เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : อำนาจของวรรณกรรม

เคยเขียนถึงเรื่อง “หนังสือบังคับอ่าน” ว่านี่จะเป็นมาตรการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเรา “รักอ่าน” ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดภายในปีเดียวจริง

ถ้าเริ่มจากเปิดเทอมปีนี้ ปิดเทอมสิ้นปีหน้าวัดผลได้เลยว่า เยาวชนไทยทั่วประเทศจะรักการอ่านขึ้นมาทันทีแทบร้อยเปอร์เซ็นต์นั่นเลย

วิธีคือ กำหนดหนังสือและเรื่องสำคัญจากวรรณกรรมให้เด็กตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยม “ต้องอ่าน” สัปดาห์ละเล่มหรือละเรื่อง ด้วยการให้ทุกคนได้อ่าน เช่น ประถมหนึ่งสัปดาห์นี้อ่านนิทานเรื่อง “ปลาบู่ทอง” ให้อ่านในชั้นนั่นเลย โดยให้อ่านทีละคน คนละหน้าก็ได้ จบแล้วให้เด็กทุกคนคุยกันเรื่องความรู้สึกนึกคิดที่ได้จากเรื่องปลาบู่ทองนั้น

สัปดาห์ต่อไปก็ให้อ่านเล่มอื่นหรือเรื่องอื่น ด้วยวิธีเดียวกันนี้ อาจมีนิทานพื้นถิ่นของแต่ละภาค แต่ละจังหวัดนำมาอ่านในโครงการนี้ด้วย

ในหนึ่งปีเด็กทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถมถึงมัธยมจะได้อ่านหนังสือไม่ต่ำกว่า 50 เล่ม หรือ 50 เรื่อง

ด้วยวิธีนี้เด็กจะ “รักอ่าน” หนังสือขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

 

นึกดูในสิบสองปีเด็กประถมหนึ่งปีนี้เรียนจนจบมัธยมหก เขาจะได้อ่านวรรณกรรมอย่างแตกฉานทั้งของไทยรวมถึงของโลกด้วย เพียงแต่ละชั้นปีอย่าให้ซ้ำกัน โดยมีคณะกรรมการช่วยกำหนดกลั่นกรองตามความเหมาะสมเท่านั้น

ไปได้หนังสือเรื่อง “ปลาบู่ทอง” ฉบับ “กลอนสวด” จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร พ.ศ.2557 เปิดอ่านดูแล้วอาจยากเกินระดับประถมปีที่ 1 โดยเฉพาะภาคกลอนสวดด้วย ภาษาและสำนวนกวีต่างยุคกันมาก หากโดยเนื้อเรื่องแล้วน่าจะเป็นเรื่องเล่าแบบนิทานได้เลย

เกิดความคิดว่า หากโครงการ “หนังสือบังคับอ่าน” เป็นจริง บางเรื่องอาจต้องแต่งใหม่ ซึ่งก็ช่วยกันระดมนักเขียนให้ช่วยกันเขียนแต่งใหม่ได้ไม่ยาก ขอแต่ขั้นต้นกำหนดหนังสือหรือเรื่องที่เหมาะกับระดับชั้น และแต่ละระดับชั้นควรมีอะไรบ้างเท่านั้น

สำคัญคือต้องคำนึงถึงวรรณกรรมและเรื่องเล่าของแต่ละประเทศทั่วโลก โดยมีไทยเป็นพื้นฐาน บางเรื่องที่เป็นวรรณกรรมเอกของโลก อาจต้องเป็นเรื่องย่อ ก็ต้องมีต้องหามา

บางเรื่องที่สร้างเป็นภาพยนตร์แล้วก็ควรหามาฉายให้ดูเป็นภาคประกอบ เช่น เรื่องต้นส้มแสนรัก เป็นต้น

นี่เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการส่งเสริมให้รักการอ่าน ที่ลงทุนไม่มากแต่ผลคุ้มค่ามหาศาล

 

กลับมาเรื่องปลาบู่ทอง ฉบับ “กลอนสวด” คำว่า กลอนสวด ก็คือการอ่านนั่นเอง โบราณนั้นการอ่านออกเสียงดังๆ ด้วยลีลาทำนอง ถือเป็นการสวดทั้งนั้น

กลอนในที่นี้ โดยเฉพาะในเรื่องนี้แต่งเป็นประเภทกาพย์ ซึ่งมี ยานี 11 ฉบัง 16 สุรางคณางค์ 27

ขึ้นต้นไหว้ครูแล้วเริ่มเรื่องด้วยกาพย์สุรางคณางค์ 27

จะกล่าวตำนาน ตามเรื่องนิทาน แต่บูราณมา ยังมีกรุงไกร กว้างใหญ่นักหนา เมืองนั้นชื่อว่า พาราณสี ฯ

เศรษฐีชื่ออุทารก เมียหนึ่งชื่อขนิษฐา เมียสองชื่อขนิษฐี ลูกสาวคนแรกจากเมียขนิษฐาชื่อ เอื้อย ลูกสาวอีกสองคนจากเมียขนิษฐีชื่อ อ้ายกับอี่

เศรษฐีต้องตกยากโกรธนางขนิษฐา ขณะหาปลาด้วยได้แต่ปลาบู่ นางขนิษฐาอ้อนวอนจะเอาปลาบู่ไปให้ลูกเอื้อย แต่พ่อไม่ยอม โกรธถึงทำร้ายตกน้ำตาย วิญญาณขนิษฐาที่ผูกพันกับปลาบู่จึงไปเกิดเป็นปลาบู่

นางเอื้อยซึ่งขณะนั้นอายุเจ็ดขวบพอรู้ว่าแม่ไม่กลับมาแล้ว ก็…

 


๐ กลิ้งเกลือกเสือกแทบขาดใจ มารดาข้าไป

บรรลัยเสียในนที

๐ ทอดกายลงกับธรณี ข้อนทรวงหมองศรี

กำสรดระทดไปมา ฯ

 

ตามเรื่องก็คือแม่ไปเกิดเป็นปลาบู่ จนนางเอื้อยได้พบกัน ฝ่ายแม่เลี้ยงกับสองลูกเลี้ยงรู้เข้าหลอกจับปลาบู่ไปฆ่า เป็ดอมเกล็ดปลาบู่ให้นางเอื้อยจึงเอาเกล็ดปลาแม่ไปฝังงอกเป็นมะเขือเปราะ แม่เลี้ยงใจร้ายโค่นต้นมะเขือ เป็ดอมเม็ดมะเขือให้นางเอื้อย ซึ่งเอาไปปลูกเป็นต้นโพธิ์ทองโพธิ์เงิน

กระทั่งท้าวพรหมทัตขอต้นโพธิ์ทองโพธิ์เงินและนางเอื้อยเข้าวังเป็นมเหสี ฝ่ายมารแม่เลี้ยงใจร้ายทำอุบายลวงนางเอื้อยมาฆ่าแล้วให้นางอ้ายเข้าเป็นมเหสีแทน

นางเอื้อยกลายเป็นนกแขกเต้าเข้าทูลข่าว ท้าวพรหมทัตจึงเลี้ยงนกในกรงทอง แต่แล้วนกแขกเต้าก็ถูกนางอ้ายใจร้ายจับนกแขกเต้าฆ่า ขณะเพิ่งถูกถอนขน นกแขกเต้าดิ้นตกลงท่อรังหนู ซึ่งหนูใจดีช่วยดูแลจนนกแขกเต้าขนงอกบินไปพบฤๅษีทราบเรื่องชุบนกคืนเป็นนางเอื้อยดังเดิม

จบลงด้วยดี นางเอื้อยคืนวัง พรหมทัตลงอาญา ที่สุดนางอ้ายกินยาตายระหว่างถูกจองจำ ครอบครัวรู้ข่าวแล้วจึงหนีเข้าป่าพบปัจเจกพุทธได้รักษาศีลบำเพ็ญธรรม

ตามขนบนิทานพุทธรรม

 

๐ ทั้งสามจึงคิดเห็น ความยากเข็ญแสนทวี

เข็ญใจร้ายอัปรีย์ ทำมิดีแต่ก่อนมา

๐ ตั้งแต่วันนี้ไป จงตั้งใจอย่าคลาดคลา

จำศีลภาวนา รักษาไตรสรณาคมน์ ฯ

 

เรื่องจบเท่านี้ ที่ไม่จบคือความเชื่อของคนไทยที่ทุกวันนี้ยังไม่กล้ากินปลาบู่ มิใช่เพราะแพงหรือหายาก หากไม่กล้ากินด้วยความเชื่อเรื่องอาจมีวิญญาณของแม่สิงอยู่ในปลาบู่

นี่คืออิทธิพลของวรรณกรรมให้เรารักสิ่งแวดล้อม ว่าอาจมีวิญญาณของบรรพบุรุษสิงสู่อยู่ นี้คืออำนาจของวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลอยู่ในสังคมไทย

แม้จนวันนี้