กรองกระแส ยุทธศาสตร์ อยู่ยาว กับ ผลงาน ความสำเร็จ ยุทธวิธี ของ “คสช.”

มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า 1 รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 แตกต่างไปจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ความแตกต่างมิได้อยู่ที่ต้องการมิให้ “เสียของ”

ตรงกันข้าม บนพื้นฐานของคำว่า “เสียของ” จึงจำเป็นต้อง “อยู่นาน”

ขณะเดียวกัน บนพื้นฐานแห่งยุทธศาสตร์ “อยู่นาน” ในเชิงเปรียบเทียบกับรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นั้นเองทำให้การอำลาจากเวทีการเมืองของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ดำเนินไปด้วยความสลับซับซ้อน

และอาจกลายเป็น “ปัญหา” ได้ใน “อนาคต”

แม้ว่าเป้าหมายของการรัฐประหารไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นอย่างเดียวกัน

นั่นก็คือ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

แต่ความเป็นจริงที่เผยแสดงออกเป็นลำดับก็คือ ไม่เพียงแต่ไม่สามารถ “จัดการ” กับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ได้ในทางเป็นจริง หากแต่มีโอกาสสูงอย่างยิ่งที่จะกระทบกระเทือนไปยังปัจจัยอื่นในสังคม

เพราะเป็นยุทธวิธี “เผาบ้านทั้งหลังเพื่อไล่หนูตัวเดียว”


รัฐประหาร 2549

รัฐประหาร เสียของ

รูปธรรมอะไรที่สรุปได้ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คำตอบ 1 การจัดการกับคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แม้จะมี “คตส.” แต่แทบทำอะไรไม่ได้ในทางกฎหมาย นอกจากคดีที่ดินรัชดาภิเษก

ขณะเดียวกัน 1 การปูทางและสร้างเงื่อนไขตาม “แผนบันได 4 ขั้น” ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ผ่านความไว้วางใจต่อพรรคการเมืองบางพรรคและคนที่แยกตัวออกมาจากพรรคไทยรักไทย ประสบความล้มเหลว

รูปธรรมคือ ความพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ต่อพรรคพลังประชาชน

จึงจำเป็นต้องผลักดันพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวรุนแรงกระทั่งยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน กระทั่งที่สุดทางออกคือยุบพรรคพลังประชาชน ก่อให้เกิดการแยกตัวอีกครั้ง อำนาจจึงตกอยู่ในมือของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มที่แยกตัวได้

ยิ่งกว่านั้น แม้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับกองทัพจะปราบปรามคนเสื้อแดงอย่างรุนแรงในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 บาดเจ็บร่วม 2,000 ล้มตายร่วม 100

แต่เมื่อถึงการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ก็พ่ายแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทยอีก


รัฐประหาร 2557

ปิดซ่อม เสียของ

โดยโครงสร้างการเคลื่อนไหวนับแต่หลังพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ก็เหมือนกับการเคลื่อนไหวก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็น กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์

เป้าหมายคือ การทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพัฒนาไปสู่รัฐบาล “เป็ดง่อย” ชนะการเลือกตั้งก็จริง เป็นรัฐบาลก็จริง แต่ไม่สามารถบริหารจัดการอะไรได้

ไม่ว่ารถไฟฟ้าทำไม่ได้ ไม่ว่าการบริหารทรัพยากรน้ำทำไม่ได้

ยิ่งโครงการจำนำข้าวซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในหมู่ชาวนา ยิ่งถูกสกัดกั้นไม่เพียงแต่จากสมาคมส่งออกข้าว หากยังประสานเข้ากับปัญญาชน นักวิชาการและพรรคประชาธิปัตย์

ที่สุดเมื่อเกิดมาตรการ “ชัตดาวน์” ก็กลายเป็นเงื่อนไขไปสู่ “รัฐประหาร”

เพราะไม่ต้องการ “เสียของ” เหมือนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 คสช. จึงเข้าเป็นรัฐบาลและดำเนินการทุกอย่าง 1 จัดการกับปรปักษ์เดิมจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย 1 จัดวางโครงสร้างและขยายเวลาในการเป็นรัฐบาล มิใช่ชั่วคราว หากแต่ยาว

ดังที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ออกมาสรุปในเดือนกันยายน 2558 ว่า “เขาอยากอยู่นาน”

คำว่า “อยู่นาน” คำว่า “อยู่ยาว” อาจเป็นผลดีหากว่าประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ ไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าปัญหาการเมือง ไม่ว่าปัญหาความมั่นคง เพราะเท่ากับนำความสุข ความสำเร็จมาให้กับประชาชน

ไม่ว่าจะอยู่ยาวนานสักเพียงใด ประชาชนก็ย่อมจะชโยโห่ร้องแสดงความยินดีกันถ้วนหน้า

 

ผลงาน ความสำเร็จ

ปัจจัย ชี้ขาดการเมือง

การเมืองอาจมีจุดเริ่มต้นจากการนำเสนอนโยบาย การแสดงโวหารเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เรียกร้องความไว้วางใจจากประชาชน

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผลงาน ความสำเร็จ คือ ตัวชี้วัด

นั่นก็คือ ทำให้ประชาชนกินอิ่ม นอนอุ่น หรือไม่ นั่นก็คือ สร้างเสถียรภาพในทางเศรษฐกิจและความมั่นคงได้มากน้อยเพียงใด

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เงินในมือประชาชนดำเนินไปอย่างไร

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานและความสำเร็จจากอดีต ความเป็นอยู่ ความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นอย่างไร

ยุทธศาสตร์อยู่ยาว อยู่นาน จึงต้องขึ้นอยู่กับยุทธวิธีในแต่ละขั้นตอน