รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ/’มดบริรักษ์’ หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 

‘มดบริรักษ์’

หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์

 

การรับมือกับการระบาดของโรคไวรัส “โควิด-19” (COVID-19) มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในหลายด้านหลายรุ่น ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ผู้ช่วยวิเคราะห์รูปภาพ วินิจฉัยประมวลผล มีการใช้หุ่นยนต์ช่วยฆ่าเชื้อโรคหรือใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยทำความสะอาดและการรักษาโรคตามโรงพยาบาล ซึ่งช่วยคัดกรองและป้องกันควบคุมโรคได้ในเบื้องต้น

นวัตกรรมที่ใช้สร้างหุ่นยนต์นี้จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ แบ่งเบาภาระและช่วยให้บุคลากรหลายๆ ท่านสามารถกระจายตัวไปดูแลเคสผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือสถานการณ์ระบาด

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) ร่วมกับนายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ผลิตและเตรียมส่งมอบชุดระบบหุ่นยนต์ ‘มดบริรักษ์’ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ภายในโรงพยาบาลเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

รวมทั้งเพื่อเป็นการยกระดับด้านสาธารณสุขให้เกิดประสิทธิภาพ และเข้าถึงประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

 

‘มดบริรักษ์’ เป็นหุ่นยนต์สำหรับช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ในการช่วยทำหน้าที่แก่แพทย์ พยาบาล ทั้งการตรวจวัดไข้ ลดการสัมผัสผู้ป่วย ใช้เพื่อการสื่อสารกับผู้ป่วย จัดยา บริการอาหารแก่ผู้ป่วย COVID-19 หรือช่วยอำนวยความสะดวกของอุปกรณ์ทางการแพทย์

คุณหมอและผู้ป่วยจะสามารถสื่อสารกันได้ผ่านทางวิดีโอคอล สั่งการด้วยเสียงโต้ตอบแบบเรียลไทม์

มีหน้าจอและสามารถบันทึกการรักษาและการวินิจฉัยโรค โดยเชื่อมต่อกับระบบกลางของโรงพยาบาล

ซึ่งหุ่นยนต์ ‘มดบริรักษ์’ ที่ใช้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์โควิด-19 ควบคุมและพัฒนาระบบโดยฟีโบ้ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ใน 1 ชุดระบบ ประกอบด้วยหุ่นยนต์ 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. SOFA หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ ซึ่งแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล และสามารถ video call สนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบ real time
  2. CARVER เป็น Automated Guided Vehicle (AGV) ทำหน้าที่ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator

และ 3. Service Robot หุ่นยนต์บริการเฉพาะจุด สามารถเคลื่อนที่ได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ส่งยาและอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ และผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้ผ่าน video call

 

สําหรับชุดระบบหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” เป็นนามพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล

โครงการผลิตหุ่นยนต์ ‘มดบริรักษ์’ สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์นั้น ทาง สกพอ.มอบทุนจำนวน 8 ล้านบาทให้แก่ฟีโบ้ เพื่อดำเนินการจัดสร้างชุดระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ จำนวน 4 ชุด

มอบให้กับ 4 โรงพยาบาลในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลบางละมุง โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลระยอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการผลิต และคาดว่าจะสามารถส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2563

อนาคต สกพอ.และฟีโบ้ เตรียมนำเทคโนโลยี 5 จี มาเสริมความสามารถของชุดหุ่นยนต์ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มบนคลาวด์ ต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มบนคลาวด์ ทำการต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ พัฒนาระบบ Teleconference ระบบบันทึกภาพ ควบคุมบริหารจัดการหุ่นยนต์จากส่วนกลางบนคลาวด์

พัฒนาระบบการควบคุมอุปกรณ์ผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ IoT กับอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ เพื่อใช้ในการบันทึกสัญญาณชีพ

และจัดทำระบบวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีสมองกลหรือ AI ซึ่งจะต่อโดยตรงกับ Genomics Platform หรือระบบจัดเก็บพันธุกรรมในพื้นที่อีอีซีด้วย

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่