คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : โลกของ “เทวรูป”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ครูพราหมณ์ของผมคือท่านอาจารย์ลลิต โมหัน วยาส เล่าว่า สมัยโบราณยุคพระเวท ตกราวสามพันปีที่แล้ว ชาวฮินดูไม่ได้บูชาเทวรูปกันแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน

แม้ในคัมภีร์พระเวทจะพรรณนารูปร่างหน้าตาของเทพเจ้าไว้หลายองค์ เช่น อัคนี มิตระ วรุณ สูริยะ ฯลฯ แต่คนยุคพระเวทไม่ยักจะทำเทวรูปขึ้นบูชา

เวลาจะบูชาเทพ พวกเขาจะทำพิธีในลานนวดข้าว แล้วจะนำข้าวสารมาย้อมสีต่างๆ จัดวางเรียงเป็นรูปเลขาคณิต สมมุติขึ้นเป็นจักรวาลหรือที่ประทับของเทพ

หรือไม่ก็แสดงถึงเทพองค์นั้นๆ เช่น รูปสามเหลี่ยมคว่ำสีแดงหมายถึง พระแม่เคารี (ใครดูภาพยนตร์ดาวินชีโค้ดคงจำได้ว่า สัญลักษณ์สามเหลี่ยมเมื่อทอนลง คืออวัยเพศชายและหญิง สามเหลี่ยมคว่ำสีแดง คืออวัยเพศหญิงและเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแม่)

สวัสดิกะสีเหลืองคือพระคเณศ หรือตารางหมากรุกเหลืองแดงคือพระแม่ทั้ง 16 องค์ (โษฑศมาตฤกา) เป็นต้น

แผนผังของเลขาคณิตเหล่านี้เมื่อประกอบสมบูรณ์แล้ว เรียกว่า “มณฑล” (Mandala) คือ จักรวาลของเทพ ซึ่งมีมากมายหลากหลายชนิดขึ้นอยู่ว่ามีเทพใดเป็นประธานและใช้ในโอกาสใด เช่น เอกลิงคะ-พระศิวลึงค์ 1 องค์, นวครหะ-เทพนพเคราะห์ทั้งเก้าดวง, สรวโตภัทร-สิริรวมเทวดาทั้งหลาย, จัณฑิกา-พระแม่ เป็นต้น

ทำมณฑลเสร็จก็เอาหมากเป็นลูกๆ วางลง หรือใช้กองข้าวก็ได้ สมมุติว่าเทวดาได้ประดิษฐานแล้วในตำแหน่งต่างๆ ของมณฑล ตรงกลางมักวาง “กลัศ” หรือหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ขึ้นเป็นตัวแทนเทวดาประธาน แล้วกระทำสักการบูชาที่มณฑลนั้น

 

ครั้นเกิดเทวรูปขึ้นมา ซึ่งมีนักวิชาการสันนิษฐานว่า เทวรูปฮินดูมีมาหลังพระพุทธรูป และมีแพร่หลายมากในราวพุทธศตวรรษ 9-11 ชาวฮินดูจึงนิยมสักการะเทวรูปมากขึ้น แต่ก็ไม่ทิ้งประเพณีบูชามณฑลสืบมาจนปัจจุบัน

ถ้าใครไปอินเดียจะพบว่า ชาวฮินดูบูชากันง่ายๆ อะไรๆ ก็อาจนับเป็นเทวรูปได้ เช่น ก้อนหินที่เขาเคารพนับถือว่าเป็นตัวแทนของเทพ เวลาเราไปอินเดีย เราจะเห็นเขาเอาดวงตาไปติดตามก้อนหินแล้วก็นบไหว้เป็นเทวรูป

ในทางตรงกันข้าม กฎและข้อปฏิบัติของเทวรูปตามที่ระบุในคัมภีร์นั้น ซับซ้อนผิดกับวิถีชาวบ้าน ซึ่งโดยมากมีที่มาจากทั้งคัมภีร์ปุราณะและอาคม

ผมจึงอยากจะลองเล่าถึงข้อปฏิบัติและความเชื่อเกี่ยวกับเทวรูปของฮินดู เผื่อว่า “โลก” ของเทวรูป อาจเป็นประโยชน์ทั้งต่อนักโบราณคดีหรือคนที่สนใจด้านศาสนาและวัฒนธรรม

มีกฎในคัมภีร์ “เลาคากฺษิภาสฺกร” ว่า ในบ้านเรือนต้องประดิษฐานเทวรูปที่ “เคลื่อนย้ายได้” (จลมูรติ) ส่วนใน “ปราสาท” (คือเทวสถาน) ต้องประดิษฐานเทวรูปที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ (อจลมูรติ) เทวรูปในเทวสถานจึงต้อง “ตรึง” พระบาทหรือฐานให้แน่นกับพื้น เพราะตามหลักอาคมแล้วนั้น ที่จริงเทวสถานและเทพเจ้าประธานเป็นหนึ่งเดียวกัน และเทพเจ้าจะต้องสถานุคือมั่นคง เพราะแผ่พลังออกมาจากด้านในสุด

ส่วนบ้านไม่ใช่เทวสถานจะปฏิบัติอย่างเดียวกันไม่ได้ เพราะจะทำให้เดือดร้อนรำคาญ เนื่องจากบ้านไม่ได้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

 

ในคัมภีร์วฤทฺธปาราศร อธิบายว่า เทวรูปพึงทำจากหิน ไม้ หรือทอง ในอาคมถือว่าเทวรูปที่ทำจากหินมีค่ามากที่สุด (เพราะทนทานและไม่ผ่านไฟ รวมทั้งเก่าเท่าโลก) ดังนั้น เทวรูปประธานในเทวสถานจึงต้องเป็นหินเสมอ จะหินอ่อนหินอื่นได้ทั้งนั้น

แม้จะระบุถึงไม้และทอง แต่จริงๆ แล้วเทวรูปจากไม้และทองคำมีน้อยมากเพราะไม่คงทน เทวรูปไม้เก่าๆ แทบไม่มีเหลือให้เห็น ส่วนทองคำก็เป็นโลหะอ่อนไม่คงทนต่อการสรงสนานทำพิธีทุกวัน โลหะอื่นๆ เช่น สำริด เงิน ปัญจโลหะ นวโลหะ หรือทองเหลืองจึงได้รับความนิยมมากกว่า

เทวรูปหินก่อนจะประดิษฐานในเทวสถาน มีขั้นตอนพิธีกรรมมากมายกินเวลาเป็นอาทิตย์ นับแต่เมื่อรับมาจากช่าง พราหมณ์จะทำพิธี “ชลาธิวาส” คือเอาเทวรูปนอนในน้ำหนึ่งราตรี จากนั้นทำ “อันนาธิวาส” คือเอาเทวรูปนอนในข้าวสารหรือข้าวสาลีอีกหนึ่งราตรี และ “ไสยาธิวาส” คือเอานอนในพระแท่นบรรทมอีกหนึ่งราตรี แล้วจึงสรงด้วยสมุนไพรถึง 108 อย่างจากหม้อกลัศ 108ใบ

ท่านว่าพิธีกรรมข้างต้น ที่จริงแล้วคือการช่วยให้เทวรูปหินคงทนแข็งแกร่งด้วยการให้ซึมซับความชื้นจากน้ำ แล้วให้ข้าวสารดูดความชื้นออก ผึ่งลมในที่บรรทม ส่วนการสรงสมุนไพรนั้น ท่านว่า ช่วยชำระให้เทวรูปบริสุทธิ์

จากนั้นจะนำออกแห่ (โศภณยาตรา) ไปโดยรอบ มีกำหนดว่าให้ผ่านเทวสถานอื่นอย่างน้อยสามแห่ง เอาขึ้นประดิษฐานบนแท่น ทำ “ปราณประติษฐา” หรือเสกให้มีปราณ (ลมหายใจ/ชีวิต) ทำบูชาใหญ่ บูชาเครื่องยอดเทวสถานนั้น เช่น กลัศที่ยอดปรางค์ หรือฉัตร ตรีศูล ฯลฯ แล้วสมโภช

 

เมื่อประดิษฐานแล้ว จะถือว่าเทวรูปนั้นได้เปลี่ยนจากเทวปฏิมากลายเป็นตัวแทนของพระเจ้าที่มีลมหายใจ พราหมณ์ผู้ดูแลจะต้องปรนนิบัติดุจเทวรูปนั้นมีชีวิต มีปลุกพระบรรทม สรงสนานประจำวัน ถวายอาหาร กล่อมพระบรรทม

เมื่ออากาศร้อนก็ต้องพัดวี เมื่ออากาศหนาวก็ต้องถวายเครื่องทรงให้เหมาะสม

นอกจากเทวรูปหินประธานในเทวสถาน เทวสถานยังต้องมีเทวรูปที่ทำจากโลหะ เช่น สำริด ซึ่งถือว่ามีค่ามากและทนทานกว่าโลหะอื่น ผมเข้าใจว่าเนื่องจากทองแดงเป็นสิ่งมีค่าหายากเพราะอินเดียผลิตสำริดได้หลังจากค้าทองแดงกับสุวรรณภูมิแล้ว

เทวรูปโลหะขนาดเล็กกว่าพระประธานนี้ มีไว้เพื่อแห่แหนในเทศกาลต่างๆ จึงเรียกว่า “อุสวมูรติ” หรือเทวรูปสำหรับแห่ในเทศกาล

ว่างๆ ลองไปชมเทวรูปเหล่านี้ที่วัดแขกสีลมก็ได้ครับ จะเห็นเขาทำช่องที่ฐานเพื่อสอดไม้คานหามหรือเพื่อผูกกับเสลี่ยง

ส่วนเทวรูปที่ใช้ทำพิธีกรรมประจำวันแทนเทวรูปประธานมักเรียกว่า “โภคมูรติ” คือ เทวรูปผู้เสพเสวยความสุข เพราะได้รับการปรนนิบัติต่างๆ เช่น สรงสนานและถวายอาหาร

บางครั้งเทวสถานจะมีเทวรูปที่เป็นภาคดุร้ายของเทพเจ้าประธาน เรียกว่า “อุครมูรติ” (อุคระ แปลว่าดุร้าย) เช่น พระนรสิงห์ หรือ ภัทรกาลี

เทวรูปอุครมูรติ มักจะแห่แหนเฉพาะบางเทศกาลเท่านั้น การมีอุครมูรติ นัยหนึ่งคือการปกป้องและขจัดความชั่วร้ายเภทภัยต่างๆ

 

ในอินเดียมีความเชื่อว่าเทวรูปบางองค์ มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้นมาแต่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรืออำนาจพิเศษดลบันดาลขึ้น เทวรูปเหล่านี้เรียกว่า สวายัมภูมูรติ นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์กว่าเทวรูปมนุษย์ประดิษฐ์

นอกจากนี้แล้ว ในศาสนาฮินดูฝ่ายไวษณพนิกายซึ่งนับถือพระวิษณุ ยังมีความเชื่อที่สืบต่อๆ กันมาว่า พระเป็นเจ้าทรงมีพระกรุณาเอ็นดูต่อสานุศิษย์ของพระองค์มาก พระองค์จึงมาปรากฏเป็นเทวรูปสำคัญในเทวสถานต่างๆ โดยเฉพาะในอินเดียภาคใต้ เพื่อให้สานุศิษย์ได้ใกล้ชิด ได้ปรนนิบัติพระองค์บนโลก

ตัวอย่างเช่น พระเวงกเฏศวร ที่ภูเขาติรุมาลาหรือศรีบรรพตในรัฐอันธรประเทศ ว่ากันว่าเทวรูปในเทวสถานคือองค์พระวิษณุเองเลยทีเดียว พระองค์ปรากฏเป็นเทวรูปบนเขานี้ ติรุมาลาจึงได้ชื่อว่า ภูโลกไวกุณฑ์-สวรรค์ของพระวิษณุบนโลกนี้

ผมเคยไปเยือนติรุมาลามาหนึ่งครั้ง ติรุมาลาเป็นเทวสถานอันดับหนึ่งของอินเดียทั้งด้านเงินบริจาคที่อยู่ในราวสามร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี ทั้งจำนวนคนไปสักการะ ซึ่งในวันปกติมีจำนวนสามหมื่นถึงห้าหมื่นคน และในช่วงเทศกาลที่จะเพิ่มขึ้นถึงวันละแสนถึงสามแสนคน

เราต้องเข้าคิวรออย่างเร็วหนึ่งถึงสองชั่วโมงในช่องทางพิเศษสำหรับคนต่างชาติที่ซื้อบัตรผ่านเพื่อจะยลเทวรูปจากระยะไกลไม่เกินสามวินาที และบางวันคิวในช่องทางปกติอาจยาวจนต้องรอถึงหกชั่วโมงเพื่อจะได้ยลเทวรูปเพียงหนึ่งถึงสองวินาที

และอะไรก็ไม่อลังการเท่าการได้เห็นพระวิมานทองคำ คือหุ้มด้วยทองคำจริงๆ ตลอดพระวิมานทั้งหลัง และเงินบริจาคใส่กระสอบที่สูงถึงเพดานห้องนับเงิน นับกันทั้งวันทั้งคืน

มีโอกาสควรไปยลสักครั้งในชีวิตนะครับ เทวสถานนี้พระเป็นเจ้าทรงมีพระทัยกว้างขวางต้อนรับทุกคน จะเป็นหรือไม่เป็นฮินดูก็ไม่ทรงรังเกียจ คือไม่ห้ามเข้า

ไปแล้วก็จะได้เห็นว่า เทวรูปกลายมาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนฮินดูได้อย่างไร

หากยังไม่มีโอกาสไปเยือนเทวสถานในอินเดีย ปลายเดือนเมษายนนี้ มติชนมีโครงการชวนยลเทวสถานในกรุงเทพพระมหานคร ทั้งของไทยเองและของอินเดียรวมสี่เทวสถาน คือ โบสถ์พราหมณ์, เทพมณเฑียร, มาริอัมมันโกยิลหรือวัดแขกสีลม และวัดวิษณุยานนาวา โดยผมไปชวนคุยชวนดู

หวังใจว่าจะได้พบกันครับ