นักเลงใหญ่ทุบโต๊ะ-กินรวบ เจอกลยุทธ์วอล์กเอาต์ ทำ กมธ.งบฯ ล่ม-สะเทือน รบ.

ผ่านมาไม่ทันจะได้ซักกี่น้ำ งานวัดพลังระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านจับมือกันลอยแพพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ให้โดดเดี่ยวอยู่ในห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพียงลำพัง ในขณะที่มีวาระพิจารณาการจัดสรรงบประมาณในส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนทำให้องค์ประชุมล่ม ไม่สามารถประชุมต่อได้

จนทำให้นายวราเทพ รัตนากร รองประธานกรรมาธิการคนที่ 3 ที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา

จากองค์ประชุมทั้งหมด 72 คน เหลือเพียง 19 คน โดย 19 คนนี้เป็นสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐและของรัฐบาลบางส่วน โดยองค์ประชุมจะต้องมีไม่น้อยกว่า 24 คน จึงจะสามารถประชุมต่อไปได้

ในขณะที่กรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย เดินออกจากห้องประชุม และพากันยืนอยู่หน้าห้องโดยไม่เข้าร่วมประชุม

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยื่นใบลาออกจากประธานกรรมาธิการงบประมาณตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปพร้อมกับแก๊ง 4 กุมาร ทำให้นายวราเทพต้องมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทน

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์องค์ประชุมล่ม เนื่องจากนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุททัยธานี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการคนที่ 12 ได้เสนอนับองค์ประชุม เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจแนวทางการทำงานของกรรมาธิการซีกพลังประชารัฐ เพราะความไม่ชัดเจนในการทำงาน

ขณะที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ระบุถึงสาเหตุที่องค์ประชุมล่ม เนื่องจากกรรมาธิการไม่มีการพูดคุยอะไรกันเลย ทำให้ไม่มีใครที่จะตัดสินใจในการทำงานของกรรมาธิการได้

โดยเฉพาะนายวราเทพที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ตัดสินใจอะไรไม่ได้ ต้องฟังเสียงจากคนข้างนอก

ดังนั้น หากสุดท้ายยังไม่มีใครตัดสินเรื่องต่างๆ ในการทำหน้าที่ในกรรมาธิการได้ ก็จะส่งผลให้กรรมาธิการชุดนี้เดินหน้าทำงานต่อไปไม่ได้

ด้านนายวราเทพออกมาตอบโต้นายวรวัจน์ว่า การประชุม กมธ.งบฯ ไม่มีการกำหนดกรอบการพิจารณานั้น ยืนยันว่าไม่จริง กมธ.มีการกำหนดกรอบและแผนงานชัดเจนว่า หน่วยงานใดจะมาชี้แจงเมื่อใด แต่ประธานที่ประชุมไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไรได้ มีเพียงแค่ทำหน้าที่ตามมติที่ประชุมและควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับ และไม่ได้มีการรอคำสั่งจากภายนอกอย่างที่กล่าวหา นายวรวัจน์ชอบนำความเห็นส่วนตัวไปอ้างเป็นมติที่ประชุม ถ้า กมธ.ไม่เห็นด้วยมักขู่จะวอล์กเอาต์

แต่ในครั้งนี้การวอล์กเอาต์หาเกิดจากฝ่ายค้านไม่

นี่จึงนับเป็นครั้งแรกของการประชุมกรรมาธิการงบประมาณที่ฝ่ายรัฐบาลเองเป็นฝ่ายขอให้นับองค์ประชุม

 

ว่ากันว่าการงัดข้อครั้งนี้หลักใหญ่ใจความมาจากการที่พรรคพลังประชารัฐยึดเก้าอี้ประธานอนุกรรมาธิการทั้ง 7 คณะไว้เพียงพรรคเดียว

โดยอ้างว่าเมื่อปี 2563 พรรคพลังประชารัฐก็ยึดเก้าอี้ประธานอนุกรรมาธิการไว้ทั้งหมด ไม่เห็นจะมีใครมีปัญหาอะไร

โดยที่ประชุมไม่เห็นด้วย เพราะพรรคเพื่อไทยมีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ก็ควรจะได้ประธานอนุกรรมาธิการด้วยเช่นกัน

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยก็ควรได้อย่างน้อยพรรคละ 1 ประธานอนุกรรมาธิการ

ทำให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานกรรมาธิการคนที่ 1 ออกลูกนักเลง ทุบโต๊ะอ้างความเป็นพรรคแกนนำขอกินรวบประธานอนุกรรมาธิการทั้ง 7 คณะ

สร้างความไม่พอใจให้กับที่ประชุม จนเป็นสาเหตุให้กรรมาธิการในซีกของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยกรรมาธิการซีกฝ่ายค้านทั้งหมด พร้อมใจกันลุกออกจากห้องประชุมทันที และมีการพักการประชุม 10 นาที

เมื่อกลับเข้ามาสู่การประชุม กรรมาธิการส่วนใหญ่ยังยืนอยู่หน้าห้องประชุม โดยไม่เข้าร่วมประชุม นายชาดาจึงขอนับองค์ประชุม จนเป็นเหตุให้องค์ประชุมล่มในที่สุด

ในขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์การันตีเรื่องที่เกิดขึ้นว่า เท่าที่ทราบเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม เป็นเรื่องของการตั้งอนุกรรมาธิการด้านต่างๆ จากที่นายชาดารายงานให้ฟัง เห็นว่าจะมีการมอบหมายตำแหน่งให้เพียงกลุ่มเดียว แต่นี่เป็นระบอบประชาธิปไตย จะต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน เชื่อถือซึ่งกันและกัน ถ้าทำงานให้กับประชาชนร่วมกัน ใครจะมารวบและขอทำคนเดียวคงไม่ได้ เพราะว่าเราอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ เพื่อทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ส่วนมีการพูดคุยเรื่องนี้กันแล้วหรือไม่นั้น นายอนุทินบอกว่า “ก็น่าจะโอเคแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน จะมาทุบโต๊ะกันก็คงไม่ใช่”

เมื่อถูกถามว่า จะกระทบความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทินระบุว่า ไม่กระทบ เพราะมองว่าเป็นเรื่องแค่นี้ เหมือนลิ้นกับฟัน ซึ่งก็ต้องมีบ้างที่เห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องถอยหลังออกมา และมาทำความตกลงกัน ถ้าเข้าใจก็เดินหน้าต่อไป ซึ่งจะให้หวานแหววกันไปตลอดก็คงไม่ใช่ แบบนี้ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย การให้เกียรติซึ่งกันและกัน

นี่เป็นระบอบประชาธิปไตย ต้องรับฟังทุกฝ่าย

 

จากเหตุที่เกิดขึ้นทำให้เห็นความกินแหนงแคลงใจของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะไม่ทนให้พรรคแกนนำกดหัวกินรวบอยู่ฝ่ายเดียว และเป็นการแสดงออกให้เห็นได้ชัดว่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่มีพรรคร่วมรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐก็ไม่สามารถอยู่ได้เช่นกัน

สะท้อนไปถึงการประชุมงบประมาณในวาระ 2-3 ที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 16-17 กันยายน หลังจากกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 105 วัน ท่ามกลางกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะสั่นคลอนไปถึงงบประมาณที่จะผ่านหรือไม่ผ่านสภาได้เช่นกัน หากพรรคแกนนำยังไม่เห็นหัวพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

เพราะหากงบประมาณไม่ผ่าน นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากในช่วงปลายปีงบประมาณ เพราะไม่มีพรรคการเมืองไหนที่พร้อมจะเลือกตั้งในช่วงเวลานี้

ดังนั้น การที่ที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณล่มก็ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีของรัฐบาล

ทำให้ “รัฐบาลลุงตู่” ร้อนๆ หนาวๆ

การปรับ ครม.ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐจะต้องไม่มีการแตะต้องโควต้าของพรรคร่วม อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวไว้ และนั่นถือเป็นสัญญาลูกผู้ชาย

แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามมีการแตะต้องโควต้าพรรคร่วมโดยการยึดคืนเก้าอี้บางกระทรวง รับรองได้ว่าประชุมงบประมาณในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ม้วนเสื่อกลับบ้านได้เลย

นี่จึงเป็นการส่งเสียงขู่เบาๆ จากพรรคร่วมไปถึงผู้นำรัฐบาลให้ปรามคนของตัวเอง…