เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ก้าวสู่อาชีพหนังสือพิมพ์

การปฏิบัติหน้าที่ในโรงพิมพ์พิฆเณศของผม เป็นไปในลักษณะ “จับฉ่าย” คือเป็นผู้ช่วยทุกงาน แต่มีงานหลักที่สลับกับ ประเสริฐ สว่างเกษม “ตรวจปรู๊ฟหน้าแท่น” เพื่อให้หนังสือที่โรงพิมพ์พิฆเณศพิมพ์ ไม่มีผิด หรือผิดน้อยที่สุดทั้งผมและประเสริฐเป็นนักอ่านและเรียนรู้ภาษาไทยพอสมควร ประเสริฐทำกลางวัน ผมทำกลางคืน

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 วี่แววการออกหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยซึ่งเป็นความตั้งใจของกลุ่มนี้มี ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นตัวตั้งตัวตีก็ว่าได้

เมื่อออกนิตยสารประชาชาติรายสัปดาห์ไปแล้ว ปี 2517 คณะผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ The NATION หรือ The VOICES of NATION เริ่มรวบรวม STAFF คนทำหนังสือพิมพ์รุ่นราวคราวเดียวกัน มาวางตัวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ที่ ขรรค์ชัย บุนปาน ไปขอประทานชื่อหนังสือพิมพ์ตามที่ “พระองค์วรรณ” ทรงมีจดหมายประทานมาให้ว่า

“บัดนี้ นายขรรค์ชัย บุนปาน มาปรารภกับข้าพเจ้าว่า ใคร่จะออกหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายวัน ข้าพเจ้าก็มีความปีติยินดี และอนุโมทนาในความเจริญก้าวหน้านี้เป็นที่ยิ่ง

“ด้วยอานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย ข้าพเจ้าขอให้หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายวัน ประสบผลสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองในการจรรโลงระบอบประชาธิปไตยตลอดไปเทอญ”

(ลงพระนาม) นราธิป

 

หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันฉบับปฐมฤกษ์ ออกวางแผงเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2517 เบื้องต้น ผมได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงานกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติซึ่งใช้สถานที่เดียวกับหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ซอยสายลม ถนนสุขุมวิท 39 ตัดขาดจากโรงพิมพ์พิฆเณศโดยปริยาย ให้ ประเสริฐ สว่างเกษม ดูแลงานการพิมพ์ และช่างพิมพ์ที่หอบหิ้วมาร่วมก่อตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศ คือ ช่างชวน บัวรอด เป็นผู้ควบคุมดูแลงานพิมพ์ ขณะที่แบ่งส่วนหนึ่งของช่างเรียงโรงพิมพ์พิฆเณศ ไปจัดการเรียงพิมพ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ได้ วิทยา หิตะโรหิต

ส่วนผมปรับเปลี่ยนสถานภาพจากงานโรงพิมพ์ไปเป็นนักข่าวระยะแรก ป้วนเปี้ยนในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติก่อนหนังสือพิมพ์จะออกเกือบเดือน ฝึกหัดเขียนข่าว ย่อข่าว ส่งให้บรรณาธิการเดอะ เนชั่น สุทธิชัย หยุ่น อ่านและพิจารณาว่าเป็นข่าวที่ลงพิมพ์ได้หรือยัง

ในที่สุด ก่อนวันหนังสือพิมพ์ออก แทนที่ผมจะได้ไปเป็นนักข่าว กลับต้องไปช่วยงาน พี่ชัยวัฒน์ ยนเปี่ยม นักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่ที่มาปฏิบัติหน้าที่กำกับเป็นหัวหน้าบรรณาธิกร หรือ Chief Sub-Editor

 

ตําแหน่ง “ซับฯ” สำหรับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเป็นตำแหน่งที่มีความหมายทีเดียว ตำแหน่งหัวหน้าซับฯ หรือ Chief Sub-Editor เป็นตำแหน่งรองจากบรรณาธิการ ถึงระดับบรรณาธิการข่าว เทียบเท่าบรรณาธิการบริหารก็ว่าได้

หน้าที่หลักของ ซับ เอดิเตอร์ คือผู้ที่รับข่าว บทความ และเรื่องที่ต้องตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์มาคำนวณความยาว และจัดลงในหน้าหนังสือพิมพ์ตามที่กำหนด ตั้งแต่หน้าแจ้งความโฆษณา ซึ่งฝ่ายโฆษณาจะเป็นผู้จัดการหรือกำหนดมาให้ว่าอยู่ในหน้าใดบ้าง และพื้นที่ในหน้าแต่ละหน้าขนาดไหน ซึ่งเป็นการตกลงกับบรรณาธิการและที่ประชุมคณะบรรณาธิการของแต่ละวัน

หลังจากต้นฉบับในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งแต่หน้า 2 เรื่อยไปจนหน้าสุดท้ายก่อนจะถึงหน้า 1 ที่เริ่ม “ปิดหน้า” ทีละหน้าตามเวลากำหนด จากนั้น การจัดทำหน้า 1 เริ่มขึ้น ตั้งแต่บรรณาธิการข่าวหน้า 1 เริ่มนำข่าวมาพิจารณาเข้าที่ประชุมว่าหนังสือพิมพ์ฉบับพรุ่งนี้หน้า 1 จะมีข่าวอะไรบ้าง

ผู้เข้าร่วมประชุม มีบรรณาธิการ บรรณาธิการบริหาร หัวหน้าข่าวหน้า 1 หัวหน้าซับ เอดิเตอร์ ที่ต้องจัดหน้า 1 ทั้งข่าวและภาพ

การประชุมของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ “เดอะ เนชั่น” จะประชุมวันละ 2 รอบ คือรอบก่อนเที่ยง และรอบเย็น รอบเที่ยงจะประชุมว่าเมื่อวานนี้ หรือข่าวเมื่อเช้าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับนำเสนอข่าวอะไรบ้าง ที่สำคัญคือหนังสือพิมพ์ของเรา “ตกข่าว” หรือมีข่าวใดขาดตกบกพร่องไม่ครบถ้วนบ้าง หรือ “เอา” – “ไม่เอา” ข่าวใด จากนั้นจึงพิจารณาว่าข่าวในวันนี้จะเป็นข่าวใดบ้าง ข่าวไหนอยู่หน้าไหน ข่าวหน้า 1 จะมีข่าวอะไรเด่น

จากนั้น จึงพิจารณาว่าบทนำในวันนั้น ที่จะออกในวันรุ่งขึ้นมีเรื่องอะไร เขียนหรือนำเสนอเรื่องอะไร

ว่ากันคร่าวๆ อย่างนี้ เป็นอันเสร็จการประชุมข่าวรอบเช้า

บรรณาธิกรหน้า 1 จะได้มีเวลาไปพักหรือพิจารณาว่ารูปร่างหน้าตาหน้า 1 ฉบับพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร หากวันนั้นมีข่าวในลักษณะข่าวด่วนที่ต้องติดตามในเย็นนั้น จะได้พิจารณาหน้าตาหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น ว่าจะ ต้องเปลี่ยนแปลงหากเกิดข่าวด่วนพิเศษเกิดขึ้น

 

ผมเริ่มมีบทบาทไปปฏิบัติหน้าที่งานซับ เอดิเตอร์ ตามที่เคยร่ำเรียนมาจากวิชาการหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับอาจารย์ประชัน วัลลิโก ซึ่งที่สอนให้ผมรู้จักกับการจัดหน้าหนังสือพิมพ์ ก่อนหน้านี้เคยแต่จัดหน้าหนังสือเล่มและนิตยสาร ที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดเรื่องจัดข่าวให้ลงตัวกับขนาดพื้นที่ และความยาวของข่าวที่มีหลักว่า “ยาวตัด สั้นต่อ ไม่พอเติม”

หลังจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันออกไปสักพักใหญ่ ระยะแรกจัดพิมพ์ช่วงเช้าเป็นกรอบบ่ายกว่าฝ่าย “ปะหน้า” จะทำงานเสร็จก็ล่วงเลยเวลาไปถึงเช้า ผมมีหน้าที่นำหน้าหนังสือพิมพ์ที่ “ปะหน้า” เรียบร้อยแล้ว นั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของพนักงานบริษัทนำแผ่นปะหน้าไปส่งให้โรงพิมพ์ซินเสียนเยอะเป้า จัดทำแม่พิมพ์หรือเพลส เข้าเครื่องพิมพ์ จัดพิมพ์ตามจำนวนที่กำหนด ออกมาส่งให้สายส่งที่ไปรอรับหนังสือหน้าโรงพิมพ์เพื่อจัดส่งวางแผงต่อไป เป็นอันเสร็จงาน จะเข้างานอีกครั้งเป็นช่วงเย็น

ต่อมาหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันปรับเปลี่ยนมาเป็นกรอบเช้า ต้องปิดข่าว เข้าหน้า และจัดส่งไปเข้าโรงพิมพ์กลางดึกให้ทันทำเพลส ส่งเข้าแท่นพิมพ์ซึ่งต้องพิมพ์ให้ได้ในเวลากำหนดก่อนหนังสือพิมพ์ซินเสียนเยอะเป้าจะขึ้นแท่นเช้ามืด ช่วงนี้ อรุณ วัชระสวัสดิ์ การ์ตูนิสต์ ประจำหนังสือพิมพ์ประชาชาติเป็นผู้หนึ่งที่ต้องไปตรวจหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อความเรียบร้อยก่อนขึ้นแท่น จัดพิมพ์หนังสือแล้วจึงเป็นอันเสร็จงาน

งานของโรงพิมพ์จีนมีธรรมเนียบอย่างหนึ่งคือ การจัดเลี้ยง “ข้าวต้ม” พนักงานช่างพิมพ์รอบดึก ก่อนทำงาน ผมและอรุณอาศัย “ข้าวต้ม” มื้อดึกอิ่มท้องไปด้วยในช่วงนั้น