E-DUANG : “เลือกตั้ง” ทางเลือกเดียวของ “นักการเมือง”

ท่าทีของ “นักการเมือง” หลังประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ” ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย

ไม่ว่าจะจาก”เพื่อไทย” ไม่ว่าจะจาก”ประชาธิปัตย์”

สัมผัสได้จากการเคลื่อนไหวของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ สัมผัสได้จากการเคลี่อนไหวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ต่าง “ขยับ” และ “ขับเคลื่อน”

ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังจังหวัดนครพนม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังจังหวัดแพร่

เป็นการตรวจสอบ”ฐานเสียง”ทาง”การเมือง”

สำแดงความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเดินเข้าสู่ “โหมด” ของ

“การเลือกตั้ง”

ไม่ว่า “กติกา” จะ”อัปลักษณ์”แค่ไหน

 

ท่าทีของ “นักการเมือง” เหล่านี้เหมือนกับพวกเขาอับจนหนทางและอยู่ในสภาวะที่ไม่มีทางเลือก

เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ตั้งแต่ยุครัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ตั้งแต่ยุครัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514

ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2519

ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเดือน กันยายน 2549

และที่สุดคือรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

สิ่งที่ “นักการเมือง”ปฏิบัติ ไม่ว่า “เพื่อไทย” ไม่ว่า”ประชาธิปัตย์” คือ

ยอมรับ และ รอคอย

 

1 ยอมรับว่าเกิดรัฐประหารขึ้นแล้ว ขณะเดียวกัน 1 รอคอยว่าคณะรัฐประหารจะทำอย่างไร

เมื่อ”รัฐธรรมนูญ”ออกมาก็เท่ากับเป็น “สัญญาณ”

ความหมายของ”สัญญาณ”ก็หมายความถึง “การเลือกตั้ง” จะหวนคืนมาอีกวาระหนึ่ง

ตรงนี้แหละคือ ปัจจัยสำคัญทาง”การเมือง”

เป็นโอกาสที่ “นักการเมือง” จะเสนอตัวไปอีกวาระหนึ่งเพื่อให้ “ประชาชน” ตัดสินใจ

นี่คือ “ทางเลือก” เพียงหนึ่งเดียวของ “นักการเมือง”