อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (22) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

ยี่สิบกว่าปีก่อนในชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์

อาจารย์ท่านหนึ่ง : อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประเทศสเปนครอบครองและจัดตั้งอาณานิคมในละตินอเมริกาได้สำเร็จ

นักศึกษา : อาวุธ ความสูงส่งด้านอารยธรรม ความเชื่อของคนพื้นถิ่นที่ว่าพวกผิวขาวคือพระเจ้าที่เสด็จมาจากแดนไกล

อาจารย์ท่านนั้น : ถูกต้อง ลองคิดดูสิว่าประเทศที่สามารถแล่นเรือข้ามภัยพิบัตินานามาถึงดินแดนรกร้างว่างเปล่าจะมีความสามารถขนาดไหน ด้วยความสามารถขนาดนั้น อย่าว่าแต่จะครอบครองดินแดนละตินอเมริกาเลย จนแม้แต่การครอบครองโลกพวกเขาก็น่าจะกระทำได้

แน่นอนเมื่อผนวกด้วยความเชื่อที่ว่าพวกเขาคือผู้ปลดปล่อยด้วยแล้วยิ่งทำให้การจัดการผู้คนที่ด้อยอารยธรรมกว่าเป็นไปอย่างง่ายดาย…

หลังเลิกเรียนในวันนั้น ผมเชื่อว่านักศึกษาแทบทั้งหมดคงลืมการสนทนาที่ว่านั้นไปแล้ว

ผมเองก็เช่นกัน สำหรับนักศึกษาจากอีกซีกโลกหนึ่ง การเข้าใจดินแดนที่อยู่สุดขอบว่าเป็นเช่นไรนั้นคงทำได้เพียงแค่เห็นเงาจางๆ ในความคิด

เรารู้ว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส คือชาวต่างถิ่นที่ไปถึงที่นั่นเป็นคนแรก

เรารู้ว่าเจิ้งเหอหรือเจ้าพ่อซำปอกง นักเดินทางผู้สามารถแห่งราชวงศ์เหม็งอาจไปถึงที่นั่นด้วย

เรารู้ว่าทวีปอเมริกาตั้งชื่อตาม อเมริโก เวสปุชชี่ นักเดินทางชาวอิตาเลียน

เรารู้ว่า การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลอมเบียได้เขียนถึงพัฒนาการทางดินแดนของพวกเขาผ่านทางนวนิยายเรื่องเยี่ยมคือหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

เรารู้ว่าความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสเปนนั้นมีอยู่จริงจนแม้ประเทศฟิลิปปินส์ที่อยู่ไม่ห่างจากเรานักยังไม่อาจพ้นเงื้อมมือการยึดครองของพวกเขาได้

กระนั้นเราก็ไม่รู้อีกหลายสิ่งเหลือเกินจากการเรียนในห้องประวัติศาสตร์ครั้งนั้น

สิ่งที่เราไม่รู้นั้นล้วนสำคัญต่อการอธิบายถึงการเสื่อมถอยของอำนาจจากประเทศสเปนในดินแดนต่างๆ

ทำไมประเทศที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นจึงหลงเหลือพื้นที่ในปัจจุบันเพียงห้าแสนกว่าตารางกิโลเมตร

ทำไมประเทศบราซิลซึ่งมีพื้นที่ใหญ่โตถึงตกเป็นอาณานิคมของประเทศโปรตุเกสแทน

ทำไม ซีมอน โบลิวาร์ ผู้ปลดปล่อยเอกราชของดินแดนละตินอเมริกาจึงทำการได้สำเร็จ

และทำไมถึงยังปรากฏบุคคลแบบ เช กูวารา ขบวนการซาปาติสต้า แม้แต่ซิการ์คิวบาในดินแดนโลกใหม่ ประเทศสเปนมาถึงอาณานิคมเหล่านี้ มั่งคั่ง ร่ำรวยทั้งจากทรัพย์สินของอาณาจักรอินคาและแอซเต็ก

แต่ทำไมถึงจากไปพร้อมกับความจนยาก อะไรหรือคือสาเหตุของสิ่งเหล่านั้น

 

ในช่วงเวลาของการสำรวจโลกใหม่นั้น มีหลายสิ่งที่น่าสนใจและกลายเป็นตำนานเล่าขาน ความหิวกระหายในสิ่งที่เรียกว่าทองคำคุโชนในจิตใจของเหล่านักสำรวจชาวสเปนที่เรียกขานกันเฉพาะว่าพวกคองคิสตาดอร์-Conquistador หลังการประจักษ์กับทองคำมหาศาลในอาณาจักรอินคาและแอซเต็ก

พวกเขาพากันสนใจในคำเล่าลือถึงดินแดนที่ปูด้วยทองคำแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า เอล โดราโด้-El Doradoในปี 1972 ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเยอรมันนาม แวร์เนอร์ แฮร์ซอก ได้สร้างภาพยตร์ที่เลียนแบบความเป็นจริงในดินแดนโลกใหม่ช่วงศตวรรษที่สิบหกขึ้นมา เพื่อจำลองชีวิตและความยากลำบากของนักสำรวจชาวบาสก์คนหนึ่งนาม โลเป้ เดอ อกิเร่-Lope De Aguirre

อากิเร่นั้นมีสมญานามว่า เอล โลโก้-El Loco หรือชายบ้า หรือตัวแทนความดุดันของพระเจ้า (Wrath of God)

ในวัยห้าสิบเอ็ดปี และในปี 1561 เขาตัดสินใจล่องแม่น้ำอเมซอนในดินแดนเปรูเพื่อค้นหาดินแดน เอล โดราโด้

แรงปรารถนาในการผจญภัยของอกิเร่นั้นอุบัติขึ้นเมื่อเขามีวัยเพียงยี่สิบปี

ช่วงเวลานั้นเขาอาศัยอยู่ในเมืองเซวิลล์ และ แฮร์นันโด ปิซาร์โร่ หนึ่งในพี่น้องตระกูลปิซาร์โร่ ได้เดินทางกลับมาเซวิลล์พร้อมกับเรื่องเล่าที่ข้องเกี่ยวกับการพิชิตอาณาจักรอินคา

เรื่องราวเช่นนั้นทำให้อกิเร่ตัดสินใจเดินทางไปโลกใหม่

เขาไปถึงเปรูในปี 1536 และเริ่มงานครั้งแรกในคูซโก้ เมืองหลวงของนิวโทเลโด้ ในฐานะข้าราชการเมือง

ความดุดัน บ้าคลั่ง ไม่ฟังใครของเขาทำให้ชื่อเสียงของอกิเร่เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว

และเมื่อถึงปี 1544 อกิเร่ได้ก่อการกบฏโดยเข้าข้างอดีตผู้สำเร็จราชการเปรูนาม นูเนซ เวล่า และลงมือต่อต้าน กอนซาโร่ ปิซาร์โร่ ผู้สำเร็จราชการคนใหม่ที่เดินทางมาจากสเปนพร้อมกับกฎระเบียบใหม่ที่รับมาจากราชสำนักที่ต้องปลดปล่อยพวกทาสในโลกใหม่ให้เป็นอิสระ

แน่นอนที่กฎเกณฑ์เหล่านี้ย่อมไม่เป็นที่ถูกใจของเหล่าคองคิสตาดอร์ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้พวกอินเดียนเป็นกองกำลังส่วนตนได้

อกิเร่ร่วมมือกับ เมลเชอร์ เวอร์ดูโก้ บุกเข้าไปช่วย นูเนซ เวล่า ที่ถูกคุมขังอยู่บนเกาะซาน ลอเรนโซ่ หากแต่ประสบความล้มเหลวและทำให้เขาต้องหลบหนีออกจากลิม่าไปยังคาจามาร์ก้า ในขณะที่ นูเนซ เวล่า ได้รับความช่วยเหลือจากคองคิสตาดอร์อีกคนคือ โออิโด อัลวาเรซ

การศึกระหว่าง นูเนซ เวล่า กับ กอนซาโร่ ปิซาร์โร่ ดำเนินไปเป็นเวลาสองปี ก่อนที่ นูเนซ เวล่า จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในปี 1546

 

ช่วงเวลาตอนนั้นเองที่ทำให้อกิเร่ต้องเร่ร่อนหลบหนีอยู่ในป่าดงดิบในเปรูเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่เขาจะกลับเข้าเมืองอีกครั้งในปี 1551

เขาพำนักอยู่ที่โปโตซี่อันเป็นประเทศโบลิเวียในปัจจุบันและถูกจับกุมตัวที่นั่น

ฟรานซิสโก้ เดอ เอสกิวัล ผู้พิพากษาประจำดินแดนพิพากษาเขาด้วยข้อหาที่ว่าเขาได้ทำการทารุณกรรมชาวอินเดียนพื้นถิ่น

บทลงโทษของเขาคือการล่ามไว้กับแพและปล่อยให้แพนั้นล่องแม่น้ำไปในป่าลึก

หากแต่อกิเร่กลับรอดตายมาได้ เขาประกาศว่าจะต้องสังหาร ฟรานซิสโก้ เดอ เอสกิวัล เพื่อกู้คืนศักดิ์ศรีคืนมาให้จงได้

คำประกาศนั้นสร้างความหวาดหวั่นกับเอสกิวัลอย่างยิ่งจนเขาต้องเปลี่ยนที่พำนักแทบตลอดเวลา

ทว่าก็ไม่อาจพ้นเงื้อมมือของอกิเร่ได้ อกิเร่ติดตามเอสกิวัลไปถึงลิม่า ควิโต และคูซโค่ เป็นเวลาสามปีที่อกิเร่เดินเท้าเปล่าติดตามเหยื่อของเขา

และในที่สุดเขาก็ได้พบเอสกิวัลที่บ้านพักในคูซโค่

อกิเร่บุกเข้าไปในห้องสมุด เมื่อพบว่าเอสกิวัลกำลังหลับใหลอยู่

เขาจ้วงแทงเอสกิวัลจนถึงแก่ความตายก่อนจะหลบหนีออกจากคูซโค่ไปยังฮัวมันก้า ที่เขามีญาติพำนักอยู่

 

เรื่องราวของ โลเป้ เดอ อกิเร่ ดูจะเงียบหายไปก่อนที่เขาจะปรากฏตัวอีกครั้งในปี 1560

ครานี้เขามีชื่อเข้าร่วมงานสำรวจหา เอล โดราโด้ ขุมทองในตำนานร่วมกับ เปโดร เดอ อูซูร์-Pedro de Ursua (อันเป็นต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องอกิเร่ นั่นเอง)

อกิเร่พร้อมด้วยลูกสาวของเขาคือเอวิร่าและทหารสเปนอีกราวสามร้อยนายล่องไปตามแม่น้ำอเมซอน เข้าไปในป่าลึกก่อนจะพบว่าเขาและทหารทั้งหลายถูกหลอก

ทหารทั้งหมดในขบวนนี้ล้วนเป็นบุคคลที่ขึ้นบัญชีดำโดยรัฐบาลสเปนในฐานะตัวปัญหาต่อโลกใหม่

เรื่องราวการสำรวจ เอล โดราโด้ นั้นเป็นเพียงตัวล่อเพื่อหลอกทหารเหล่านี้ให้มารวมกัน

อกิเร่สังหารเปโดร เดอ อูซูร์ ภายหลังจากที่พบความจริง และตั้งตนเป็นผู้นำการเดินทางนี้โดยปริยาย

หนึ่งปีให้หลัง คณะสำรวจเดินทางผ่านแม่น้ำโอริโนโก้จนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก

ที่ปากแม่น้ำนั่นเอง อกิเร่ได้สถาปนาตัวเขาขึ้นเป็น “รัชทายาทแห่งเปรู”

โดยมีกองกำลังทหารสเปนที่หลงเหลือเพียง 186 คนเป็นบริวาร

หลังจากนั้นไม่นาน อกิเร่บุกไปยังเกาะมาการิต้า จับผู้ว่าการเกาะและชาวสเปนที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์สังหาร ก่อนจะข้ามไปยังฝั่งดินแดนปานามา เมื่อพบการต่อต้านจากกองทัพสเปน

กองทัพสเปนล้อมเขาไว้ในวงล้อมจนเข้าตาจน เขาตัดสินใจสังหารลูกสาวของตนเองคือเอวิร่าเพื่อไม่ให้เธอต้องตายภายใต้เงื้อมมือคนอื่น

หลังจากนั้นเขาถูกจับและถูกยิงจนเสียชีวิต ร่างของเขาถูกสับเป็นชิ้นและถูกส่งกลับไปประจานในเมืองเพื่อมิให้ใครเอาเยี่ยงอย่าง

และนั่นคือการปิดตำนานของ โลเป้ เดอ อกิเร่ ชายบ้าแห่งโลกใหม่

 

ภาพยนตร์เรื่องอกิเร่-Aguirre ของ แวร์เนอร์ แฮร์ซอก ได้รับคำชื่นชมอย่างมากเมื่อแรกฉาย (มันยืนโรงในปารีสนานถึงสิบห้าเดือน) ในด้านที่มันสามารถถ่ายทอดสภาพของป่าดงดิบ ความเครียดที่อาจนำไปสู่ความวิกลจริตของผู้มาจากต่างถิ่น (ส่วนหนึ่งนั้นจากการแสดงของนักแสดงนาม เคลาส์ คินสกี้ ที่ว่ากันว่าเขาออกอาการวิกลจริตไม่ต่างจากอกิเร่ในขณะถ่ายทำ) ดินแดนที่ไม่รู้จัก และโรคภัยนานา

กาลเวลาผ่านไปกว่าสี่ร้อยปี แต่ภาพของแม่น้ำที่ไหลอย่างสงบเงียบโดยปราศจากผู้คนยังให้ความรู้สึกน่าสะพรึงกลัวไม่เปลี่ยนแปลง

และสิ่งที่รออยู่ในป่าดงดิบและแม่น้ำสายใหญ่อย่างอเมซอนคือ ขุมทอง เอล โดราโด้ ก็ยังคงเป็นปริศนาที่รอวันคลี่คลาย