123 ปี ชาตกาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม พระเอก หรือผู้ร้าย ในประวัติศาสตร์ไทย

หากชำเลืองตามองปฏิทินที่เปิดค้างในหน้าเดือนกรกฎาคมนี้ จะปรากฏวันที่ 14 กรกฎาคม เป็นส่วนหนึ่งอยู่ เฉกเช่นธรรมดาทั่วไป

หากแต่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว วันที่ 14 กรกฎาคม คือวันถือกำเนิดขึ้นของอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด

รวมทั้งยังเป็นนักการเมืองที่มีลักษณะโดดเด่นทั้งความคิดและบทบาทอันหลากหลาย นับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในการเมือง จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ท่านผู้นี้คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

ตามที่มีการบันทึก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2440 เท่ากับว่าวันที่ 14 กรกฎาคม ในปี พ.ศ.2563 ชาตกาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คือ 123 ปี พอดิบพอดี ในวาระนี้ มติชนทีวีได้สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์คณะราษฎร และผู้ศึกษาแนวคิดของ จอมพล ป. ผ่านวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา [พ.ศ.2491-2500] รวมถึงผลงานล่าสุด ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ณัฐพลได้กล่าวถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในหลายประเด็น หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นข้อสงสัยในแวดวงผู้ศึกษาประวัติศาสต์การเมืองไทยมาอย่างยาวนาน

นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับปรีดี พนมยงค์ ว่า 2 คนนี้แท้จริงแล้วเป็นมิตรหรือศัตรูกันแน่

 

ณัฐพลให้คำตอบในเรื่องนี้ได้น่าสนใจ โดยมองว่าความสัมพันธ์ของ 2 คนนี้ เป็นทั้งมิตรและคู่แข่ง แต่ไม่ใช่ศัตรู เป็นมิตรในฐานะที่รู้จักตั้งแต่เป็นนักเรียนในฝรั่งเศส และร่วมก่อการจัดตั้งคณะราษฎรขึ้นมา เปลี่ยนแปลงการปกครองจนสำเร็จ ช่วยกันบริหารประเทศ ช่วยกันปราบกบฏบวรเดชจนสำเร็จ

ส่วนการเป็นคู่แข่ง เริ่มต้นขึ้นเมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมเลือกใช้วิธีการทางการทหารในการตอบโต้ ทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นต้องใช้ทหารเข้าปราบปรามจนสำเร็จ ส่งให้ฐานะของจอมพล ป.สูงเด่นเกินกว่าปรีดีในฐานะฝ่ายพลเรือน

หลังจากนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเกิดขึ้น ทิศทางความคิดของทั้ง 2 คนเริ่มแตกต่างกันชัดเจน ซึ่งมาจากเรื่องของอุดมคติ

ณัฐพลกล่าวว่า ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม และปรีดี มีอุดมคติร่วมกันคือ ความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ

แต่ด้วยความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน กล่าวคือ จอมพล ป.มีความคิดแบบชาตินิยม สนใจทหาร เพราะมีพื้นฐานมาจากทางการทหาร

ส่วนปรีดีนั้น ใช้วิธีการแบบสังคมนิยม

ดังนั้น จุดแตกหักสำคัญคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนญี่ปุ่นขึ้นบุก ทั้ง 2 คนยังทำงานด้วยกันอยู่ เพราะเห็นว่า หนึ่ง เป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สอง คาดหวังว่าถ้าญี่ปุ่นชนะ คงได้อะไรคืนมาบ้าง

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ปรีดีกลับเข้ามารับภารกิจคุยกับโลกตะวันตกใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

เพื่อให้ภาพความสัมพันธ์ของจอมพล ป.และปรีดีชัดเจนมากขึ้น ว่าแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นศัตรูกัน

ณัฐพลกล่าวว่า จริงๆ ในยามลำบาก ทั้ง 2 คนต่างช่วยเหลือกันตลอด เช่น ตอนปรีดีโดนพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเล่นงาน ตอนเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ ถูกเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศ จอมพล ป.กับพระยาพหลฯ ช่วยกันรัฐประหารล้มพระยามโนฯ และเชิญปรีดีกลับมา

รวมถึงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ญี่ปุ่นแพ้สงคราม จอมพล ป.ถูกจับเป็นอาชญากรสงคราม จอมพล ป.มีจดหมายน้อยไปถึงปรีดี บอกว่า ปรับความเข้าใจ ที่ทำไปเพื่อประเทศชาติ

สุดท้าย จอมพล ป.รอดพ้นจากการตกเป็นอาชญากรสงครามด้วยหลักการก็คือ กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งเวลานั้นปรีดีเป็นคนควบคุมทั้งหมดในการดำเนินการกับคดีอาชญากรสงคราม เพราะอเมริกาให้ฝ่ายไทยจัดการ

จากประเด็นข้างต้นนั้น ณัฐพลกล่าวว่า เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ทั้ง 2 คนเปรียบเหมือนเหรียญคนละด้าน จะมีหัวอย่างเดียวไม่ได้ จะมีก้อยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอยู่คู่กัน หมุนไปพร้อมกัน ประเทศชาติจึงรอดปลอดภัย

 

ในประเด็นถัดมา คำถามที่ถูกตั้งขึ้นคือ แล้วเหตุใดจอมพล ป.เลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศตามประเทศในเอเชียด้วยกันอย่างญี่ปุ่น

ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับข้อค้นพบใหม่ในผลงานล่าสุดของณัฐพล ที่ชื่อว่า “ตามรอยอาทิตย์อุทัย” แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

ณัฐพลกล่าวว่า เป็นเวลายาวนานในระบอบเก่าที่เราพัฒนาประเทศไปตามแนวทางตะวันตก กระทั่งที่เรามักทราบกันทั่วไปว่าแนวทางการพัฒนาประเทศเกิดขึ้นอีกครั้งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ การเดินตามแบบอเมริกาในยุคสงครามเย็น ส่งผลให้องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเกิดช่องว่างในช่วง พ.ศ.2475-2500 ว่าใช้แนวทางในการพัฒนาแบบใด

ซึ่งจากการศึกษาพบว่า คณะราษฎรมีแนวทางในการพัฒนา โดยมองไปยังมหาอำนาจใหม่ในเวลานั้นอย่างญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลว่า ญี่ปุ่นสามารถก้าวจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม พร้อมกับผสานวัฒนธรรมตะวันตกเข้ากับการรักษาวัฒนธรรมแบบเดิมไว้ด้วยกันได้ สะท้อนผ่านบันทึกของคนไทยที่ไปดูงานในญี่ปุ่นเวลานั้น ที่ระบุว่า เกิดความรู้สึกทึ่งที่ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างที่ฝรั่งเป็น แต่เมื่อเข้าไปในบ้านคนญี่ปุ่น กลับยังรักษาขนบธรรมเนียม ทั้งการแต่งกายและการกินอาหาร ขณะเดียวกัน เมื่อออกนอกบ้าน กลับใส่สูท คิดวิทยาศาสตร์แบบฝรั่งได้

ส่งผลให้รูปแบบนี้กลายเป็นสิ่งที่จอมพล ป.เลือกเป็นตัวแบบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนความคิดแบบชาตินิยมของจอมพล ป.ในเวลาเดียวกัน

 

อีกหนึ่งประเด็นคำถามที่เลือกหยิบยกมาสัมภาษณ์ในครั้งนี้คือ ท้ายที่สุดแล้วในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ที่มักจะสร้างบทบาทของผู้คนในประวัติศาสตร์ให้มี “พระเอก” และ “ผู้ร้าย” อยู่เสมอ จะจัดวางจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างไร ต้องเป็นพระเอก หรือเป็นผู้ร้าย อย่างที่มักมีการพูดถึงหรือไม่

เรื่องนี้ณัฐพลมองว่า สามารถพิจารณาได้ 2 ระดับ คือ 1.อุดมคติของจอมพล ป. กับ 2.อุดมการณ์ของผู้พิจารณา ในข้ออุดมคติของจอมพล ป.เอง ต้องยอมรับว่า จอมพล ป.พูดเองเสมอว่า ตนเองเป็นนักชาตินิยม ซึ่งความคิดเรื่องชาติ เป็นสิ่งใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 ชาติหมายถึงผลรวมของประชาชนทั้งหมด ดังนั้น สำหรับจอมพล ป.แล้ว ชาติอยู่เหนือสิ่งอื่น

ส่วนใครจะมองว่า จอมพล ป.เป็นเผด็จการ เป็นฟาสซิสต์ หรือเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ของผู้พิจารณา ถ้าผู้พิจารณาเป็นฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตย หรือเชื่อว่าประชาชนมีความสำคัญสูงสุด เขาจะมองจอมพล ป.ในอีกแบบหนึ่ง

แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าประชาชนไม่ได้สำคัญสูงสุด มีสิ่งอื่นที่สำคัญมากกว่าประชาชน ก็จะมองจอมพล ป.อีกแบบหนึ่ง