ จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หนึ่งล้านบาท สิบหกศูนย์ฝึก หักไปหักมาได้ศูนย์ละห้าหมื่น”

ดูจะเลิกรากันไป

นี้คือสภาพการณ์ของคณะ “หนังลุงโนรา” ของเมืองพัทลุง ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงของโนราหนังลุง”

แต่ผลที่ได้จากศูนย์ฝึกหนังตะลุงคือ เวลานี้มีนักเรียนเป็นนายหนังอยู่เกือบทุกโรงเรียน

ดังนายหนังตัวน้อยประถมสี่คือ ด.ช.นวพัฒน์ เจริญสุข ที่มาเล่นให้ชมเป็นตัวอย่างนั้น

หนังลุง โนรา และเพลงบอกนั้น เป็นอัจฉริยะของศิลปะการแสดงพื้นบ้านประจำภาคใต้ หรือ “ปักษ์ใต้บ้านเรา”

เป็นจิตวิญญาณของแผ่นดินโดยแท้

ภาษาสำเนียงบอกความรู้สึกนึกคิดและภูมิปัญญา ท่วงท่าทำนองของกลอนขับและดนตรีนั้นคือวิถีชีวิตของคนใต้โดยแท้

เช่นเดียวกับโนรา ที่อลังการด้วยเครื่องทรงและลีลาท่ารำอันเป็นเอกลักษณ์ราวนกทะเลเริงคลื่น

สิ่งเหล่านี้เคยยิ่งใหญ่สะกดจิตสะกดใจผู้คนที่ได้ชม แม้วันนี้จะคงมีอยู่ แต่ก็เหมือนดวงเทียนที่สะบัดเปลวอยู่กลางลมแรง

ต้องการมือป้องประคองเทียน

ต้องการเวทีแสดง ทั้งหนังตะลุงและโนรา

ต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีศิลปินผู้สืบทรงจิตวิญญาณชาวใต้ให้คืนกลับมาเหมือนอดีต

อย่างที่เมืองตรังเคยมีสำนวนเอ่ยถึงเอกลักษณ์ของคนตรังว่า

“มาจากตรังไม่หนังก็โนรา”

ไม่เชื่อว่าสภาพการณ์ที่เกี่ยวกับศิลปะและศิลปินพื้นบ้านอันมีอยู่ทุกภาคถิ่นนี้เสื่อมลงเพราะไม่เป็นที่นิยมของยุคสมัย

แต่เชื่อว่าสภาพการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเพราะขาดการสนับสนุนส่งเสริมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือหาไม่ก็ถูกทำให้ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมามีโอกาสพบกับศิลปินพื้นบ้านทุกภาคที่ได้รับเชิญมาแสดงผ่านสื่อ “ออนไลน์” ซึ่งนี่เป็นมิติใหม่ เวทีใหม่ของศิลปะพื้นบ้านน่าสนใจยิ่ง ได้รับฟังพ่อเพลงโคราชระบายว่า

“ต้องเช่าที่แสดง ก็ที่ของทางการแหละเดือนละสามหมื่น ยังมีค่าโน่นนี่อีกปีละเป็นแสน อยู่ไม่ได้แล้ว”

เพลงโคราชเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวโคราชโดยแท้ มักเล่นอยู่แถวลานอนุสาวรีย์ย่าโม

ซึ่งก็ต้องดินรนหาพื้นที่แสดงอีกเช่นกัน

นี้คือชะตากรรมหรือยถากรรมของศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ประสบอยู่ทุกภาคทุกถิ่น ซึ่งล้วนแต่ต้องกระเสือกกระสนช่วยตัวเองให้ได้ ถ้าต้องการจะอยู่รอด

ศิลปินแท้นั้นยากจะอยู่รอดถ้าไม่มีผู้ช่วยเหลือ เพราะการรักษาเพื่อจะ “สืบทรง” ศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์จำเพาะตัวไว้นั้นหนักหนาสาหัสจนเกินกว่าจะปลีกเวลามาทำมาค้าขาย หรือทำธุรกิจใดๆ กระทั่งแค่จะทำมาหากินก็ยากแสนเข็ญนักแล้ว

ขอยกรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 ย้ำซ้ำอีกทีว่า

“รัฐต้อง (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”

นี่คือ “หน้าที่ของรัฐ”

๐ ว่าขอไหว้ครูเอยครูสอน สะเดื้องกรต่อง่า

ทั้งโทนทับกรับฉิ่ง ปี่เรไรหริ่งเชิญโนรา

สรวมกรอบครอบเทริดน้อย ลูกปัดห้อยร้อยแล้วผูกผ้า

นวยนาดวาดลีลา วาดท่าเก็บพวงดอกไม้

ตั้งท่าพระรามข้ามสมุทร พญาครุฑเวียนว่อนอยู่ไหวไหว

โนราในร่มไม้ รำร่ายให้ชมให้เชย

วาดแขนแอ่นอ่อน พิสมัยเคียงหมอนน้องเอย

เป็นปราสาทราชวัง อยู่รั้งไม่ราไม่แรมเลย

ร่วมเรียงหมอนน้องเอย น้องอย่าอางขนาง

โน่นแน่ะพระจันทร์ทรงกลด หมดจดเดือนดาววาวสว่าง

น้อยเอ๋ยอย่าอางขนาง เอาสนามต่างเขนยเคยนอน

พ่อโนราเล่าเรื่อง ครบเรื่องจังหวะวอน

โหน่งเหน่งฉิ่งฉับ ลูกคู่ก็รับกลอน

ครบเครื่องจังหวะวอน ใจโนรารอนรอนเสียแล้วเอย