เศรษฐกิจ / เศรษฐกิจครึ่งหลังปี ’63 ชะเง้อคอ เร่งสปีดลงทุน เทงบฯ 4 แสนล้าน ไม้เด็ดกู้จีดีพีหลังโควิด-19

เศรษฐกิจ

 

เศรษฐกิจครึ่งหลังปี ’63 ชะเง้อคอ

เร่งสปีดลงทุน เทงบฯ 4 แสนล้าน

ไม้เด็ดกู้จีดีพีหลังโควิด-19

 

ปัจจุบันไทยต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ลุ่มๆ ดอนๆ มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ก่อนที่จะโดนพายุลูกใหญ่อย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซัดเข้าเต็มๆ ไปทั่วโลก กระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งโลก รวมถึงประเทศไทย เพียงไม่นานหลายธุรกิจในภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคท่องเที่ยว เกิดอาการน็อกโซซัดโซเซ ธุรกิจทยอยปิดตัว และเกิดการลดคนปลดคนจนเกิดว่างงานจำนวนมาก

นานวันส่งผลภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ตามด้วยข้อเรียกร้องให้รัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเฉพาะหน้า แต่เมื่อการระบาดโควิด-19 ดูจะลากยาว และหวั่นกลับมาระบาดรอบ 2 ยิ่งกดดันหนักต่อรัฐบาลต้องเร่งมือช่วยเหลือและพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ติดลบหนักหลุด 8-10% หนักไปอีก!!

ความหวังจึงอยู่ที่งบประมาณประจำปี 2563 ที่กำลังเร่งเบิกจ่าย คู่กับงบประมาณปี 2564 ที่จะเริ่ม 2 เดือนข้างหน้า

บวกกับงบฯ ผ่าน พ.ร.ก. 3 ฉบับเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลของโควิด-19 วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ประเดิมถูกใช้เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

อาทิ โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 15 ล้านบาท เพื่อสร้างต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัย อาทิ เมืองเก่าน่าน หาดบางแสนชลบุรี เอเชียทีก ชุมชนบ้านไร่กองขิง เชียงใหม่ และเยาวราช

จากนี้ก็จะมีการอนุมัติโครงการขอใช้เงินจากทุกหน่วยงานที่ยื่นขอไป โดยน้ำหนักเน้นไปเรื่องลงทุนและปรับปรุงเพื่อเกิดการจ้างงาน เพิ่มรายได้และกระตุ้นใช้จ่ายท้องถิ่น หวังทดแทนโครงการใหญ่ๆ ที่ชะงักจากโควิดระบาด

 

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า ขณะนี้นักลงทุนส่วนมากมองภาพรวม ไม่ได้มองแค่เรื่องการเมือง หากเศรษฐกิจประเทศดี การเมืองดี แต่สิทธิประโยชน์ที่เขาจะได้รับไม่ดี มีโอกาสย้ายไปลงทุนประเทศที่ได้สิทธิประโยชน์ดีกว่า ฉะนั้น ช่วงนี้รัฐต้องเร่งแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจูงใจและสกัดไม่ให้ย้ายฐานการผลิตอย่างเร่งด่วน เพราะเชื่อว่าหลังโควิด-19 ทุกประเทศจะโหมหนักการดึงทุนต่างชาติเพื่อฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลับมองว่า เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แนวคิดลงทุนของโลกเปลี่ยนไป

เดิมบริษัทใหญ่จะซื้อวัตถุดิบราคาต่ำสุดเพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น จากจีน

แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด ต้องซื้อในประเทศแทน แต่ที่กังวลคือเมื่อไวรัสยังระบาด การปิดท่าเรือ ปิดเส้นทางการบิน ปิดเมือง แต่ธุรกิจต้องดำเนินต่อไป ก็จะเห็นการปรับโยกการลงทุนหรือย้ายฐานผลิตใกล้ประเทศมากขึ้น อาจเกิดการลงทุนในไทยเองอีกครั้ง

ภาครัฐ ชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เผยว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญต่อภาคการลงทุนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจและกระตุ้นลงทุนภาคเอกชนด้วย สั่งด่วนและเร่งทุกด้าน ตั้งการศึกษาการเชื่อมโยงพัฒนาฮาร์ดแวร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระบวนการเชื่อมต่อคมนาคม การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ภายใต้ M&R MAP คือการเชื่อมโยงระบบขนส่งระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ กำหนดเคาะมาสเตอร์แพลนทั้งระบบคมนาคมไทย ไม่แค่ก่อประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกการเดินทางประชาชนและการค้าเท่านั้น

ดังนั้น จากเงินก้อนโตผ่านระบบก่อสร้างตามกรอบมาสเตอร์แพลนกำหนดไว้ 9 ปี เฉพาะต่อปีงบฯ หลายแสนล้านบาท จึงเป็นความหวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม กว่าจะได้ข้อสรุปมาสเตอร์แพลนและปฏิบัติได้จริงอาจใช้เวลาเป็นปีๆ

 

กระแสกดดันรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจึงออกมาต่อเนื่อง และพุ่งไปที่หน่วยงานคมนาคมที่มีงานให้ทำตลอด เกิดการจ้างงานได้ทันที ซึ่งกรมทางหลวงก็ประกาศตัวว่าจะเร่งเบิกจ่ายเรื่องการซ่อมถนนชำรุด และเร่งรัดสร้างโครงการที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และตั้งเป้าเบิกจ่ายเต็ม 100% ในเดือนกันยายนนี้ จากปี 2562 กรมทางหลวงสามารถเบิกจ่ายได้เพียง 71% และปีนี้เพิ่งเพียง 40% ของงบประมาณ

ฟากกรมทางหลวงก็ไม่น้อยหน้า ทั้งเร่งเบิกจ่ายและยื่นขอใช้เงิน พ.ร.ก.เงินกู้ ในโครงการที่เตรียมดำเนินการแต่ไม่อาจเดินหน้าได้จากโควิด-19 และถูกตัดงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในมาตรการเยียวยา ระยะแรกๆ จึงยื่นฟื้นโครงการคงค้างที่ตรงกับเรื่องการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยให้เกิดผลทางอ้อมควบคู่กับภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว

เมื่อถามว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร เจ้ากรมทางหลวง สราวุธ ทรงศิวิไล เผยว่า

“เพราะถ้าจะส่งเสริมเกษตรกร เรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนหรือการขนส่งสินค้า ยังไงก็ต้องมีการขนส่ง ขนส่งยังไงก็ต้องผ่านถนนอยู่แล้ว ถนนเปรียบเหมือนเส้นเลือดหลัก ไม่ว่าจะมาจากทิศทางไหนของประเทศต้องผ่านถนนของกรมทางหลวงทั้งสิ้น กรมทางหลวงจึงเสนอโครงการปรับปรุงเส้นทาง เพื่อตอบสนองตามนโยบาย ส่วนแผนใดผ่านหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องเงินกู้ต้องไปดูว่าเข้าเกณฑ์ขอใช้เงินและเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ”

สาเหตุที่ทั้งเอกชนและรัฐออกมาย้ำต้องผลักดันภาคลงทุนในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังระบาด หรือโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว เพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องกับผลวิเคราะห์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรก 2563 ชะลอตัวหนักแล้ว ไตรมาส 2/2563 หนักยิ่งกว่า ก็หวังการเริ่มฟื้นในไตรมาส 3 ปลายๆ ต่อต้นไตรมาส 4

เมื่อธุรกิจเปิดบริการอีกครั้ง การใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และการลงทุนจากรัฐออกสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีการล่าช้าไปก่อนหน้านี้ 7-8 หมื่นล้านบาท ออกไหลพรวด จะช่วยดึงให้เศรษฐกิจทั้งปี 2563 อาจติดลบ 8-10% เหลือลบ 5-7%

 

วันนี้ที่ต้องติดตามต่อการเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนภาครัฐ คือ ระบบการทำงานจะติดห่วงสุญญากาศรอการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณได้เห็นอีก 1-2 เดือนจากนี้ซึ่งก็ตรงกับช่วงเกษียณอายุของราชการ และการประเดิมโครงการตามงบประมาณ!!

อีกเรื่องคือแรงกระตุ้นภาคบริโภคในประเทศ ที่ผ่านมาพอจะพยุงเศรษฐกิจได้จากการที่รัฐบาลออกมาตรการเยียวยา แจกเงิน ลดค่าน้ำค่าไฟ และอื่นๆ เพื่อให้เงินในกระเป๋าเหลือมากสุด

ซึ่งสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้มาตรการนั้นๆ ก็จะหมดสิ้นลง จากนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะภาคเอกชนก็ยังรอท่า ครม.ชุดใหม่

การส่งออกยังไม่เห็นแนวโน้มฟื้นตัว และชนชั้นกลางเจอปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงและไม่ชัดเจนต่อการถูกเลิกจ้าง ขณะที่ผู้มีรายได้น้อย แม้รัฐแจกเงิน ใส่เงินเข้าไปก็ดี แต่ก็ใช้เท่าที่ได้ ไม่มีเงินใหม่จากการจ้างงานอย่างปกติเติมเข้ามา เศรษฐกิจจึงไม่มีแรงส่ง

   ฉะนั้น ต้องติดตามความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ผนวกกับโครงการใช้เงินผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ จะสามารถกู้เศรษฐกิจไทยให้กับมาเงยหัวขึ้นได้ในเร็ววัน กับความหวังเศรษฐกิจพลิกบวกได้ในปีหน้า