E-DUANG : อาการ nostalgia กับ”หมุดคณะราษฎร”

การหายอย่างไร้ร่องรอยของ“หมุดคณะราษฎร”อาจทำให้เกิดอาการ”nostaglgia”ในทางความคิด

nostalgia อาจเท่ากับโรคคิดถึงบ้าน ความคิดถึง

nostalgia อาจเท่ากับการครุ่นคิดอยากให้กลับมาซึ่งประ สบการณ์ สิ่งของ หรือความคุ้นเคยในอดีต

ความหมายโดยรวมย่อมเป็น “ถวิลหา” และ”อาวรณ์”

เหมือนกับเป็นการถวิลหา “หมุด” อันเสมอเป็นเพียง “วัตถุ” อันทำมาจากทองเหลือง

เหมือนกับเป็นการอาวรณ์ต่อ “อดีต”

เพียงแต่อดีตที่อาวรณ์ คือ อดีตซึ่งสัมพันธ์กับสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

เป็นเรื่องเมื่อ 85 ปีก่อน แต่ก็ยังแจ่มชัด สดใส

 

ความน่ากลัวเป็นอย่างมากก็คือ เจตนาในการถอดถอน”หมุดคณะราษฎร” คือ ความต้องการลดทอนความสำคัญ

เป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้”ลืม”

เห็นได้จากการนำเอาของใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งก็คือหมุดอย่างที่สังคมเรียกว่า “หมุดหน้าใส”

น่าประหลาดที่การมาของ”หมุดหน้าใส”ไม่เป็นไปตามเป้า

แทนที่จะทำให้คนลืม”หมุดคณะราษฎร” และมองข้ามบทบาทและความหมายของ “หมุดคณะราษฎร”

กลับกลายเป็น “ตรงกันข้าม”

อาการ nostalgia นั่นแหละคือคำตอบ ที่สำคัญก็คือ มิได้เป็นการ nostagia เฉพาะคนที่มีความสัมพันธ์ในทางความคิด

หากแม้กระทั่ง “คนรุ่นใหม่” ก็มี

คนรุ่นใหม่บางส่วนอาจเฉยๆกับการหายไปของ”หมุดคณะ ราษฎร” แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เกิดอาการอยากได้ใคร่รู้ และร่วม nostalgia ไปด้วย

เท่ากับยืนยันให้เห็นว่า “หมุดหน้าใส” ไม่สามารถแสดงบทบาทได้อย่างที่หวังตั้งไว้

นั่นก็คือ มิอาจแทนที่”หมุดคณะราษฎร” ได้

 

ขณะเดียวกัน เท่ากับยืนยันว่า สปิริต จิตวิญญาณของสถาน การณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ยังมากด้วยมนต์ขลังและเย้ายวนใจ

ที่เสนอ”หมุดหน้าใส”เพื่อให้ลืม”หมุดคณะราษฎร”จึงกลายเป็นระเบิดด้าน