หนุ่มเมืองจันท์ | นิ้วกลมสนทนา

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน “เอ๋” นิ้วกลม ชวนไป Live ที่เพจ roundfinger ของเขา

ตอนนี้เขาทำรายการ “นิ้วกลมสนทนา” ขึ้นมา

เป็นการคุยแบบสบายๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง

ข้อดีของการคุยกันยาวๆ ทำให้การสนทนาเป็นแบบสบายๆ ไม่ต้องคุมเวลามาก ไม่ต้องบีบประเด็นให้แน่นเกินไป

“เอ๋” เชิญแขกที่มาคุยได้น่าสนใจมาก

ตั้งแต่ “น้าเน็ก-สุทธิชัย หยุ่น-บังฮาซัน-เฌอปรางค์”

แฮ่ม…และผม

คุณสมบัติไม่น่าสนใจเท่าไร

แต่เชิญง่ายครับ

ผมย้ำ “เอ๋” ตลอดว่าอย่าถามยาก

ให้ถือคติ “ชีวิตไม่ยากถ้าตั้งโจทย์ง่าย”

…การสนทนาก็เช่นกัน

เพราะผมไม่ใช่คนซับซ้อน

ไม่ค่อยมี “ความฝัน” อะไรมากมาย

ทำทุกอย่างตามความจำเป็น

ถ้าไม่จำเป็นจะขี้เกียจมาก

คุยกับ “เอ๋” วันนั้นสนุกมากครับ

ได้รำลึกอดีตหลายเรื่อง

โดยเฉพาะตอนเด็กๆ สมัยที่อยู่เมืองจันท์

พระไพศาล วิสาโล เคยบอกว่าคนส่วนใหญ่จะจำ “ความทุกข์” ได้แม่น

แต่จำ “ความสุข” ไม่ค่อยได้

ผมคงเป็นคนส่วนน้อย

เพราะผมจำ “ความสุข” ได้ดีมาก

แต่จำเรื่อง “ความทุกข์” ไม่ค่อยได้

ไม่ใช่ไม่เคยทุกข์

แต่อาจเป็นเพราะว่าเราได้ผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้แล้ว

ผ่านมาแล้ว วันนี้เลยไม่รู้สึกแย่หรือทุกข์กับมัน

กลับกลายเป็นเรื่องเล่าที่ตื่นเต้นดี

วันนั้น คุยกันหลายเรื่อง

แต่มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้ต้องกลับมาคิดหา “คำตอบ” อีกครั้ง

เรื่องการเป็น “นักเขียน” ของผม

สมัยเด็ก ทุกคนในบ้านชอบอ่านหนังสือ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ป๋า” ชอบหนังสือ

รับหนังสือพิมพ์วันละ 2 ฉบับ

นิตยสารเยอะมาก

ตั้งแต่บางกอก-ทานตะวัน-สกุลไทย

นิตยสารตระกูล “ฟ้า” ของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์

ฟ้าเมืองไทย-ฟ้าเมืองทอง-ฟ้าอาชีพ-ฟ้านารี

รวมถึง “มติชนสุดสัปดาห์” ด้วย

“ป๋า” รับตั้งแต่เล่มแรกเลยครับ

หน้าปกยังเป็นกระดาษปรู๊ฟอยู่เลย

ไม่นึกว่าวันหนึ่งจะมาเขียนประจำใน “มติชนสุดสัปดาห์” ที่อ่านมาตั้งแต่ฉบับแรก

ช่วงปิดเทอมเรายังไปยืมหนังสือนิยายจากห้องสมุดประชาชน

ทำตัวเป็น “หนอน”

ไล่อ่านจนหมดห้องสมุด

เป็นนักอ่านกันมานาน วันหนึ่ง “เหียโต้ง” ก็เกิดไอเดียใหม่

ทำไมต้องรอนิตยสารที่คนอื่นทำ

ทำไมเราไม่ทำนิตยสารอ่านกันเอง

นั่นคือ ที่มาของนิตยสาร “อดุลยา”

นักเขียนในเล่ม คือ พี่น้องทุกคน

ยกเว้น “เจ๊” ที่เรียนอยู่ กทม.

“เหียโต้ง” เป็นบรรณาธิการ

ใครอยากเขียนอะไรก็ได้เขียน

ทุกคนอยากมีนิยายของตัวเอง

ยกเว้น “จอย” น้องสาวคนสุดท้อง

ตอนนั้น “จอย” น่าจะเรียน ป.3

ประมาณ 8 ขวบ

เขียนนิยายคงไม่ได้

แต่ต้องมีส่วนร่วม

นั่นคือ ที่มาของคอลัมน์ประจำในนิตยสารเล่มนี้

“จอยเขียน”

เปิดกว้างเต็มที่

“จอย” จะเขียนอะไรก็ได้

แต่พี่ๆ จะเขียนนิยาย

เป็นนิตยสารทำมือ ที่ใช้การเขียนด้วยลายมือทั้งเล่ม

เป็นนิตยสารเล่มเดียวในโลก

ต้องต่อคิวกันอ่าน

รู้สึกว่า “เหียโต้ง” จะทำได้ 2-3 ฉบับแล้วก็เลิกไป

คงเบื่อตามต้นฉบับเต็มที

บทเรียนที่ผมได้จากการเขียนหนังสือครั้งนั้น

คือ การเขียนหนังสือไม่ใช่เรื่องง่าย

อ่านง่ายกว่า

“เหียโต้ง” เป็นคนชอบการเขียนที่สุดในบ้าน

พอไปเรียนที่ กทม. เขาก็เริ่มเขียนนิยายส่งนิตยสาร

นิยายที่เขียนเป็นแนวสืบสวนสอบสวน

เคยเขียนลง “บางกอก” ด้วย

ใช้นามปากกาว่า “สันต์ สิราวุธ”

ที่จำได้มีเรื่อง “รหัสไฟ-สายฟ้าฟาด-ล่าปิศาจ”

“ล่าปิศาจ” เคยทำเป็นละครโทรทัศน์ด้วย

แต่ตอนหลัง “เหียโต้ง” มีหน้าที่ความรับผิดชอบสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยไม่ได้เขียนต่อ

…น่าเสียดาย

“เต้ย” น้องชายก็เขียนหนังสือดีทีเดียว

เขาเป็นคนแรกของบ้านที่ข้อเขียนได้ลงนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” ในคอลัมน์ “ตะกร้าสร้างนักเขียน”

เป็นคอลัมน์สำหรับนักเขียนหน้าใหม่

ตื่นเต้นกันทั้งบ้าน

แต่พอ “เต้ย” ทำงานอื่นก็ไม่ได้เขียนอีก

ส่วน “พี่ต่อ-จอย” ไม่ได้ลงมาเล่นในสนามนี้

ส่วนผมที่ไม่เคยมีความใฝ่ฝันที่จะเป็น “นักเขียน” เลย

ไม่เคยส่งต้นฉบับไปที่ไหนทั้งนั้น

แต่ก็มาเป็น “นักเขียน”

ทำไม??

นั่นคือ “คำถาม” ที่ผมได้จาก “นิ้วกลมสนทนา”

ผมเคารพคนที่มี “ความฝัน”

“ความฝัน” เป็นความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่

เป็นแรงดึงดูดให้เราก้าวไปข้างหน้า

เพื่อให้ได้ตามฝัน

แต่คนในโลกนี้มีหลายคนที่เหมือนกับผม

คือ ไม่มี “ความฝัน”

ไม่รู้ความต้องการของตัวเองว่าอยากเป็นอะไร

แค่เดินไปเรื่อยๆ

แล้ว “ทาง” ก็เกิดขึ้นตามมา

ผมคิดว่าถ้าไม่ได้เป็น “นักข่าว”

ไม่ได้อยู่ในแวดวงตัวอักษร

ผมคงไม่ได้เป็น “นักเขียน”

เพราะถ้าทำงานอื่น ผมคงไม่เขียนเรื่องส่งไปที่ไหน

ตอนทำข่าว พี่สั่งให้เขียนข่าวก็เขียน

ให้เขียนสกู๊ปก็เขียน

ให้เขียนคอลัมน์ก็เขียน

ทำงานทุกอย่างตามความจำเป็น

เพียงแต่ทำทุกเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง

การอ่านหนังสือที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็กคงทำให้เราคุ้นชินกับการใช้ภาษาอธิบายเรื่องราวต่างๆ

รู้ว่าควรวางโครงเรื่องอย่างไร

จากความพร้อมในวัยเยาว์ เมื่อ “โอกาส” ลอยมาก็หยิบฉวยไว้

ผมอาจไม่มี “ความฝัน” ที่เป็น “แรงดึงดูด”

แต่มี “แรงส่ง” จากการก้าวเดินเป็น “แรงผลักดัน”

เมื่อเห็นทางก็ก้าวเดินต่อ

“ความฝัน” เป็นสิ่งที่งดงาม

แต่การไม่มี “ความฝัน” ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

เพราะโลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว

ทั้งหมดนี้เป็นข้อคิดจาก “หนุ่มเมืองจันท์”

…”ไลฟ์โค้ช” ครับ