“ศรัทธา” ยังเด่นโดยท้าทาย ผู้คนยังเลือกที่จะอยู่กับวัด อยู่กับพระมากกว่า

ในช่วงที่มีการจัดการเด็ดขาดกับวัดที่มีบทบาทสูงยิ่งต่อสังคมไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วยท่าทีของผู้ที่ยังนับตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนคนธรรมดาซึ่งแสดงต่อพระสงฆ์ผู้อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์อย่างร้อนแรง และเลยไปถึงหยาบคายไม่ใช่น้อย ทำให้บางคนบางฝ่ายเกิดความวิตกว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมไปจากศรัทธาในใจของคนรุ่นใหม่

ความวิตกกังวลนี้เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่เคยชินกับวัฒนธรรมไทยที่อย่างไรเสียต้องให้ความเคารพศรัทธาต่อผ้ากาสาวพัสตร์ จะหมิ่นแคลนหยามเหยียดใครต้องให้พ้นจากการห่มผ้าเหลืองไปก่อน

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยงแปลงกระทั่งผู้ที่อวดโอ่ว่าตัวเองมีภูมิปัญญาล้ำเลิศ มีคุณงามความดีล้นเหลือ เลือกที่จะใช้วิธีหักหาญเอาชนะจนเลิกเคารพในผ้าเหลือง ความกังวลว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมจากใจคนจึงเกิดขึ้น

และเป็นความกังวลที่มีความเป็นไปในปัจจุบันรองรับให้เชื่อเช่นนั้นอยู่ไม่น้อย

น้ำเสียงและการแสดงของคนรุ่นใหม่ต่อพระสงฆ์องค์เจ้าแทบไม่เจืออยู่ด้วยความนับถือศรัทธา

นั่นเป็นสิ่งที่สัมผัสได้

 

ทว่าอย่างไรก็ตาม ยังมีผู้รู้อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อว่า ไม่มีทางที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจะจางหายไปจากโลก เนื่องเพราะพุทธศาสนานั้นเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ หลักของพุทธศาสนาสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ

ธรรมะก็คือความเป็นจริงของธรรมชาติ ภาวะแห่งพุทธคือภาวะที่เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

ดังนั้น แม้วันนี้จะมีม่านมายาแห่งความเข้าใจผิด หรือความหลงทิศหลงทางไปบ้าง ก็แค่บังให้ผู้คนในยุคสมัยในบางจำพวกเท่านั้นที่จิตห่างเหินต่อภาวะดังกล่าว และในวันหนึ่งเมื่อม่านแห่งความไม่รู้จางไป ผู้คนจะแสวงหาหนทางเข้าถึงพุทธที่ถูกต้องเอง

เมื่อติดตามเรื่องราวต่างก็น่าจะเชื่อว่าเป็นไปเช่นนั้น

เพราะย่อมเห็นกันอยู่ว่าไม่ว่าคนจำพวกหนึ่งจะหักหาญต่อความเคารพนับถือต่อผ้าเหลืองอย่างไร ในวันทำบุญใหญ่ทุกครั้งผู้คนยังหลั่งไหลไปแน่นทุกวัดวาอาราม

และสงกรานต์นี้ดูเหมือนจะยังเป็นเช่นนั้น

 

ผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์เรื่อง “สงกรานต์ปีไก่ คนกรุงเตรียมการอย่างไร” ในคำถามที่เกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายกับกิจกรรมในช่วงสงกรานต์ ร้อยละ 67.5 จะจ่ายให้การทำบุญไหว้พระ ร้อยละ 52.4 จ่ายเป็นค่าเดินทาง ค่าน้ำมันท่องเที่ยว กลับบ้านเกิด ร้อยละ 49.8 จ่ายเป็นค่าอาหาร เลี้ยงสังสรรค์ ร้อยละ 37.5 เป็นค่าของขวัญผู้สูงอายุ ร้อยละ 20.0 จ่ายเป็นค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 10.4 ค่าที่พักต่างจังหวัด ร้อยละ 9.2 จ่ายเป็นค่าอุปกรณ์เล่นน้ำสงกรานต์ ร้อยละ 1.3 ไม่มีแผนที่จะจ่าย

จะเห็นได้ว่าในทางเลือกที่หลากหลายนั้น คนกรุงเทพฯ ซึ่งถือกันว่าเป็นผู้อยู่กับกระแสมากที่สุด ในยุคสมัยที่กังวลว่าจะเกิดกระแสไม่ศรัทธาในพุทธศาสนานี้ ยังเลือกที่จะใช้จ่ายกับการทำบุญสุนทานที่วัดมากกว่าที่จะไปเสียเงินเสียทองกับกิจกรรมอย่างอื่น

ซึ่งคงเหมือนกับวันพระใหญ่ทั่วไป

ผู้คนยังเลือกที่จะอยู่กับวัด อยู่กับพระมากกว่า

เสียงกร่นบริภาษพระ บริษัทวัด ไม่ได้มีความหมายอะไรมากนัก

อาจจะส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ที่ผ่านระบบการศึกษาแบบแยกส่วนทำไม่เข้าใจในองค์รวมของชีวิตไปบ้าง

แต่หากวันหนึ่งที่ผ่านสู่อีกวัยหนึ่งที่สามารถทำความเข้าใจกับชีวิตได้ลึกซึ้งขึ้นบ้าง ไม่ใช่พวกแก่เพราะกินข่าว เฒ่าเพราะอยู่นาน

ความเข้าใจว่าการละทิ้งศรัทธาในพุทธศาสนาไม่ควรเกิดขึ้นก่อนที่จะเข้าถึงภาวะแห่งพุทธด้วยตัวเอง