สุรชาติ บำรุงสุข | ไทยยุคหลังโควิด! การบริหารจัดการใหม่

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“อย่างน้อยข้อดีประการหนึ่งของวิกฤตที่เกิดขึ้นก็คือ วิกฤตบังคับให้เราต้องคิด [ใหม่]”

Jawaharal Nehru

ในท่ามกลางการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้น สังคมได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่องอย่างที่ไม่อาจคาดคิดมาก่อน

ผลจากการ “ล็อกดาวน์” ทำให้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

เช่นเดียวกับชีวิตของรัฐทั้งหลายเองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย… โลกกำลังก้าวสู่ความผันแปรครั้งใหญ่

รัฐและสังคมไทยก็เดินไปในทิศทางของความเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นด้วย หรือดังที่นักสังเกตการณ์ทั้งหลายมีความเห็นในระดับโลกร่วมกันก็คือ โลกหลังยุคก่อนโควิดจะไม่หวนกลับมาหาเราอีก เช่นที่โลกยุคหลังโควิดก็จะแตกต่างออกไปจากยุคก่อนที่เราคุ้นเคยอย่างมาก ซึ่งหลายเรื่องในชีวิตอาจจะเป็นไปอย่างคาดไม่ถึงจนเสมือนกับเรากำลังเป็นพยานที่เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ด้วยตัวเอง

ดังนั้น หากทดลองมองไปในอนาคตของประเทศไทยแล้ว เราอาจจะเห็นปัญหาการบริหารจัดการที่จะมีนัยสำคัญต่อทิศทางความเปลี่ยนแปลงประเทศในยุคหลังโควิด

ดังนี้

1)การบริหารจัดการวิกฤต

แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับการเมืองไทยในยุคหลังโควิดคือ รัฐบาลจะเผชิญกับภาวะวิกฤตที่รุนแรงมากขึ้น เพราะต้องยอมรับในความเป็นจริงว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาแต่เดิมก่อนเกิดการระบาดนั้น ไม่ได้ยุติลง เป็นแต่เพียงถูกกดทับจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน ที่ทำให้การเคลื่อนไหวบนถนนไม่อาจเกิดขึ้นได้ และการตรวจสอบรัฐบาลในรัฐสภาก็เกิดไม่ได้เช่นกัน

แต่การเผชิญกับโรคระบาดครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของรัฐบาลในการบริหารจัดการวิกฤต

เช่น กรณีการขาดแคลนหน้ากากและแอลกอฮอล์ เป็นต้น

อันส่งผลให้วิกฤตโควิดกลายเป็นวิกฤตการเมืองในตัวเอง หรือเป็นภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ที่จะส่งผลต่อสถานะความอยู่รอดของรัฐบาลอย่างแน่นอน

หรืออาจคาดได้ว่าหลัง “วิกฤตโควิด” แล้ว รัฐบาลจะเผชิญกับ “วิกฤตการเมือง” อันทำให้การบริหารจัดการวิกฤตการเมืองจะเป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลในยุคหลังโควิด

2)การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค

ปัญหาเศรษฐกิจในปี 2563 มีความรุนแรงและหนักกว่าวิกฤตในปี 2540 ความหวังว่าวิกฤตเศรษฐกิจยุคโควิดจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย

จนวันนี้กล่าวได้ชัดเจนว่าไม่มีภาคส่วนใดในระบบเศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบ และผลที่เกิดขึ้นกำลังพาเศรษฐกิจไทยสู่การถดถอยครั้งใหญ่ การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในภาวะ “ติดลบ” อย่างรุนแรง โดยมีการปิดตัวลงของภาคการผลิตและภาคบริการเป็นพยานสำคัญ

อีกทั้งภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็น “หัวรถจักรเศรษฐกิจ” ล้วนอยู่ในภาวะที่ขับเคลื่อนไม่ออก และอีกหลายส่วนนี้ตกอยู่ในภาวะล้มละลาย

ซึ่งน่าสนใจว่าเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิดจะปรับตัวให้อยู่รอดได้อย่างไร เพราะเศรษฐกิจโลกก็จะอยู่ในภาวะถดถอยเช่นกัน อันมีผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความลำบาก

การบริหารเศรษฐกิจมหภาคในยุคหลังโควิดจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับรัฐบาล และอาจจะต้องคิดให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในเชิงนโยบายด้วย

3)การบริหารจัดการความยากจนแบบฉับพลัน

การปิดตัวของธุรกิจหลายส่วนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการตกงานครั้งใหญ่ และจะมีจำนวนผู้ตกงานเป็นจำนวนหลักล้านคน ซึ่งจะเป็นการตกงานครั้งใหญ่ที่เกิดอย่างรวดเร็วในแบบที่สังคมไทยไม่เคยเห็นมาก่อน

และในหลายส่วนเป็นการตกงานอย่างถาวรด้วย ซึ่งการเกิดของคนจนเป็นจำนวนมากแบบฉับพลันนี้ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ

ดังนั้น การจัดการปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเรียกร้องในประเด็นเรื่อง “สวัสดิการแห่งรัฐ” จะเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต

ผู้นำทางการเมืองจะต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้ และต้องแปรออกมาเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการบริหารจัดการชีวิตคนจนในสังคมไทย

4)การบริหารจัดการด้านสาธารณสุข

ในยุคหลังโควิด เราอาจจะตั้งสมมติฐานด้านความมั่นคงใหม่ว่า “โรคระบาด = ภัยคุกคาม” ดังจะเห็นได้ว่าการระบาดมีความรุนแรงอย่างมาก และมีขอบเขตในระดับโลก

ดังนั้น การเตรียมแผนในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพสำหรับการรับมือในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ซึ่งอาจจะมีนัยถึงการรับมือกับการระบาดครั้งใหม่ หรือเป็นแผนเผชิญเหตุที่ใช้กับปัญหาโรคระบาดอื่นๆ

เพราะคงต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในโลกสมัยใหม่จะยังคงเป็นประเด็นสำคัญ

ความเชื่อว่าโลกสมัยใหม่หมดภัยคุกคามของโรคระบาดแล้ว อาจจะไม่เป็นจริง

และการระบาดของเชื้อโควิดครั้งนี้คือคำเตือนให้รัฐบาลต้องใส่ใจกับเรื่องการบริหารจัดการความมั่นคงด้านสาธารณสุข

5)การบริหารจัดการสุขภาพและสุขอนามัย

การเผชิญกับเชื้อโควิดเป็นคำตอบภาคบังคับที่ชัดเจนให้รัฐและสังคมต้องหันมาสนใจการบริหารจัดการทางด้านสุขภาพและสุขอนามัยอย่างจริงจัง

การระบาดครั้งนี้จึงเสมือนกับการพาผู้คนในสังคมเข้าห้องเรียนวิชา “สุขศึกษา” ด้วยกันทั้งประเทศ

เช่น เรื่องของการรักษาความสะอาดมือเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ เป็นต้น

และจะเห็นได้ว่าในช่วงของการระบาดนี้ คนในสังคมใส่ใจกับเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น และอาจรวมไปถึงปรากฏการณ์ใหม่ที่เราอาจจะสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะหรือในการเดินทางจนเป็นเรื่องปกติ

และเห็นอีกด้วยว่าในช่วงเวลาเช่นนี้การนำเสนอเรื่องของการรักษาสุขภาพเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง การบริหารจัดการเรื่องนี้เป็นประเด็นใหม่ที่ผูกโยงกับปัญหาความมั่นคงด้านสาธารณสุข

6)การบริหารจัดการฝุ่นพิษและไฟป่า

ในด้านหนึ่งสังคมไทยเผชิญกับความรุนแรงของโรคระบาด แต่ในอีกด้านก็ต้องตระหนักว่าไทยยังเผชิญกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เป็นวิกฤตอีกชุด และทวีความรุนแรงในภาคเหนือของประเทศ ที่ประเด็นนี้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับปัญหาไฟป่า

และปัญหานี้มีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละปี จนถึงกับมีเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าต้องเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่

ฉะนั้น การบริหารจัดการเรื่องไฟป่าและฝุ่นพิษเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลจะต้องตระหนัก

การออกแบบแผนบริหารจัดการวิกฤตแบบคู่ขนานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในระยะเวลาหนึ่งๆ นั้น ผู้นำรัฐบาลต้องตระหนักว่าประเทศอาจต้องเผชิญกับวิกฤตมากกว่าหนึ่งเรื่อง

7)การบริหารจัดการภัยแล้งและความขาดแคลนอาหาร

วิกฤตอีกชุดที่กำลังเกิดในชนบทไม่ว่าจะเป็นในภาคกลาง ภาคเหนือ หรือภาคอีสานก็คือ ปัญหาภัยแล้งที่ขยายตัวในเชิงพื้นที่เป็นวงกว้างมากขึ้น และเป็นปัญหาความขาดแคลนน้ำที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเกษตรกรในชนบทอย่างรุนแรง

จนวิกฤตภัยแล้งและการขาดน้ำในชนบทเป็นภาพคู่ขนานกับปัญหาโรคระบาด

และเป็นปัญหาสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าภาคเกษตรอาจจะไม่ใช่ “พื้นที่กันชน” ที่จะคอยแบกรับปัญหาการตกงานของคนในเมืองได้ เช่น วิกฤตในปี 2540

และจะต้องตระหนักว่าวิกฤตภัยแล้งในชนบทครั้งนี้จะเป็นตัวถ่วงสำคัญกับการเติบโตของภาคเกษตรไทยในอนาคต

และจะมีผลอย่างมากกับชีวิตและรายได้ของผู้คนในชนบท

โดยเฉพาะผลที่จะเกิดกับความสามารถในการผลิตอาหารของไทยเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ความขาดแคลนด้านอาหารในยุคหลังโควิดอีกด้วย

หรืออาจกล่าวได้ว่าวิกฤตนี้เป็นการทับซ้อนทั้งเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ปัญหาความมั่นคงเรื่องน้ำ และความมั่นคงด้านอาหาร คู่ขนานกับปัญหาโรคระบาด

8)การบริหารจัดการความมั่นคงของมนุษย์

วิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลในทางลบกับสถานะของประเทศอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าไทยไม่เพียงแต่เผชิญกับวิกฤตโรคระบาดเท่านั้น หากแต่ยังเห็นถึงวิกฤตในมิติอื่นๆ ได้แก่ การถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศ การว่างงาน ความยากจน

สมทบด้วยปัญหาภัยแล้ง (ที่อาจจะมีนัยถึงความขาดแคลนอาหารด้วย) ปัญหาสุขภาพและฝุ่นพิษ

สภาวะเช่นนี้ส่งผลในภาพรวมทำให้ “ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์” ในสังคมไทยมีความรุนแรงมากขึ้น

การบริหารจัดการปัญหาความของมนุษย์จะเป็นความท้าทายต่อภาครัฐอย่างมาก

รัฐจะคิดแต่มิติความมั่นคงทางทหารไม่ได้แล้ว

9)การบริหารจัดการทางความคิด

หากวิกฤตโควิดจะมีผลในทางบวกบ้างแล้ว ก็หวังว่าวิกฤตนี้จะนำไปสู่การบริหารจัดการทางความคิดใหม่ที่จะนำไปสู่การทบทวนตัวเองในทางยุทธศาสตร์ นโยบาย และการบริหารประเทศในระดับมหภาคอย่างแท้จริง

เช่น รัฐบาลไทยอาจจะต้องลดการลงทุนที่เน้นแต่มิติทางทหารด้วยการจัดซื้อยุทโธปกรณ์มูลค่ามหาศาล ในขณะที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าภัยคุกคามทางทหารของไทยในยุคหลังโควิดคืออะไร หรือไทยอาจจะต้องลดการพึ่งพาแหล่งรายได้ของภาคบริการจากแหล่งเดียว และต้องคิดมากขึ้นถึงแหล่งรายได้อื่นในภาวะที่การท่องเที่ยวในยุคหลังโควิดอาจเปลี่ยนไปจากเดิม

หรือรัฐบาลควรปรับรื้อโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่มีผลตอบแทนแก่สังคมอย่างชัดเจน

เช่น โครงการอีอีซีในภาคตะวันออกไทย และอาจต้องทบทวนใหม่ว่ารัฐบาลควรลงทุนในโครงการเช่นนี้เพียงใดในอนาคต

การบริหารจัดการทางความคิดในหลังยุคโควิดจึงมีความหมายโดยตรงว่า ได้เวลาที่ต้องทบทวนยุทธศาสตร์และนโยบายของไทยใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการทบทวน “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ที่ไม่ตอบรับกับไทยในยุคหลังโควิด

10)การบริหารจัดการประเทศใหม่

ไทยในยุคหลังโควิดจะเป็นประเทศที่อ่อนแอ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่เผชิญกับโรคระบาดนี้ ทรัพยากรต่างๆ ที่รัฐบาลเคยมีอาจจะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนจากการหดตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

ดังนั้น การบริหารประเทศในอนาคตอาจจะต้องคิดเรื่องของพลังอำนาจแห่งชาติที่แตกต่างไปจากชุดความคิดแบบเดิม

ภาพรวมของดัชนีพลังอำนาจของประเทศในยุคหลังโควิดจะอยู่ในภาวะที่อ่อนแอทั้งหมด โดยเฉพาะความอ่อนแอของประเทศที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความยากจนของคนในประเทศ ที่ทำให้รัฐบาลในอนาคตอาจจะต้องคิดเรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ” ด้วยเงื่อนไขของสถานการณ์ใหม่

อีกทั้งผู้นำไทยในยุคหลังโควิดจะต้องตระหนักว่าความอ่อนแอในเชิงพลังอำนาจแห่งชาติจะอยู่กับประเทศไปอีกระยะหนึ่ง (และอาจจะยาวกว่าที่เราคาดคิด)

ฉะนั้น ในอีกด้านหนึ่งผู้นำประเทศอาจจะต้องคิดใหม่ในเรื่องของพลังอำนาจทางทหารของไทย ที่แต่เดิมมักเน้นในเรื่องของการซื้ออาวุธเป็นเรื่องหลัก เพราะเมื่อสถานะของปัจจัยอื่นถดถอยทั้งหมด นโยบายที่เน้นการสร้างอำนาจของชาติผ่านพลังอำนาจทางทหารไม่น่าจะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นจริงของประเทศ

และผลจากการถดถอยเช่นนี้จะทำให้สถานะของไทยในระบบระหว่างประเทศอ่อนแอลงเช่นกัน

ประเด็นการบริหารจัดการทั้งสิบเรื่องนี้เป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลในอนาคต และจะเป็นโจทย์สำคัญของการบริหารประเทศในยุคหลังโควิดอีกด้วย


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่