อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (21) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

โรคร้ายในช่วงยุคกลางถึงเรเนสซองก์นั้นส่งผลต่อโลกใหม่สองประการ

ในประการแรก มันลดจำนวนประชากรในยุโรปลงอย่างมาก (มีผู้คนเสียชีวิตไปในเหตุการณ์ Black Death หรือไข้กาฬโรคในช่วงปี 1330 นั้นสูงถึง 25 ล้านคนหรือราวหนึ่งในสามของประชากรยุโรปตอนนั้น) และทำให้สังคมยุโรปต้องเร่งหาประชากรเพิ่มเพื่อทำกิจการต่างๆ อย่างมหาศาลอันทำให้นำไปสู่การเดินทางจนค้นพบโลกใหม่

ในประการที่สอง มันได้คร่าชีวิตชนชาวพื้นเมืองลงอย่างมากจนทำให้การควบคุมประชากรพื้นถิ่นอันได้แก่ชาวอินเดียนง่ายดายขึ้น กรณีที่ชาวสเปนเพียงหยิบมือเดียวสามารถทำลายอาณาจักรใหญ่ทั้งสองอาณาจักรคือ อาณาจักรแอซเท็กและอาณาจักรอินคา Aztec and Inca ลงได้ไม่ใช่เรื่องปกตินัก (อาณาจักรแอซเท็กนั้นมีประชากรมากถึงห้าล้านคนทีเดียว)

ภายใต้สามสี่ชั่วอายุคนจำนวนประชากรจากยุโรปขยายตัวในโลกใหม่อย่างมหาศาล (ส่วนหนึ่งมาจากการอพยพด้วย) ในขณะที่คนพื้นถิ่นลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนเกือบสูญสิ้นเผ่าพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นนั้นมีความเชื่อว่าการลดลงของจำนวนประชากรดั้งเดิมเกิดขึ้นจากความโหดร้ายของกองทัพสเปนเป็นหลัก

ความเชื่อนี้มาจากผู้ที่ถือว่าเป็นกระบอกเสียงของพวกอินเดียน คือบาทหลวง บาร์โธโลเม่ เดอ ลาส คาซาส (Bartolome de Las Casas 1474-1566) ที่มาถึงโลกใหม่นี้พร้อมกับ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส บาทหลวง บาร์โธโลเม่ เดอ ลาส คาซาส ได้เขียนบันทึกเรื่องราวเล่าถึงความโหดร้ายของกองทัพสเปนที่มีต่อคนอินเดียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหตุการณ์หนึ่งที่มักถูกหยิบยกเสมอมาเวลาอ้างถึงความเลวร้ายนั้นมาจากข้อความที่ว่า

“พวกเราพบเด็กชาวอินเดียนอายุราวสิบสองปีสองคนในระหว่างทาง พวกเขาอุ้มนกแก้วไว้ในมือ พวกทหารสเปนอยากได้นกแก้วนั้นมากเลยจับเด็กอินเดียนสองคนนั้นตัดหัวเสีย อันเป็นพฤติกรรมที่โหดร้าย อีกครั้งหนึ่งทหารสเปนแขวนคอหัวหน้าเผ่าด้วยสาเหตุที่เขาไม่ยอมทำตามคำสั่ง การแขวนคอนั้นรวมเอาญาติมิตรของหัวหน้าเผ่าด้วยเป็นจำนวนถึงสิบสองคน อีกทั้งยังมีเด็กอายุสิบแปดด้วย อีกกรณีหนึ่งนั้นเป็นการยิงธนูสังหารคนอินเดียนคนหนึ่งในขณะที่กำลังมีการประชุมด้วยสาเหตุที่เขาไปหยิบเอกสารให้ไม่ทันใจ มีการกระทำแบบนี้อีกมากในสภาพความเป็นจริงที่ชาวสเปนใช้บริหารอาณานิคมของพวกเขา”

 

นอกจากการสังหารแล้ว กระบวนการทารุณกรรมจำนวนมากยังส่งผลต่อการลดจำนวนคนท้องถิ่นด้วย อาทิ การจับคนเหล่านั้นไปเป็นทาสแรงงานทางการเกษตรโดยเฉพาะในเขตที่ราบแอนทิเลสที่คนอินเดียนผู้ชายถูกส่งไปทำงานในที่ทุรกันดาร อาทิ งานเหมืองและทำให้ภรรยาและบุตรต้องดูแลตนเอง

การแยกจากกันเป็นเวลาแปดถึงสิบเดือนทำให้สภาพครอบครัวล่มสลาย การมีทายาทกลายเป็นเรื่องยาก การแพ้สงคราม การถูกยึดดินแดนยิ่งซ้ำเติมความทุกข์โศกของพวกเขา

ลาส คาซาส เล่าว่าในสภาพเช่นนั้น พวกทารกขาดแคลนอาหาร เฉพาะในคิวบา มีเด็กตายในเวลาสามเดือนกว่าเจ็ดพันคน

และแม้แต่แม่บางคนเมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็จะหาสมุนไพรกินเพื่อทำแท้งเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม

ในเรื่องของทาส คริสโตบัล เดอ เปดราซ่า (Christobal de Pedraza) บิชอปแห่งฮอนดูรัส ผู้เป็นผู้ต่อต้านความทารุณของเหล่าคนสเปนในทางตอนใต้ของทวีป ได้เล่าว่า อลอนโซ่ เดอ โซลิส (Alonso de Solis) นายทหารสเปนคนหนึ่งได้เผาคนอินเดียนสิบสี่คนในคาโนล่า

ในช่วงเวลาที่คนสเปนเริ่มบุกรุกเข้ายึดครองแผ่นดิน คนอินเดียนคนไหนที่พยายามหนีจะถูกฆ่าและแทงด้วยหอก และถูกไล่ตามด้วยสุนัขที่ถูกฝึกมาอย่างดีด้วย

ส่วน โรดริโก้ เดอ คาสติลโล่ (Rodrigo de Castillo) ข้าราชสำนักด้านทรัพย์สินส่วนพระองค์ ได้เขียนจดหมายถึงราชสำนักคาสติล ในปี 1531 เล่าว่ากองทัพสเปนได้ยาตราจากฮอนดูรัสไปนิการากัว และตลอดทางได้เผาหมู่บ้านของชนพื้นเมืองที่พบเจอจนวอดวาย ได้ดึงทารกจากอกแม่ และโยนทารกเหล่านั้นกับพื้น

ยิ่งไปกว่านั้นยังจับชายพื้นเมืองที่ใช้การได้ล่ามโซ่และลากพวกเขาไปเป็นระยะทางไกล หากคนใดล้มลงหรือหมดแรงจะถูกตัดหัวทันที

“โดยเฉพาะที่อกัวเตล่า-Aguatega นั้น ชาวอินเดียนจำนวนสองร้อยคนถูกลงโทษ หนึ่งในสามถูกต้อนให้เข้าไปในกระท่อมและถูกเผาทั้งเป็น อีกหนึ่งในสามถูกปล่อยให้สุนัขล่าเนื้อรุมทึ้งจนตาย ดวงตาถูกควัก แขนขาถูกตัด ส่วนที่เหลืออีกหนึ่งในสามจะถูกทรมานในแบบต่างๆ กันไป”

โรดริโก้ยังเล่าในจดหมายอีกว่า สุนัขของชาวสเปนเหล่านี้ถูกฝึกมาเป็นการเฉพาะให้ดุร้ายเป็นพิเศษกับคนพื้นถิ่น และพวกมันถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายอาณานิคม

 

เปโดร มาร์ทีร์ (Pedro Matir) นักบันทึกอีกคน ก็ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ วาสโก้ นูเนซ เดอ บัลบัวร์ (Vasco Nunez de Balboa) นำกองทัพสเปนเข้ายึดเขตปานามา พวกสเปนตัดแขนของคนพื้นเมืองทิ้งทีละคน ก่อนจะตัดขาและเลื่อยลำตัว

หลังจากนั้นพวกเขาจะตัดหัวของชนพื้นเมืองในดาบเดียว

ทุกอย่างเป็นไปไม่ต่างจากพ่อค้าเนื้อแล่เนื้อวัวหรือเนื้อแพะในตลาดยามเช้า มีชนชาวพื้นเมืองราวหกร้อยคนที่ถูกสังหารด้วยวิธีนี้

นอกจากนี้ วาสโก้ยังสั่งให้สุนัขรุมกัดชาวพื้นเมืองอีกสี่สิบคนจนตาย

บันทึกทำนองนี้ยังมีในสมัยที่สเปนบุกอินคาด้วย ในเดือนพฤศจิกายน 1536 ในช่วงที่อาณาจักรอินคายังอยู่ภายใต้การปกครองของ มันชู คาปัก-Manco Capac กองทัพสเปนภายใต้การนำของ อลอนโซ่ เดอ อราวาโด้ (Alonzo de Aravado) ได้เดินทางจากลิม่าไปยังเขตจาจ้าเพื่อปราบกบฏ ทหารคนหนึ่งของเขาคือ ฮวน เดอ ทูรูกาโน่ (Juan de Turuegano) ได้เขียนจดหมายถึงที่บ้านในเมืองเซวิลล์ เล่าเหตุการณ์ปราบปรามครั้งนั้นว่า

“พวกเราจับชาวอินเดียนได้ราวหนึ่งร้อยคนและสังหารพวกเขาไปกว่าสามสิบคน พวกเขาทั้งตัดแขน เฉือนจมูก และยังตัดหน้าอกของผู้หญิงด้วย ก่อนจะส่งพวกกบฏเหล่านี้ให้กับศัตรูของพวกเขาอันเป็นการประกาศว่าใครก็ตามที่แข็งข้อกับอาณาจักรสเปนนั้นจะมีผลบั้นปลายใต้คมหอกคมดาบเยี่ยงไร”

 

การฆ่าพันเช่นนี้ทำให้ประชากรในโลกใหม่ลดลงอย่างรวดเร็ว

ยกตัวอย่างเช่น เกาะเล็กๆ อันเงียบสงบอย่างเกาะไทโน่ ที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ขึ้นฝั่งในปี 1492 นั้น เพียงระยะเวลาห้าสิบปีหลังการครอบครองของพวกสเปน ชนชาวพื้นเมืองในเกาะนั้นแทบจะสูญหายล้มตายจนหมดเผ่า ในแถบเซ็นทรัลเม็กซิโก ที่เคยมีประชากรกว่าสิบห้าล้านคนในปี 1519 เมื่อกาลเวลาผ่านไปหนึ่งร้อยปี จำนวนประชากรได้ลดลงเหลือเพียง 1.5 ล้านคนเท่านั้นเอง

ลาสคาซาสประมาณว่าแค่ช่วงเวลาที่สเปนเดินทางมาถึงช่วงแรก (ภายใต้การนำของโคลัมบัสทั้งสี่ครั้ง) จำนวนประชากรพื้นเมืองที่ตายไปเพราะผลจากการครอบครองมีถึงยี่สิบล้านคน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่ความโหดร้ายของกองทัพสเปนที่คร่าชีวิตผู้คน พวกเขาตายจากกองทัพโปรตุเกส จากกองทัพอังกฤษ กองทัพฝรั่งเศส กองทัพชาวดัตช์

พวกเขาตายในทุกที่ที่ชาวผิวขาวแผ่อำนาจไปถึง ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ไม่เกี่ยวกับระบบการปกครอง ไม่เกี่ยวกับระบบการจัดการ พวกชาวพื้นเมืองที่อยู่ภายใต้การดูแลของบาทหลวงและคณะมิชชันนารีก็ล้มตายลงอย่างรวดเร็วไม่น้อยหน้าพวกที่ทำงานในเหมืองหรือในทุ่งปศุสัตว์เลย

อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการล้มตายจำนวนมากนั้น?

และทำไมสาเหตุที่แท้จริงจึงถูกละเลย

 

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้สาเหตุของการล้มตายและการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของชาวพื้นเมืองถูกละเลยมาจากการที่บันทึกของ ลาส คาซาส ถูกแปรเป็นภาพวาด (โดยเฉพาะเล่มสำคัญคือ Apologetic History) โดยช่างวาดคนสำคัญคนหนึ่งในยุคนั้นคีอ ธีโอดอร์ เดอ เบรย์-Theodore De Bry

ภาพวาดของ ธีโอดอร์ เดอ เบรย์ นั้นมุ่งแสดงถึงความโหดร้ายของกองทัพสเปนเป็นสำคัญ แต่แทนที่มันจะก่อให้เกิดความเห็นใจต่อชนพื้นเมือง ทั้งกองทัพฝรั่งเศสและกองทัพอังกฤษกลับเห็นว่ามีแต่ความโหดร้ายต่อชนชาวพื้นเมืองเท่านั้นเองที่จะทำให้การปกครองอาณานิคมเป็นไปได้อย่างราบรื่น

ความเชื่อว่าความโหดร้ายคือสาเหตุของการล้มตายถูกชำระล้างเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่สิบเจ็ด เมื่อชาวสเปนคนหนึ่งที่เกิดในกัวเตมาลานาม ฟรานซิสโก อันโตนิโอ เดอ ฟูเอนเตส เอ กูซแมน-Francisco Antonio de Fuentes Y Guzman ได้เขียนบันทึกเล่มหนึ่งขึ้น ชื่อว่า Recondacio Florida การยึดครองฟลอริด้า

บันทึกเล่มนั้นโจมตีงานเขียนของลาสคาซาสว่าเป็นการโยนความเลวร้ายให้กับกองทัพสเปนแต่ถ่ายเดียว โดยละเลยฆาตกรคนสำคัญในโลกใหม่อันได้แก่สิ่งที่เรียกว่า “โรคระบาดหรือโรคร้าย”

ฟูเอนเตสนั้นเกิดในปี 1643 (ราวหนึ่งร้อยห้าสิบปีหลังการพบโลกใหม่) เขาทันฟังตำนานเรื่องราวสำคัญคือการระบาดครั้งใหญ่ของโรคหัดในกัวเตมาลาช่วงปี 1533 และการระบาดครั้งนั้นเองที่มีผลทำให้จำนวนประชากรของชนพื้นเมืองล้มตายมากกว่าการสังหารใดๆ

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า หากเราพิจารณางานเขียนของลาสคาซาสอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่า ตัวเขาเองก็ได้กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคร้ายเหล่านี้ไว้ ในงานเล่มหนึ่งของเขามีการกล่าวถึงการระบาดของโรคฝีดาษในแถบฮิสปานิโอล่าในปี 1518 และมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก

หากแต่ลาสคาซาสไม่ได้มองการระบาดเหล่านั้นว่าเป็นสาเหตุของการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ หากแต่กลับมองมันว่าเป็นดังของขวัญจากพระเจ้า

เป็นของขวัญในฐานะที่ช่วยปลดปล่อยเหล่าคนพื้นเมืองที่ถูกทารุณกรรมจากกองทัพสเปนให้ได้กลับไปสู่อ้อมกอดของพระเจ้า และช่วยลงทัณฑ์เหล่าพวกคนสเปนที่ใจบาปหยาบช้าให้ไปอยู่ในนรก

ความเชื่อที่ว่านี้ส่งผลให้ ลาส คาซาส มองโรคร้ายเป็นดังข่าวดีมากกว่ามองมันเป็นสิ่งที่ต้องป้องกันและรักษา

 

การออกมาโต้แย้งของฟูเอนเตส ในศตวรรษที่สิบเจ็ดก่อให้เกิดการตื่นตัวและหันมาต่อสู้กับโรครร้ายอย่างจริงจังในโลกใหม่

ศตวรรษที่สิบแปดเป็นต้นมาจึงเริ่มต้นด้วยการจัดระเบียบทางการปกครอง จัดระเบียบทางศาสนา และจัดระเบียบการสาธารณสุข

เพราะทุกที่ในโลกใหม่ นับแต่อ่าวฮัดสันถึงเทียร่า เดล ฟูเอโก้ นับแต่เขตหนาวสุดในเซ็นต์ลอเรนซ์ ไปจนถึงเขตร้อนสุดในเดอะเกรตเพลน หรือจากเขตร้อนชื้นในที่ราบอัทราโต้ ไปจนถึงเขตที่มีแต่ลมอย่างในพาทาโกเนีย

ไม่มีที่ใดเลยที่โรคร้ายซึ่งถูกนำมาด้วยชนผิวขาวจะไม่เดินทางไปถึง