ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ | อยุธยา แขกจาม กับคูคลอง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

จดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับพระยาอนุมานราชธน ที่มีรวมพิมพ์ในชื่อ บันทึกความรู้เรื่องต่างๆ มีตอนหนึ่งอธิบายถึงคำว่า “เจ๊ก” กับ “แขก”

เจ้าคุณอนุมานฯ อธิบายว่า ทั้งสองคำนี้เป็นคำเดียวกัน แต่ออกเสียงต่างกันตามภาษาถิ่น

คำว่า “แขก” ปรากฏในภาษาไทยใหญ่แปลว่า “คนอื่น” ออกเสียงตามสำเนียงจีนแต้จิ๋วว่า “เค็ก” หรือ “แคะ” คำเดียวกับคำว่าจีนแคะ สำเนียงชาวเซี่ยงไฮ้ออกเสียงแคะว่า “เจี๊ยก” ใกล้กับคำว่า “เจ๊ก” เช่นเดียวกับในภาษาพม่าที่เรียกพวก “จีน” ว่า “เตยีก” เสียง “ตย” ในภาษาพม่าใกล้เสียง “จ” ในภาษาไทย ส่วนพวกไทยทางเหนือของสยามเรียกทั้ง “จีน” และ “เจ๊ก”

ถ้าเชื่อตามที่เจ้าคุณอนุมานฯ อธิบายไว้ทั้งคำว่า “เจ๊ก” และคำว่า “แขก” ก็แปลว่า “คนอื่น” เหมือนกัน

ทั้งเจ๊ก ทั้งแขก เข้ามาค้าขายในอยุธยา คำว่า เจ๊ก ใช้เรียกกลุ่มวัฒนธรรมจีน ส่วนคำว่า แขก ใช้เรียกกลุ่มวัฒนธรรมอิสลาม แต่คำหลังดูจะใช้เรียกปนๆ กันกับพวกพราหมณ์ฮินดู หรือวัฒนธรรมในศาสนาอื่นที่ใกล้เคียงกันด้วย

คลองคูจาม ย่านสำเภาล่ม ใกล้วัดพุทไธสวรรย์ มีถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาตัดผ่าน (ซ้าย) มีถนนลาดยางตัดขนานคลองคูจามตลอดสายลงไปทางทิศใต้เกือบถึงคลองตะเคียน (ภาพและคำบรรยายจาก: http://www.matichon.co.th/news/55071)

“แขก” กลุ่มหนึ่งที่มีอยู่มากในอยุธยาครั้งกรุงเก่าคือ “แขกจาม”

ดั้งเดิมพวกแขกจามมีศูนย์กลางอยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม สืบเนื่องมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เรียกวัฒนธรรมซาหวิ่น เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์เมื่อราว พ.ศ.1000 พวกจามยอมรับนับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู มีพุทธอยู่บ้างกระเซ็นกระสาย ทำการค้าอยู่บนเส้นทางการค้าโลกข้ามสมุทร พูดภาษาตระกูลมลายู เหมือนกับทางปักษ์ใต้เรื่อยไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย หลัง พ.ศ.1800

เมื่อกลุ่มวัฒนธรรมมลายูหันมานับถือศาสนาอิสลาม พวกจามก็กลายไปเป็นมุสลิมด้วย พร้อมกันกับที่ศูนย์กลางความเจริญของพวกจามล่มสลายลง พวกจามก็แพร่กระจายกลายไปเป็นชนกลุ่มน้อยของกลุ่มวัฒนธรรมอื่น

ชาวอยุธยารู้จักพวกจามเมื่อนับถือพระมะหะหมัดแล้ว จึงถือว่า “จาม” เป็นพวก “แขก” และใช้พวกจามตามถนัด มีกรม “อาษาจาม” อยู่ในพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง กฎหมายตราสามดวงครั้งกรุงเก่า

ชุมชนของพวกจามในอยุธยายังมีหลักฐานว่าเป็นชุมชนใหญ่ มีคลองชื่อ “ปทาคูจาม” ทุกวันนี้ยังมีหมู่บ้านแขกจามอยู่บริเวณใกล้คลองคูจามที่ว่า

พระนครศรีอยุธยาที่คลาคล่ำไปด้วยเรือสินค้าจากต่างประเทศ รูปเขียนฝีมือของ อแล็ง มาเนอสซ็อง-มัลเลต์ (Alain Manesson-Mallet) ช่างทำแผนที่ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2226 ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์

อยุธยาซึ่งเป็นเมืองน้ำ มีลักษณะเป็นเกาะ เพราะมีแม่น้ำไหลล้อมรอบทุกด้าน เป็นศูนย์รวมของแม่น้ำหลายสาย ย่อมหนีไม่พ้นชะตากรรมในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยเฉพาะในปีที่มีน้ำท่วมมากกว่าปกติ ดังปรากฏเป็นข่าวทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤติอุทกภัย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันออก แม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือ หรือแม่น้ำป่าสักทางทิศตะวันตก

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม หนทางที่ใช้แก้ปัญหาคือ “การขุดคลอง” เพื่อระบายน้ำออกไปให้เร็วที่สุด

จากหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” ของ “ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช” ซึ่งมีภาพเขียนของชาวต่างชาติมากมายเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้ จะพบและบรรยายไว้ว่า “คลองในพระนครศรีอยุธยาตัดไขว้ไปมาเหมือนตาราง มีสะพานข้ามคลอง”

ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า แต่เดิมในเกาะเมืองอยุธยาคงมีคลองอยู่บ้างแล้ว แต่อาจจะไม่มาก และไม่ได้ตัดเป็นเส้นตรง เป็นระเบียบ แต่เมื่อชุมชนบนเกาะเมืองขยายตัวขึ้นน ทางราชการจึงขุดคลองที่มีอยู่เดิม รวมทั้งขุดคลองใหม่ขึ้นมา ทั้งแนวตะวันตก-ตะวันออก แนวเหนือ-ใต้ สลับไขว้ไปมามากมาย คล้ายตารางหมากรุก

ความสำคัญนี้นอกจากจะใช้เพื่อการระบายน้ำในฤดูน้ำหลากแล้ว ในหน้าแล้งก็ใช้ในการชักน้ำเข้ามาใช้ในเมือง และที่สำคัญคือใช้ในการคมนาคมด้วย

ตลาดน้ำยุคอยุธยามีลักษณะเดียวกับเรือนแพและตลาดแพที่อยุธยา ยุครัตนโกสินทร์ (ภาพถ่ายเก่า สมัยรัชกาลที่ 5)

ปริมาณของคลองที่มีมากมายนี่เอง ทำให้ชาวยุโรปที่เข้ามาเห็นได้เปรียบเทียบ “อยุธยา” ไว้ว่า เหมือนกับเมือง “เวนิส” อีกแห่งหนึ่ง เช่นในหนังสือ Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam ของ นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) นักเดินทางชาวฝรั่งเศส ที่ติดตามคณะเผยแผ่ศาสนามาถึงสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2231 เป็นต้น

แต่ในเมื่อโลกหมุนไปข้างหน้าทุกขณะ ทุกสิ่งอย่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งละอันพันละน้อย หรือสิ่งใหญ่สิ่งโตแค่ไหนก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป

คลองสำหรับอยุธยาถูกละเลยความสำคัญ จำนวนมากถูกถมเพื่อสร้างถนนขึ้นมาแทนที่

บางแห่งก็ถูกรุกล้ำจนลำคลอง (รวมถึงแม่น้ำ) คับแคบ

ที่พอมีให้เห็นร่องรอยอยู่บ้าง คือ คลองฉะไกรใหญ่ หรือ คลองท่อ, ครองฉะไกรน้อย

เรือนแพเรียงรายอยู่แน่นขนัดสองฝั่งคลองเมืองที่อยุธยา (ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 6)

ส่วนนอกเกาะเมืองทางด้านใต้นั้นมี คลองตะเคียน และคลองคูจาม อันเป็นที่ตั้งของชุมชน “จาม” ขนาดใหญ่

คลองฉะไกรใหญ่ หรือ คลองท่อ ผ่านท้ายพระราชวังหลวงที่อยู่ด้านตะวันตก ใช้ชักน้ำเข้าเขตพระราชฐาน คลองนี้เรียกกันใน 2 ชื่อ โดยด้านเหนือเรียกคลองท่อ ส่วนด้านใต้ (คนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับวัดพุทไธสวรรย์) เรียก คลองฉะไกรใหญ่ สันนิษฐานว่าคงขุดมาตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา จึงมีตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามประชาชนลอยเรือเล่นเพลง เป่าปีสีซอตีโทนทับในคลองนี้ เพราะเป็นเขตพระราชฐาน

คลองฉะไกรน้อย ออกจากบึงพระราม ขนานถนนหน้าวังไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้

ส่วนคลองตะเคียน และคลองปทาคูจามซึ่งเป็น คลองธรรมชาติ อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านใต้

คลองตะเคียน ไหลออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตก ลงมาทางทิศใต้ ก่อนจะเบี่ยงมาทางทิศตะวันออกเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งทางฝั่งทิศตะวันออก

คลองปทาคูจาม ไหลออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงทางใต้ ก่อนที่จะเชื่อมต่อกับคลองตะเคียน และแถบนี้นี่เองที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจามในอยุธยา ซึ่งปัจจุบัน คลองปทาคูจามแทบไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นคลองได้แล้ว เพราะมีบ้านเรือนมากมายรุกล้ำ บางช่วงของทางน้ำถูกถนนปิดกั้น ดังนั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจึงเอ่อท้นไหลท่วมชุมชน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเป็นจำนวนมากอยู่บ่อยครั้ง

บางที วันนี้เราอาจต้องมาพิจารณาความสำคัญของแม่น้ำลำคลองกันใหม่