ทรัมป์กับมุสลิม (8) : นายพล Flynn กล่าวกันว่า “สุดโต่ง-อิสลาโมโฟเบีย”

จรัญ มะลูลีม

กล่าวกันว่า Flynn ซึ่งหลุดจากอำนาจและตำแหน่งสำคัญด้านความมั่นคงไปแล้ว เป็นคนที่มีความสุดโต่งและเกี่ยวข้องอยู่กับอิสลาโมโฟเบีย

เขาก็เหมือนกับ Bannon ซึ่งเชื่อว่าสหรัฐซึ่งยึดแนวทางจูดาห์-คริสเตียน-ตะวันตก กำลังอยู่กับสงครามต่อต้านอิสลาม

ซึ่ง Flynn ไปไกลมากถึงกับกล่าวว่าสงครามนี้อาจเป็นสงครามร้อยปี (hundred-year war) ก็ได้

ทั้งนี้ ศัตรูที่ Flynn กล่าวถึงโดยทันทีก็ได้แก่ อัล-กออิดะฮ์ฮิสบุลลอฮ์ ไอเอส และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน

เขาทวีตว่า ความหวาดกลัวอิสลามนั้นมีเหตุผล ทั้งนี้ ตัวเขาเองก็เหมือนกับ K.T. Mc Fardand ผู้ช่วยสูงสุดของเขาที่พูดถึงความ “สุดโต่งอิสลาม” ว่าเป็นเหมือนลัทธิแห่งความตายที่นำเอาความสูญเสียร้ายแรงมาให้…ส่งผลรวดเร็วและอาจนำไปสู่ความตายได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำลาย ก่อนที่อิสลามจะทำลายตะวันตก

ในขณะที่ทรัมป์ได้ให้สัญญาครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเขาจะต้องกวาดล้างอิสลามสุดโต่งออกไป จากนั้นคำพูดของเขาได้หลุดจากคำว่าอิสลามสุดโต่งไปอยู่แค่คำว่า “อิสลาม”

ทั้งหมดนั้นมีที่มาจากที่ปรึกษาเหล่านี้ของเขาทั้งสิ้น

AFP PHOTO / EPA POOL / JIM LO SCALZO

ในมุมมองของทรัมป์และที่ปรึกษาของเขา ศัตรูตัวฉกาจและมาตุภูมิของการก่อการร้าย ซึ่งจำเป็นต้องมีการเผชิญหน้ากันด้วยทุกอย่างที่มีอยู่ก็คืออิหร่าน

การมุ่งไปที่อิหร่านนั้นมีมานานแล้ว พวกแก๊งอนุรักษนิยมใหม่หรือขวาใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในฝ่ายบริหารของบุช และใกล้ชิดกับพวกขวาจัดในรัฐบาลลิคุด (Likud) ของอิสราเอลจะกล่าวอยู่เสมอว่าการรุกรานอิรักซีเรียและลิเบียเป็นเพียงแค่ก้าวแรกไปยังการยึดครองอิหร่าน

ตามคำขวัญที่ว่าคนจริงแท้ไปเตหะราน (Real men go to Tehran)

ความไม่ครอบคลุมที่กล่าวมานั้นค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่น่าสังเกต คนที่เกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นคนเขียนหนังสือ นายพลหรือคนอื่นๆ ดูเหมือนจะไม่ได้มีข้อสังเกตว่าอิหร่านคือประเทศที่ต่อสู้กับการก่อการร้ายมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นอัล-กออิดะฮ์ ฏอลิบาน และไอเอสในอิรัก ซีเรีย รวมทั้งในเลบานอน

จึงเป็นไปไม่ได้ที่อิหร่านจะเป็นพันธมิตรกับกลุ่มก้อนเหล่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วยศัตรูของอิหร่านเอง

AFP PHOTO / NICHOLAS KAMM

เป็นเรื่องสำคัญที่หนังสือของ Flynn เรื่องสนามการต่อสู้ : เราจะชนะสงครามระดับโลกเพื่อต่อต้านอิสลามสุดโต่งและพันธมิตรได้อย่างไร (The Field of Fight : How We can Win the Global War Against Radical Islam and its Allies) โดยมี Michael Ledeen ร่วมเขียนด้วยเป็นหนังสือที่แสดงอุดมการณ์ของขวาใหม่ที่มุ่งสู่การทำสงครามกับอิหร่าน

หนึ่งในเหตุผลของการตัดสินใจเลือกแบนมุสลิมจากบางประเทศ อย่างอิหร่าน อิรัก ซีเรีย เยเมน ซูดาน ลิเบีย และโซมาเลีย อาจเป็นเพราะประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เคยงัดข้อกับฝ่ายบริหารของสหรัฐมายาวนาน

นอกจากนี้ บางประเทศจากเจ็ดประเทศก็เคยถูกสหรัฐโจมตีและรุกรานมาแล้ว ฝ่ายบริหารของโอบามาก็เคยมีมาตรการตรวจสอบก่อนให้วีซ่าแก่ผู้คนจากบางประเทศเหล่านี้มาแล้ว

อย่างเช่น ในปี 2011 มีการหยุดการออกวีซ่าให้กับชาวอิรักเป็นเวลาหกเดือน

ในขณะที่พันธมิตรทางทหารของสหรัฐอย่างซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และปากีสถานได้รับการยกเว้น

ปัญหาสำคัญที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเข้ามาของผู้อพยพโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อพยพที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย

การสังหารและวิกฤตของผู้อพยพเริ่มขยายตัวหลังจากสหรัฐเข้ายึดครองอิรักในปี 2003 การเข้าไปแทรกแซงในลิเบียและซีเรียทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนย่ำแย่เข้าไปอีก

เป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่าการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรแถบอ่าวที่ร่ำรวยนั้นในเบื้องต้นทำให้กลุ่มนักสู้ติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ดำรงอยู่ได้และต่อมากลุ่มเหล่านี้ก็กลายมาเป็นกลุ่มนักสู้ที่ถูกเรียกว่าผู้ก่อการร้ายอย่างเช่นกลุ่มดาอิชห์ (Daesh) หรือไอเอสและกลุ่มอัล-นุสเราะฮ์

ส่วนใหญ่ของกลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง 9/11 ซึ่งเข้าโจมตีสหรัฐนั้นล้วนมาจากซาอุดีอาระเบียส่วนที่เหลือก็จะมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และเลบานอน

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ยกเอาเหตุการณ์ 9/11 มาหาเหตุผลให้กับการแบนชาวมุสลิมของเขา ที่น่าสนใจคือไม่มีการประท้วงจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นจากการแบนแม้แต่ประเทศเดียว อย่างเช่น อียิปต์ ปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย

ทรัมป์ไม่ยอมเสียเวลาด้วยการออกมากล่าวอย่างเปิดเผยว่าเขาต้องการย้ายสถานทูตในอิสราเอลจากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม (Jerusalem) แม้ว่าเขายังจะต้องดูตารางสำหรับเรื่องนี้ก่อน

หน่วยงานอย่าง Palestinian Authority รวมทั้งกลุ่มการเมืองหลากหลายของปาเลสไตน์ได้เตือนว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวคือการสิ้นสุดกระบวนการสันติภาพและการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสองรัฐ (two-state solution)

AFP PHOTO / Brendan Smialowski

ในระยะเวลาแค่ชั่วข้ามคืนฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้ยกเอาประเด็นความตึงเครียดทางทหารกับอิหร่านมากล่าวถึงหลังจากอิหร่านได้ทดลองขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศในตอนปลายสัปดาห์ของเดือนมกราคม ปี 2017

อิหร่านได้ทดลองมาก่อนหน้านี้แล้วนับตั้งแต่มีการลงนามว่าด้วยนิวเคลียร์

หลังจากอิหร่านยอมลดหย่อนเรื่องนิวเคลียร์ สิ่งเดียวที่จะใช้ต่อต้านการรุกรานจากต่างชาติที่อิหร่านมีก็เหลืออยู่แค่เทคโนโลยีด้านขีปนาวุธเท่านั้น

ภายใต้มติ 2231 ของคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งยุติการแซงก์ชั่นอิหร่านไปแล้วนั้น อิหร่านไม่ได้ถูกห้ามจากการทดลองขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ

ฝ่ายบริหารของโอบามาพยายามที่จะรวมการห้ามการทดลองขีปนาวุธดังกล่าวไว้ในข้อตกลงด้วย แต่ได้รับการคัดค้านไม่เฉพาะจากรัสเซีย จีนแต่รวมทั้งพันธมิตรยุโรปของสหรัฐ ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจหยุดยั้งฝ่ายบริหารของทรัมป์จากการนำเอาการแซงก์ชั่นฝ่ายเดียวมาใช้ได้ ด้วยการมุ่งไปที่บริษัทและตัวบุคคล ซึ่งถูกกล่าวอ้างว่าเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในโปรแกรมการทดลองขีปนาวุธ รวมไปถึงในส่วนของธนาคารด้วย

 

Flynn ซึ่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของทรัมป์อยู่ในเวลานั้นประกาศอย่างน่าตื่นเต้นว่าฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้จับตามองอิหร่านอย่างเป็นทางการซึ่งมีผลทันทีหลังจากอิหร่านทดลองขีปนาวุธ

การโจมตีเรือรบซาอุดีอาระเบียโดยฝีมือของฝ่ายฮูษีถูกมองอย่างผิดๆ ว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน ก่อนขึ้นรับตำแหน่งที่เวลานี้เป็นอดีตไปแล้วนั้น Flynn ถึงกับกล่าวว่าเขาถือว่า “อิหร่านนั้นมีอันตรายมากกว่ากลุ่มดาอิชห์” หรือไอเอสเสียอีก

เขาพูดถึงอิสลามอย่างขาดความเข้าใจว่าเป็นดัง “มะเร็ง” ด้วยการยืมบทความเรื่องการปะทะทางวัฒนธรรม” ของฮันติงตัน (Samuel Huntington) มาใช้เขาเลือกที่จะนำภาพ “อิสลามสุดโต่ง” ตามการเรียกของเขามานำเสนอและอธิบายว่าเป็นการคุกคามที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของมนุษย์ (existential threal)

แต่ในโลกทรรศน์ของทรัมป์ แม้แต่ขบวนการหรือกลุ่มก้อนอย่างภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) หรือฮูษี (Houthis) ในเยเมนี พร้อมๆ ไปกับประเทศอย่างอิหร่านซึ่งช่วยสหรัฐต่อสู้กับไอเอสอยู่ในอิรัก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกลุ่มอิสลามสุดโต่งทั้งสิ้น

Bannon ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของทรัมป์และสมาชิกสภาความมั่นคงกล่าวว่าพวกจูดาห์คริสเตียนตะวันตกกำลังเผชิญการทำลายล้างจากพวกอิสลามฟาสซิสต์