โลกร้อนเพราะมือเรา : ผีเสื้อใกล้สูญพันธุ์

“ผีเสื้อ” ในสายตาของหลายๆ คน อาจมองเป็นเรื่องเล็กๆ จิ๊บจ๊อย ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันเลย แต่สำหรับนักสิ่งแวดล้อม นักธรรมชาติวิทยาและนักพฤกษศาสตร์ กลับยกย่อง “ผีเสื้อ” เป็น 1 ในแมลงแสนสวยที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์มากที่สุด

ระบบนิเวศน์สมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน “ผีเสื้อ” นี่แหละคือตัวชี้วัดชั้นเยี่ยม

ผีเสื้อเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้

ดอกไม้กับผีเสื้อต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน

ดอกไม้บางชนิดจะผสมเกสรได้ด้วยผีเสื้อชนิดเดียวเท่านั้น

ส่วนผีเสื้อได้ประโยชน์จากน้ำหวานของดอกไม้

ธรรมชาติสร้างสรรค์ “ดอกไม้และผีเสื้อ” อย่างกลมกลืน

ผีเสื้อส่วนใหญ่อายุสั้นอยู่ได้เพียง 1-2 สัปดาห์ แต่ธรรมชาติปั้นแต่งให้เป็นผีเสื้อด้วยกระบวนการอันละเอียดลออในหลายขั้นตอน ทุกขั้นตอนสุ่มเสี่ยงต่อภัยอันตรายทั้งจากศัตรูและลมฟ้าอากาศ

เริ่มจากการวางไข่ เพื่อสืบต่อเผ่าพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ผีเสื้อตัวหนึ่งวางไข่ได้ราวๆ 150 ฟอง แต่มีศัตรูจ้องเขมือบ เช่น แมลง นก หรืออาจลมกระโชกปลิวกระเด็น เหลือแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รอด

ไข่ผีเสื้อฟักตัวราว 3-5 วันกลายเป็นตัวหนอน ระยะนี้มีศัตรูจ้องทำลายเช่นกัน

ระหว่างเป็นตัวหนอน ธรรมชาติรังสรรค์ให้พึ่งพาต้นไม้ด้วยการกินใบจนตัวโตเต็มที่แล้วเข้าสู่ระยะดักแด้

ขณะอยู่ในดักแด้ ตัวหนอนต้องผ่านอุปสรรคอีกมากมายเนื่องจากไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ขณะที่บรรดาสัตว์และแมลงต่างรอจ้องเขมือบกินอีกรอบ

ตัวหนอนในดักแด้โตเต็มที่จะดันเปลือกดักแด้จนฉีกขาด ธรรมชาติก็ให้ปีกผีเสื้อที่ยับยู่ยี่ คลี่แผ่ออกมาด้วยการปั๊มของเหลวหรือที่เรียกว่า Hemolymph ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเลือดและน้ำเหลืองเข้าไปในเส้นปีกจนปีกแข็งสามารถบินได้

ผีเสื้อบินโฉบเฉี่ยวในป่า เกาะกินน้ำหวานจากดอกไม้ เกสรดอกไม้เกาะตามขาของผีเสื้อ เมื่อบินไปเกาะดอกไม้อื่นๆ เกสรเกาะตามด้วย ทำให้เกิดการผสมพันธุ์ สร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดความสมบูรณ์

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน์ จึงเฝ้าติดตามความเป็นไปของผีเสื้อ

ถ้าผีเสื้อมีจำนวนประชากรลดลงหรือสายพันธุ์สูญหายไปจากระบบนิเวศน์ นั่นเป็นสัญญาณอันตรายทั้งสิ่งแวดล้อมและคน

 

ที่ประเทศอังกฤษ กลุ่มเฝ้าติดตาม “ผีเสื้อ” สำรวจพบว่า ผีเสื้อจำนวน 6 ชนิด ได้แก่ the heath fritillary, grizzled skipper, wall, grayling, white-letter hairstreak, white admiral มีปริมาณลดลงอย่างน่าใจหาย

ผีเสื้อทั้ง 6 ชนิดดังกล่าวมีจำนวนลดลงมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกในรอบ 41 ปี และยังเป็นสถิติปีที่เลวร้ายที่สุดของผีเสื้อเป็นปีที่ 4

นอกจากนี้ ผีเสื้อจำนวน 57 ชนิดที่สำรวจคราวนี้ พบว่าประชากรผีเสื้อ 40 ชนิด มีจำนวนลดลงด้วย

ศาสตราจารย์ทอม แบร์เรตัน หัวหน้าคณะเฝ้าติดตามของกลุ่มอนุรักษ์ผีเสื้อ บอกว่าผลสำรวจนี้กำลังบ่งชี้ว่าแมลงในธรรมชาติกำลังเผชิญกับภาวะเสี่ยงอันตราย

“ผลสำรวจผีเสื้อแสดงให้เห็นว่า เราล้มเหลวในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ”

แบร์เรตันบอกว่า ผีเสื้อเป็นตัววัดสิ่งแวดล้อมที่ดีเลิศ เมื่อผลออกมาอย่างนี้ ชีวิตสัตว์ป่าและมนุษย์เป็นเรื่องน่าห่วงใยอย่างยิ่ง ปัญหาอยู่ที่ว่า จากนี้ไปเราจะจัดการสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

“อากาศอุ่นขึ้นในฤดูหนาว ผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์” แบร์เรตันชี้

อย่างที่ทราบกันว่า เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น หน้าหนาวก็หนาวน้อยลง ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน การขยายพันธุ์และแพร่ระบาดของเชื้อโรคมีมากขึ้น

เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ อากาศเย็นลง มีผลกระทบต่อวงจรชีวิตของสัตว์และแมลงเหมือนกัน

 

ดร.มาร์ก โบธัม ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน์ แห่งศูนย์เพื่อระบบนิเวศน์และน้ำ หนี่งในทีมผู้สำรวจผีเสื้อแห่งอังกฤษบอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีผลต่อพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต สัตว์มีจำนวนลดลงอายุสั้นลง

อากาศวิปริตแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิต “ผีเสื้อ” มีแนวโน้มว่าบางชนิดอาจสูญพันธุ์

เวลานี้ สภาวะภูมิอากาศของอังกฤษวิปริตในทุกช่วงฤดู

ในหน้าร้อน เกิดคลื่นความร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น

เมื่อถึงหน้าหนาว อากาศอบอุ่นขึ้น แต่ในบางพื้นที่กลับมีลมกระโชก หนาวเย็นมากขึ้น และเกิดฝนตกหนักรุนแรง

คณะสำรวจผีเสื้อลงพื้นที่ทั่วอังกฤษเพื่อตรวจสอบปริมาณผีเสื้อชนิดต่างๆ 1,800 จุด มาเป็นเวลา 37 ปีแล้ว

ผลสำรวจพบว่า ช่วงอากาศวิปริต โดยเฉพาะฝนตกหนักๆ มีผลกระทบต่อการเจริญพันธุ์ของผีเสื้ออย่างมาก เพราะฝนถล่มลงมาทำลายดักแด้ของผีเสื้อชนิดต่างๆ อย่างมาก

ส่วนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว มีผลลบต่อการขยายพันธุ์ของผีเสื้อในอังกฤษ

เมื่ออากาศร้อนขึ้น เชื้อโรคแพร่ระบาดเร็วขึ้น คุกคามการแพร่พันธุ์ของผีเสื้อโดยตรง

ในผลการสำรวจสรุปตอนท้ายว่า อากาศวิปริตแปรปรวน ไม่ว่าจะร้อนมากขึ้น เย็นจัด หรือฝนตกหนัก ล้วนมีผลกับการเติบโตของผีเสื้อในทุกระยะ ตั้งแต่วางไข่ ฟักตัว เป็นหนอนหรือดักแด้ จนกระทั่งกลายเป็นผีเสื้อแสนสวย