มนัส สัตยารักษ์ : ขนบธรรมเนียมอันศักดิ์สิทธิ์

ไม่น่าเชื่อว่ายุทธการ “ขายบัตรการกุศล” ยังสืบทอดการปฏิบัติดังหนึ่งเป็นมรดกอันถาวรคงทนอยู่ในยุทธจักรสีกากีมาจนถึง ปี พ.ศ.2560 นี้ คนไม่ยอมขายบัตรอย่างผมเข้าใจผิดคิดว่าการขายบัตรการกุศลอันแสนโบราณนี้เราเลิกปฏิบัติกันมานานก่อนผมเกษียณอายุกว่าสิบปีแล้ว

ถ้านับรวมกับเวลาที่เกษียณก็กว่า 30 ปี เป็น 30 ปีที่น่าจะมีตำรวจรุ่นใหม่ลบล้างขนบธรรมเนียมหรือประเพณีนี้เสียได้แล้ว

ขออภัยที่ผมพูดถึงยุทธการขายบัตรของสมาคมตำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่าเป็นการ “ไถแบบโบราณ” คำว่า “ไถ” เป็นคำที่ค่อนข้างจะรุนแรงเกินไปในยุคปัจจุบัน คือไม่น่าจะมีอยู่ในปทานุกรมของตำรวจอีกแล้ว

ก่อนหน้า 30 ปีนั้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นตำรวจ แต่คนที่เป็นตำรวจหรือต้องรับภาระขายบัตรต่างก่นด่าผู้ที่คิดไอเดียแจ่มแจ๋วนี้ขึ้นมา

จริงอยู่ที่ผู้ปิ๊งไอเดียอาจจะปรารถนาดีต่อสังคม จัดกิจกรรมอะไรขึ้นมาสักอย่าง เช่น การแสดงดนตรี การแข่งขันกีฬา ฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ การสร้างพระเครื่องของขลัง สร้างวัตถุถาวรต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมการกุศล

ประหนึ่งว่ากิจกรรมเหล่านั้นเพื่อตอบแทนผู้ซื้อบัตรหรือผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมสร้างกุศล

แต่คิดบ้างไหมครับว่า ในความเป็นจริงนั้นทันทีที่ตำรวจเอ่ยปากขายบัตร คงเดาออกนะว่าคนที่ซื้อ (หรือต้องซื้อ) จะนึกก่นด่าตำรวจอยู่ในใจว่าอย่างไร!

 

ตํารวจ -โดยเฉพาะตำรวจท้องที่ (โรงพัก) ผู้ต้องรับภาระการขายบัตร- ย่อมรู้ดีว่าคนที่คิดเสนองานนี้ขึ้นมาต่างได้หน้าได้ตา ได้ดิบได้ดี ดังนั้น จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ไม่กล้าคัดค้าน ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ขายบัตรที่น่าอึดอัดไปแต่โดยดี

ในฐานะที่ผมเป็นคนที่ไม่เคยรับบัตรการกุศลทำนองนี้มาขาย ผมจึงอดคิดไม่ได้ว่า เจ้าของโครงการและผู้เกี่ยวข้องล้วนยอมรับสถานะอันน่ารังเกียจของตำรวจ นอกจากยอมรับแล้วอาจจะยกย่องในความสามารถอันหาได้ยากอีกด้วย ถือเป็นความสามารถพิเศษที่ข้าราชการเหล่าอื่นทำไม่ได้

ผู้บังคับบัญชาบางรายนอกจากหวังจะได้ความดีความชอบเป็นการส่วนตัวแล้ว ดีไม่ดีอาจได้เงินส่วนเกินอีกโสดหนึ่งด้วย

สาเหตุที่เกิดมีส่วนเกินงอกขึ้นมาเป็นเพราะผู้ซื้อบัตรส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจ “กิจกรรม” ที่จัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนัง ละคร ดนตรี หรือฟุตบอล จ่ายค่าบัตรแล้วก็ไม่ได้เอาบัตรใส่กระเป๋า อาจจะพูดให้ตำรวจหายตะขิดตะขวงใจว่า “ฝากท่านเอาไปให้เด็กๆ เขาไปดูกันด้วยนะครับ”

ตำรวจบางคนก็เอาส่วนนี้ไปขายอีกรอบหนึ่ง งานกุศลจึงกลายเป็น “อกุศล” ไปทันที

สรุปแล้วผลการดำเนินการจะดีหรือเลว เป็นบุญหรือบาปอย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตำรวจก็เสื่อมทรามลงไปทั้งสิ้น

 

มีเรื่องราวของการต่อต้านปฏิเสธการขายบัตรการกุศลเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องที่นายตำรวจกล้าพูดความจริงของภารกิจขายบัตร จนกลายเป็นตำนานหนึ่งของสถาบันตำรวจ

เหตุเกิดที่กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2 ครั้งที่กรมตำรวจยังแบ่งโครงสร้างตำรวจภูธรเป็น 4 ภาค กองบัญชาการตำรวจภูธร 2 ก็คือพื้นที่ภาคอีสานทั้งตอนบนและตอนล่าง มี พล.ต.ท.บุญทิน วงศ์รักมิตร (พล.ต.อ./ผช.อ.ตร.) เป็นผู้บัญชาการ

ในช่วงเวลานั้นผู้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง (บางที่เรียกว่าได้รัฏฐาธิปัตย์) ปิ๊งไอเดีย “การกุศล” ด้วยการบอกบุญระดับชาติเพื่อสร้างอะไรสักอย่าง (ผมไม่อยากจำ)

เจ้าของไอเดียยึดติดความคิดดั้งเดิมราวกับเป็นขนบธรรมเนียมอันศักดิ์สิทธิ์ว่า ผู้รับภารกิจงานนี้คือตำรวจ จึงได้ “บอกบุญ” มายังกรมตำรวจตามที่เคยปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อน

และอธิบดีกรมตำรวจก็ส่งต่อไปยังกองบัญชาการต่างๆ ในสังกัด

เมื่อท่านผู้บัญชาการกำลังแจงรายละเอียดของบัตรการกุศลแก่บรรดานายตำรวจระดับกองบังคับการและหัวหน้าตำรวจจังหวัดของภาคอีสานนั้น

“อาจารย์ป๋อม” อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช (พล.ต.อ./รอง ผบ.ตร.) รอง ผบก.ภ./หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ นายตำรวจไฟแรง ปากกล้า ได้ลุกขึ้นปฏิเสธการขายบัตร… การบอกบุญเป็นการ “เบียดเบียน” ประชาชน ทำให้ภาพของตำรวจเสียหายและถูกประณาม

การปฏิเสธครั้งนี้เท่ากับเป็นการระเบิดคำพูดแทนนายตำรวจทั้งกรมก็ว่าได้

พล.ต.ท.บุญทิน วงศ์รักมิตร เอาน้ำเย็นเข้าลูบโดยชี้แจงอย่างเจือด้วยอารมณ์ขันว่า ผู้ใหญ่ที่ท่านนับถือจะเกษียณอายุในปีนี้แล้ว ได้รับบัตรราคา 10,000 บาท กับราคา 5,000 บาท จากผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ท่านจำเป็นต้องแบ่งกระจายส่งต่อไปยังกองบัญชาการในสังกัดเพื่อรักษามิตรภาพระหว่างทหาร-ตำรวจ

“กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดเล็ก พี่ป๋อมรับใบละ 5,000 บาทไปก็แล้วกัน”

อาจารย์ป๋อมเจออารมณ์ขันและเหตุผลที่ยากจะปฏิเสธก็ยอมรับปฏิบัติ

หลังการประชุมเสร็จสิ้น ท่านได้ให้ พ.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ไปพบที่ห้องทำงาน แสดงความเข้าใจในอุดมการณ์ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่รับแต่เงินเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านสนับสนุนโครงการ “ล้างหนี้ตำรวจกาฬสินธุ์” ทราบดีว่าอาจารย์ป๋อมเจ้าของโครงการต้องกู้เงินธนาคารหลายล้านเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

“ห้าพันบาทของกาฬสินธุ์พี่ออกให้ก็แล้วกัน!” ท่านบุญทินสรุป

ท่านบุญทินมีฉายาจากสื่อและยุทธจักรตำรวจว่า “อินทรีอีสาน” จากความเป็นมือปราบและนักบริหารที่รับราชการในภาคอีสานมาเกือบตลอดอายุราชการ เป็นที่รักใคร่นับถือของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนข้าราชการและประชาชน

ท่านเป็นนายตำรวจจากโรงเรียนนายร้อยสำรอง (ทหารบก) ผ่านหลักสูตร วปอ. ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับปริญญาโท ยศและตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณคือ “พล.ต.อ./ผู้ช่วย อ.ตร.” และหน้าที่หลังสุดคือ เป็นเลขานุการ รมว.กระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.เภา สารสิน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมสะกิดบอก ผบ.ตร. และนายกสมาคมตำรวจในคอลัมน์ “กาแฟโบราณ” ให้ระมัดระวังในการมอบเงินสวัสดิการช่วยเหลือ ร.ต.อ.ชัยณรงค์ หาญธงชัย (ผาง) ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเฮลิคอปเตอร์ตก รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจถึง 7 เดือนยังไม่หายเป็นปกติ

ผมเป็นเพื่อนกับผางทางสื่อโซเชียลมานานก่อนเกิดเหตุ เดาออกว่าเขาเป็นนายตำรวจที่มีเกียรติเกินกว่าจะรับเงินจากค่าปรับหรือเงินจากการขายบัตรอันน่าอัปยศ

ส่งต้นฉบับไปแล้วจึงอ่านพบที่ผางชี้แจงข่าวอาการบาดเจ็บและการช่วยเหลือของเพื่อน เขาเกรงว่าภาพและเนื้อข่าวจะทำให้เป็นที่เข้าใจผิดได้ว่า ผู้บังคับบัญชาไม่ใส่ใจดูแล เขาแบ่งเงินช่วยเหลือมอบให้แก่เพื่อนนายตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บมาด้วยกัน

ผมภูมิใจที่อ่านใจนายตำรวจนักบินถูกต้องทะลุปรุโปร่งโดยไม่ต้องเห็นตัว