ต่างประเทศ : ฮาเกียโซเฟีย กับการเปลี่ยนสถานะสู่การเป็นมัสยิด

ฮาเกียโซเฟีย หรือสุเหร่าโซเฟีย เป็นโบราณสถานที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่อาณาจักรไบเซนไทน์ ย้อนไปเกือบ 1,500 ปี ตั้งอยู่ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่เดินทางไปสัมผัสปีละหลายล้านคน

ฮาเกียโซเฟีย หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า พิพิธภัณฑ์อายาโซเฟีย กำลังถูกรัฐบาลตุรกีนำโดยประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีสายอนุรักษนิยม “เปลี่ยนสถานะ” ให้เป็น “มัสยิด” อีกครั้ง และจะเปิดให้ชาวมุสลิมเข้าไปประกอบพิธีทางศาสนา

ย่างก้าวดังกล่าวของรัฐบาลตุรกีทำให้เกิดเสียงคัดค้านโดยเฉพาะจากนานาชาติ ที่มองว่าการเปลี่ยนสถานะของสิ่งปลูกสร้างที่เคยเป็นทั้ง “โบสถ์คริสต์” และ “มัสยิด” ในอดีต ก่อนจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ถูกจัดให้เป็นอารยธรรมมรดกโลกของยูเนสโกนั้นจะทำให้สูญเสีย “ความเป็นสากล” ในฐานะ “สัญลักษณ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา” อย่างที่เคยเป็น

 

ฮาเกียโซเฟียสร้างขึ้นใน ค.ศ.537 โดยจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 แห่งอาณาจักรไบเซนไทน์ เคยมีสถานะเป็นโบสถ์คริสต์ที่ยิ่งใหญ่และอลังการที่สุดในโลกคริสตจักร ด้วยความสูงของโดมระดับ 160 ฟุตเหนือพื้นดิน และเป็นหัวใจทางจิตวิญญาณของชาวคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ในยุคนั้น

ฮาเกียโซเฟียถูกเปลี่ยนสถานะเป็นมัสยิดในอีกกว่า 900 ปีถัดมาในปี 1453 เมื่อจักรวรรดิออตโตมันบุกเข้ายึดครองนครอิสตันบูลได้สำเร็จ และมีการสร้างหอคอยสุเหร่า หอคอยสูงที่มียอดแหลมขึ้นโดยรอบ

ขณะที่ศิลปะจิตรกรรมแบบโมเสกภายในที่เป็นสัญลักษณ์แบบคริสเตียน ถูกฉาบทับด้วยปูนขาวทั้งหมด

ผ่านไปเกือบ 500 ปี มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกียุคใหม่ ได้เปลี่ยนฮาเกียโซเฟียให้เป็นพิพิธภัณฑ์ในปี 1934 ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในปี 1985

และกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เดินทางไปเยี่ยมชมมากที่สุดในประเทศตุรกี มียอดผู้เข้าชมเมื่อปี 2018 ถึง 3.7 ล้านคน

ขณะที่ฮาเกียโซเฟียเองกลายเป็นสัญลักษณ์ของความคิดการแยกศาสนาไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง หรือ secularism ซึ่งเป็นแนวคิดรากฐานของประเทศตุรกีสมัยใหม่ ในฐานะจุดผสมผสานอารยธรรมของตะวันตกกับตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองของตุรกีมีคำพิพากษาถอนสถานะการเป็นพิพิธภัณฑ์ของฮาเกียโซเฟียที่มีมานานกว่า 80 ปีลง และเปลี่ยนสถานะให้เป็นมัสยิดอีกครั้ง

คำตัดสินดังกล่าวถูกมองว่าเป็นชัยชนะของชาวตุรกีกลุ่มอนุรักษนิยมเคร่งศาสนา ที่ผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะได้รับการผลักดันในเชิงนโยบายจากประธานาธิบดีแอร์โดอานในช่วงที่ผ่านมา จนประสบผลสำเร็จ

ประธานาธิบดีแอร์โดอานระบุกับประชาชนผ่านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นว่า ชาวมุสลิมจะสามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมได้ภายใน 2 สัปดาห์ ขณะที่ฮาเกียโซเฟียจะยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าชมได้เช่นเดิม

“เราจะเปิดฮาเกียโซเฟียกับศาสนิกชนในฐานะมัสยิด โดยจะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติโดยรวมเอาไว้” แอร์โดอานระบุ และว่า จะเปิดประตูฮาเกียโซเฟียให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

เสียงคัดค้านการเปลี่ยนสถานะส่วนใหญ่มาจากนอกประเทศตุรกี โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา กรีซ และรัสเซีย

สเตริออส เพ็ตซาส โฆษกรัฐบาลกรีซ ระบุว่าการเปลี่ยนสถานะฮาเกียโซเฟีย จะเป็นการสร้างรอยแตกทางความรู้สึกขนาดมโหฬารระหว่างชาวคริสต์ทั่วโลกและประเทศตุรกี

ด้านไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เรียกร้องให้รัฐบาลตุรกียังคงสถานะการเป็นพิพิธภัณฑ์เอาไว้ โดยระบุว่า ฮาเกียโซเฟียมีสถานะ “เป็นสะพานที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเชื่อมโยง ศรัทธา ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมที่แตกต่างเข้าไว้ด้วยกัน”

ราชาคณะคิริลล์แห่งคริสตจักรรัสเซียออกมาโจมตีการเปลี่ยนสถานะดังกล่าวว่าเป็นการ “คุกคามอารยธรรมชาวคริสต์ทั้งหมด”

ขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกเองก็แถลงว่า ทรงเจ็บปวดอย่างสุดซึ้งกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

องค์การยูเนสโก หน่วยงานด้านวัฒนธรรมขององค์การสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาลตุรกีอย่าตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะส่งผลกับคุณค่าอันเป็นสากลของฮาเกียโซเฟีย

 

ขณะที่เอครีม อิมาโมกลู นายกเทศมนตรี นครอิสตันบูล จากพรรคฝ่ายค้านของตุรกี ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลตุรกีจึงเลือกประเด็นนี้มาดำเนินการในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ที่ส่งผลให้การท่องเที่ยว 97 เปอร์เซ็นต์ของประเทศหยุดชะงัก โรงแรมปิดทำการ ขณะที่ประชาชนหลายแสนคนต้องตกงานอยู่ในเวลานี้

ขณะที่นักวิเคราะห์การเมืองตุรกีอีกจำนวนหนึ่งมองว่า การเปลี่ยนสถานะฮาเกียโซเฟียนั้นเป็นความพยายามของประธานาธิบดีแอร์โดอาน ที่ต้องการกวาดเสียงสนับสนุนจากฐานเสียงสายอนุรักษนิยม ในช่วงเวลาที่คะแนนนิยมโดยรวมเริ่มลดน้อยถอยลง

ในแถลงการณ์ของนายแอร์โดอานเองเชื่อมโยงการตัดสินใจดังกล่าวกับความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิออตโตมันในอดีต รวมไปถึงโจมตีไปยังเสียงคัดค้านที่ส่วนใหญ่มาจากต่างชาติ

“หากจะมีประเด็นการโต้เถียงเกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องศาสนาแล้วละก็ หัวข้อนั้นไม่ควรเป็นเรื่องฮาเกียโซเฟีย แต่ควรจะเป็นเรื่องโรคหวาดกลัวศาสนาอิสลามมากกว่า” แอร์โดอานระบุ

และว่า การใช้ฮาเกียโซเฟียนั้นเป็นเรื่องอธิปไตยของประเทศ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพการตัดสินใจดังกล่าว

 

หลังการประกาศดังกล่าว ผู้สนับสนุนนายแอร์โดอานจำนวนหนึ่งรวมตัวกันที่หน้าฮาเกียโซเฟีย เพื่อฉลองการเปลี่ยนสถานะ โบกธงชาติตุรกี พร้อมกับประกอบพิธีทางศาสนา

ขณะที่ลูอิส ฟิชแมน ศาสตราจารย์จากบรูคลินคอลเลจ สหรัฐอเมริกา ผู้สังเกตการณ์การเมืองตุรกีให้เหตุผลถึงการที่เสียงคัดค้านในประเทศนั้นไม่ได้ดังเท่ากับเสียงเรียกร้องจากนานาชาติเอาไว้ว่า

“ตุรกีเป็นประเทศที่เรื่องศาสนาและลัทธิชาตินิยมมาบรรจบกัน ดังนั้น ฟากฝั่งการเมืองฝั่งตรงข้ามแอร์โดอานเองก็จะสนับสนุนเรื่องอำนาจอธิปไตยของตุรกีในการจัดการปูชนียสถานดังกล่าว” ฟิชแมนระบุ

จากนี้คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงสถานะของฮาเกียโซเฟียของรัฐบาลตุรกี จะส่งผลกระทบกับสถานะการเป็นแหล่งมรดกโลก รวมถึงจะส่งผลกระทบกับการเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากน้อยเพียงใด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลงก่อนคงจะเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น