ต่างประเทศอินโดจีน : ปรากฏการณ์ดิจิตอลที่เมียนมา

เมื่อปี 2003 เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นกับระบบธนาคารในเมียนมา รุนแรงถึงขนาดทำให้โครงสร้างทางการเงินอย่างเป็นทางการล่มสลาย

ฟื้นระบบขึ้นมาได้ แต่ความไว้วางใจของสาธารณชนหดหายไปจนแทบหมดสิ้น

ยิ่งปลูกฝังความเป็น “สังคมเงินสด” ของประเทศให้ลงลึกมากยิ่งขึ้นไปอีก

ธนาคารและสถาบันการเงินแบบเป็นทางการถูกข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจนผูกมัดไว้ พร้อมๆ กันนั้นข้อจำกัดของสภาวะความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยิ่งทำให้การพัฒนาการของภาคการธนาคารและการเงินกะพร่องกะแพร่งเต็มที

รัฐบาลเมียนมาภายใต้การผลักดันของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) และกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นซีดีเอฟ) พยายามอย่างหนักที่จะพัฒนา “ฟินเทค” หรือระบบเทคโนโลยีทางการเงินขึ้นในประเทศ แต่ไม่สู้จะประสบความสำเร็จมากนัก

แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว ทุกวันนี้ชาวเมียนมามีโทรศัพท์สมาร์ตโฟนอยู่ในครอบครองคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 53-54 ล้านคนแล้วก็ตาม

 

อุตสาหกรรมฟินเทคในเมียนมาเริ่ม “ตั้งไข่” ได้จริงๆ ก็เพียงเมื่อปีสองปีที่ผ่านมานี่เอง

ผู้บุกเบิกรายแรกก็คือ “เวฟ มันนี่” บริการทางการเงินดิจิตอลผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่ฉกฉวยช่องว่าง ให้บริการแก่ทุกผู้คนไม่ว่าจะมีเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากธนาคารหรือไม่ก็ตามที

ซึ่งได้ผลไม่น้อย เพราะสัดส่วนการชำระเงินด้วยระบบดิจิตอลผ่านแอพพลิเคชั่นด้านการเงินบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน เพิ่มขึ้นจาก 0.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016 กลายเป็นเกือบๆ 80 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา

กระนั้นก็ยังมีชาวเมียนมาวัยผู้ใหญ่อีกอย่างน้อย 7.5 ล้านคนที่ไม่เคยใช้

แล้วการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มาถึง พร้อมกับการปิดพรมแดน ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจนเป็นศูนย์ในเวลาไม่ช้าไม่นาน

อุตสาหกรรมการผลิตลดฮวบเพราะไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ เพราะขาดวัตถุดิบบ้าง เป็นเพราะความต้องการซื้อหาสินค้าหดหายไปพร้อมๆ กับมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลบ้าง

ดังนั้น แม้เมียนมาจะมีผู้ป่วยโควิดที่ได้รับการยืนยันเพียง 316 รายเท่านั้น เศรษฐกิจของประเทศก็ทรุดลงฮวบฮาบเหมือนกับประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกัน

 

รัฐบาลประกาศแผนบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาด รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยตรงต่อกลุ่มผู้หญิงและคนสูงอายุ รวมแล้วราว 441,000 คน

แม้จะเป็นการแจกเงินแบบให้เปล่าหัวละ 30,000 จ๊าต (ราว 686 บาท) ต่อคน แต่เพื่อไม่ให้เปล่าประโยชน์ รัฐบาลยืนกรานจะแจกจ่ายเงินก้อนนี้ผ่านระบบดิจิตอล เพื่อกระตุ้นการใช้ระบบการเงินบนดิจิตอลแพลตฟอร์มขึ้นในประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังกำหนดจะจ่ายเงินประกันสังคม (สำหรับผู้ว่างงาน), เงินกู้เพื่อเกษตรกร, เงินจากกองทุนฉุกเฉินเพื่อแรงงานสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับผู้ค้าแผงลอยและหาบเร่ ทั้งหมดผ่านระบบดิจิตอล

ได้ผลดีทีเดียว ชาวเมียนมาเข้าไปลงทะเบียนเพื่อใช้บริการทางการเงินดิจิตอลเพิ่มขึ้นเป็นราว 48 เปอร์เซ็นต์ และได้รับการคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2023

ในส่วนของการชำระเงินผ่านสมาร์ตโฟน ผู้เชี่ยวชาญในพม่าเชื่อว่าจำนวนผู้เข้าใช้งานจะเพิ่มมากขึ้นเป็นราว 7.5 ล้านคนภายในปี 2024 ที่จะถึงนี้

ฟินเทคในเมียนมาเริ่มต้นออกเดินเตาะแตะ และกลายเป็นปรากฏการณ์ทางด้านดิจิตอลที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับโลกที่เคยเชื่อถือแต่เงินสดแค่นั้นเช่นนี้

รัฐบาลและกระทรวงการคลังเมียนมา ต้องขอบอกขอบใจเจ้าโควิดอย่างเป็นทางการเลยนะเนี่ย!