จิตต์สุภา ฉิน : อีกหนึ่งรอยเท้าที่เราต้องลด

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ฉันรู้สึกว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องยากเหลือเกิน

จากเดิมที่เรารณรงค์เรื่องลดการใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้งและกำลังเป็นไปได้ด้วยดี ตอนนี้พลาสติกประเภทนี้กลับถูกนำมาใช้เยอะกว่าเดิมเสียอีก

ร้านอาหารแทบจะทุกร้านต้องห่อจาน ชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ มาในพลาสติก

ขณะที่ร้านขายเครื่องดื่มต่างๆ ก็ไม่อนุญาตให้ลูกค้านำแก้วของตัวเองมาอีกต่อไป

ซึ่งดูเหมือนกับว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการงดใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็นนั้นมาพร้อมกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทุลักทุเล

สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงการระบาดของโรคก็คือปริมาณการใช้งานอุปกรณ์ไอทีและอินเตอร์เน็ต เมื่อเราไม่สามารถพบปะพูดคุยทำงานอยู่ในที่ที่เดียวกันได้ คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนของเราก็เลยต้องถูกเปิดเอาไว้ตลอดเวลาเพื่อที่จะพร้อมทำงานแบบระยะไกลและพร้อมสำหรับการวิดีโอคอลล์ตลอดเวลา

ซึ่งสิ่งที่หลายๆ คนไม่ทันได้คาดคิดก็คือการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตก็เป็นการเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเหมือนกัน

 

เรามักจะได้ยินคำว่า digital footprint ซึ่งหมายถึงร่องรอยทางดิจิตอลที่เราทิ้งเอาไว้ทุกๆ ครั้งที่เราใช้งานอินเตอร์เน็ต

คล้ายๆ กับรอยเท้าที่ไม่ว่าเราจะเดินไปที่ไหน ท่องเว็บอะไร โพสต์อะไร ก็จะเหลือเป็นทางยาวให้คนอื่นสามารถเดินตามรอยได้ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

แต่อีกคำหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ digital carbon footprint ซึ่งเป็นการพูดถึงรอยเท้าคาร์บอนเพื่อสื่อถึงว่าแต่ละกิจกรรมที่เราทำในโลกดิจิตอลนั้นได้ทิ้งคาร์บอนอะไรเอาไว้บ้าง

การถ่ายโอนข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ตเป็นกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคิดเป็น 4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกระบวนการถ่ายโอนข้อมูลเหล่านั้นต้องใช้เซิร์ฟเวอร์จำนวนหลายล้านที่ติดตั้งอยู่ตามศูนย์ข้อมูลหรือ data centers ทั่วโลก

และเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ก็ต้องใช้พลังงานในการทำงาน

 

ดังนั้น ทุกๆ ครั้งที่เราทำกิจกรรมบนโลกดิจิตอล อย่างการเข้าใช้อินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย ก็จะมีคาร์บอนจำนวนน้อยถูกปล่อยออกมา ใช้คนเดียวอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่เมื่อคิดรวมๆ กันจากการใช้งานของคนทั่วโลกแล้วก็จะเป็นตัวเลขที่น่าสะพรึงมากทีเดียว

เมื่อปี 2019 มีการรวบรวมตัวเลขมาทำเป็นกราฟให้ดูว่าภายใน 1 นาที มีข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นบนอินเตอร์เน็ตมากน้อยแค่ไหน ตัวเลขที่ได้มามันมากเสียจนเรานึกภาพในหัวไม่ออก อย่างเช่น ทุกๆ 1 นาที คนทั่วโลกจะไถฟีด Instagram อยู่ที่ 3.8 ล้านครั้ง โพสต์ภาพใหม่ 46,200 ภาพ

ทุกๆ 1 นาที มีคนใช้ Google ในการเสิร์ช 3.8 ล้านครั้ง

ทุกๆ 1 นาที มีคนล็อกอินเข้าใช้งาน Facebook 1 ล้านครั้ง

ทุกๆ 1 นาที มีคนเข้าไปดูหนังและซีรี่ส์บน Netflix รวมกัน 694,444 ชั่วโมง

ถ้าจะดูว่าแต่ละกิจกรรมใช้พลังงานแค่ไหน ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่คาดประมาณตัวเลขให้แล้ว อย่างเช่น การเสิร์ชแต่ละครั้งจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1.45 กรัม

ซึ่งถ้าเราใช้เสิร์ชเอนจิ้นค้นหาข้อมูลวันละ 50 ครั้ง ก็จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 26 กรัมต่อปีเลยทีเดียว

เวลาที่บริษัทเทคโนโลยีบอกเราว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกเก็บเอาไว้หรือประมวลผลบนคลาวด์” ก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่ามันคือปุยเมฆที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า เป็นเหมือนอะไรบางอย่างที่จับต้องไม่ได้ที่คอยเก็บข้อมูลของเราเอาไว้

แต่อันที่จริงแล้วคลาวด์ที่ว่าก็คือเซิร์ฟเวอร์ปริมาณมหาศาลที่ต้องทำงานหนักๆ นั่นแหละ เมื่อถูกเรียกว่าคลาวด์ก็อาจจะทำให้เราเผลอลืมนึกไปว่ามันคือของที่มีอยู่จริง สัมผัสได้จริง และใช้พลังงานจริง

 

หากเราต้องการลด digital carbon footprint ของเราลงก็มีหลายวิธีที่พอจะทำได้ บางวิธีก็แทบจะไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรให้กับการใช้งานคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตของเราด้วยซ้ำ แค่เรายังไม่ได้ตระหนักว่า อ๋อ ทำแบบนี้แล้วจะช่วยลดคาร์บอนได้ เท่านั้นเอง

วิธีแรกคือ ไม่เปิดคอมพิวเตอร์ไว้ใน sleep mode นี่เป็นสิ่งแรกที่เราพอจะทำได้ คือปิดคอมพิวเตอร์ทุกครั้งหลังจากใช้งานเสร็จ เพราะการเปิด sleep mode เอาไว้ก็คือการใช้พลังงานอยู่ดีถึงแม้ว่าจะเป็นปริมาณที่ไม่เยอะ การลดความสว่างของหน้าจอลงก็ช่วยได้เช่นกัน

การสตรีมมิ่งไม่ว่าจะเป็นหนังหรือเพลงได้กลายเป็นรูปแบบการเสพความบันเทิงยอดฮิตไปแล้ว ซึ่งวิธีที่สองระบุเอาไว้ว่า ถ้าทำได้ การดาวน์โหลดไฟล์มาเลยก็จะเป็นการประหยัดพลังงานมากกว่าการสตรีม ประหยัดกว่านั้นถ้าหากเลือกโหลดไฟล์จากเซิร์ฟเวอร์ในท้องถิ่นแทนที่จะเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ไกล

ซึ่งแนวคิดเดียวกันนี้ก็นำมาใช้กับการเก็บข้อมูลด้วยเหมือนกัน คือเก็บข้อมูลไว้ใกล้ตัว อย่างการเก็บใส่ฮาร์ดดิสก์ก็จะประหยัดพลังงานกว่าเก็บไว้บนคลาวด์

 

การเปลี่ยนวิธีใช้งานอีเมลก็เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยได้ อย่างการจำกัดจำนวนอีเมลที่ส่ง โดยเฉพาะการส่งอีเมลหาผู้รับจำนวนมากๆ และการแนบไฟล์ที่มีขนาดเล็กลง

บางคนใช้อินเตอร์เน็ตเบราเซอร์และติดนิสัยการเปิดแท็บจำนวนมากๆ เพราะไม่อยากปิดกลัวว่าจะกลับมาหาไม่เจอ จำนวนแท็บมากๆ เหล่านี้หากเราปิดให้เหลือน้อยลงก็จะช่วยประหยัดพลังงานได้ ถ้ากลัวจะหาไม่เจอก็แค่คั่นบุ๊กมาร์กเอาไว้ อะไรที่เข้าถึงบ่อยๆ ก็บุ๊กมาร์กไว้จะได้ไม่ต้องคอยเสิร์ชหาใหม่

ท้ายที่สุดก็คือการหันไปใช้ตัวเลือกเสิร์ชเอนจิ้นอื่นๆ อย่างเช่น Ecosia ที่ประกาศว่าบริจาค 80% ของกำไรที่ได้ให้กับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ และเคลมว่าปลูกมาแล้วกว่า 100 ล้านต้น

ลองดูนะคะว่ามีอันไหนบ้างที่ทำได้จริง หรือทำแล้วไม่รบกวนรูปแบบการทำงานของเรามากนัก เพื่อลด digital carbon footprint ของเราให้ได้มากที่สุดค่ะ