คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : การ “ขอโทษ” และ “ให้อภัย” มุมมองจากศาสนา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในช่วงเวลาที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ มีประเด็นร้อนๆ ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการ “ขอโทษ” และการ “ให้อภัย” ที่กำลังระอุอยู่มากๆ

กล่าวคือ มีคนไป “ขุด” ทั้งภาพและโพสต์ของคนดังที่ได้รับการเรียกขานว่านักคิดนักเขียนที่เป็นคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2553 โดยเฉพาะการทำความสะอาดกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่หรือ Big Cleaning Day ซึ่ง กทม.เรียกอย่างเป็นทางการว่า โครงการ “รวมใจภักดิ์ ร่วมเยียวยากรุงเทพฯ” ในวันที่ 23 พฤษภาคม ปีนั้น

เหตุการณ์นี้มีความหมายทางการเมืองก็เพราะมีผู้วิเคราะห์ว่า ที่จริงเป็นการเชื้อเชิญประชาชนจะโดยอาศัยความรู้สึกอะไรก็ตาม ออกมา “ทำลาย” หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่จะพิสูจน์สาเหตุการตาย รวมทั้งความจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าคราบเลือด รอยไหม้ เศษกระสุน ฯลฯ ล้วนถูกกวาดและถูกชำระล้างไปก่อนจะมีการตรวจสอบ

ผมเองมีความทรงจำที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อยู่ ผมไม่ได้ไปเช็ดล้างอะไรกับเขานะครับ เพราะตอนนั้นชัดเจนกับแนวทางการเมืองตัวเองแล้ว

ช่วงนั้นผมทำงานที่นครปฐม แต่ทราบว่าเพื่อนที่ผมรักมากที่สุดคนหนึ่งก็ไปร่วมทำความสะอาดกับเขาในวันนั้นด้วย

ผมเข้าใจว่า เขาก็คงรู้สึกอยากเยียวยากรุงเทพฯ ที่บอบช้ำตามที่ กทม.โปรโมตโดยไม่ได้คิดว่าตนเองจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางการเมืองอะไร

แม้ในทุกวันนี้เราก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน แต่ผมก็สลัดความทรงจำกับสิ่งที่เขาทำลงไปไม่ได้ และไม่กล้าพอที่จะถามว่า ทุกวันนี้เขารู้สึกยังไง แถมยังบอกตัวเองว่า ทำไมตอนนั้นไม่คุยกับเพื่อนว่าเราคิดยังไงกับโครงการนี้

 

ส่วนคนดังท่านนั้นหลังจากมีกระแสถามกันมาก ก็ออกมาขอโทษในทวีตต่อสิ่งที่เคยทำในอดีต และทำให้เกิดข้อถกเถียงต่อมาอีกว่า ควรจะให้อภัยกันหรือไม่ เพราะเหตุใด

ก่อนหน้านี้เคยมีการถกเถียงกันมาแล้วว่า ควรให้อภัยฝ่ายที่ตัดสินใจย้ายข้างทางการเมืองหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า “สลิ่ม” เพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ที่เขาขอโทษนั้นเป็นคำขอโทษจริงๆ ที่ออกมาจากความสำนึกผิด หรือได้เปลี่ยนความคิดทางการเมืองไปแล้วจริงๆ ไม่ได้ทำไปเพราะกระแสสังคมมันเปลี่ยน

ผมจึงมานั่งนึกถึงแนวคิดเรื่องการขอโทษและให้อภัยที่ปรากฏในศาสนา รวมทั้งวัฒนธรรมเรื่องนี้ในบ้านเรา แม้อาจไม่ช่วยให้ข้อถกเถียงด้านบนกระจ่าง

แต่คงช่วยให้เห็นอะไรๆ ที่มากขึ้นไปอีกกระมัง

 

ทุกคนทำผิดได้ และการกระทำผิดต่อผู้อื่นนั้นทำให้เกิดภาระทางใจต่อผู้ถูกกระทำในตอนแรก และหากผู้กระทำได้เกิดสำนึกว่าตนกระทำผิดแล้ว ก็จะเกิดภาระทางใจของตนขึ้นในภายหลัง

ศาสนามีองค์ประกอบสำคัญคือข้อกำหนดทางศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดพื้นฐานในศาสนานั้นๆ ผมคงแบ่งออกง่ายๆ เป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มศาสนาที่มีพระเจ้า กับกลุ่มศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า เช่น พุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นๆ ในอินเดีย

เมื่อมีข้อกำหนดทางศีลธรรมมาก ทั้งที่มาจากส่วนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจากความเชื่อ โอกาสจะกระทำความผิดจึงมีได้มากตาม

ครั้นกระทำผิดแล้วเกิดภาระทางใจ การขอโทษ หรือที่จะเรียกว่าขอขมา ขอการอภัยบาป ขมากรรม ศีลล้างบาป ฯลฯ จึงเกิดมีขึ้นในศาสนา ในฐานะพิธีกรรมที่ช่วยให้ปลดปล่อยภาระทางใจอันนั้น

ทว่าการปลดปล่อยเช่นที่ว่านี้ ไม่อาจเกิดขึ้นเองจากฝ่ายเดียวได้ ต้องมีการให้อภัยทั้งจากผู้ถูกกระทำและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปลดปล่อยภาระทางใจให้ครบทั้งสองฝ่ายในกรณีที่เป็นความผิดพลาดต่อบุคคล และทำให้การขอโทษนั้นสมบูรณ์ในกรณีที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเกี่ยวข้อง

ศาสนารู้ว่ามนุษย์นั้นมีข้อบกพร่องแต่ก็แสวงหาความบริบูรณ์ การมีมลทิน บาป หรือภาระทางใจดังกล่าวล้วนแต่ทำให้ความสมบูรณ์หรือความบริสุทธิ์ในทางศาสนาไม่อาจเกิดขึ้นได้ กลไกที่ว่านี้จึงเกิดขึ้นมาในทุกศาสนา

ศาสนาที่มีพระเจ้า เมื่อมีการกระทำผิดขึ้น จึงเรียกร้องการขออภัยต่อสองส่วน คือต่อผู้ที่ถูกกระทำและต่อพระเจ้า เพราะการกระทำผิดบาป ไม่ใช่การกระทำผิดในตัวมันเอง แต่เพราะมันได้ละเมิด “พระบัญญัติ” หรือสิ่งที่พระเจ้ากำหนดไว้ให้กระทำหรือไม่กระทำ เช่น การฆ่ามนุษย์ โดยหลักศีลธรรมทั่วไปเป็นการละเมิดต่อชีวิตผู้อื่น แต่ในศาสนาที่มีพระเจ้ายังมีความหมายว่า ได้ละเมิดต่อพระบัญญัติที่พระองค์ห้ามไว้ด้วย ความผิดนี้จึงมิใช่ความผิดต่อเพื่อนมนุษย์เพียงอย่างเดียว

แม้หลังการสังคายนาครั้งที่สอง คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกจะเน้นว่า มโนธรรมสำนึกของปัจเจกบุคคลนั้นสำคัญกว่าพระบัญญัติ แต่การปฏิบัติตามพระบัญญัติก็ยังจำเป็นอยู่

มักมีผู้เข้าใจผิดว่า ในคริสต์ศาสนามีศีลล้างบาป แปลว่าศาสนิกก็สบาย ทำผิดอย่างไรก็ได้ เพียงไปขอให้บาทหลวงทำพิธี โดยแค่สารภาพก็จบแล้ว

เท่าที่ผมทราบ เงื่อนไขสำคัญในการอภัยบาปนั้น ประการแรก ผู้ขออภัยจะต้องมีความสำนึกผิดอย่างแท้จริงต่อความผิดของตน หากไม่มีข้อนี้การอภัยบาปจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย และมิใช่ว่าเพียงสำนึกผิดแล้วจะจบ แต่ต้องมีการ “ใช้โทษบาป” ด้วยวิธีการต่างๆ อีกด้วย

สิทธิที่จะยกโทษเป็นของพระผู้เป็นเจ้าแต่ผู้เดียว แต่มีบาทหลวงเป็นตัวแทน มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ฉายภาพของปัญหานี้ คือภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Secret Sunshine มีฉากหนึ่งที่ตัวเอกรู้สึกไม่พอใจอย่างมากที่ผู้กระทำผิดรู้สึกว่าตนได้รับการอภัยจากพระเจ้าแล้ว และอยู่ดีมีความสุขสบายใจ แต่ที่ฝ่ายเสียหายคือตนเองยังไม่ได้ให้อภัยก่อนเลย

ประเด็นนี้คงต้องพูดคุยกันต่อไปอีก

ส่วนศาสนาที่ไม่ได้นับถือพระเจ้า เช่น พุทธศาสนา หรือแม้แต่มีเทพเจ้าอย่างฮินดู มีกลไกทางศีลธรรมโดยใช้ระบบ “กรรม” เป็นเครื่องรับรองความยุติธรรมในการได้รับผลของการกระทำนั้น

ดังนั้น แม้จะสำนึกผิดหรือไม่ก็ตาม กรรมก็ย่อมส่งผลไปตามระบบของมัน แต่พุทธศาสนาหรือศาสนาฮินดูก็ยังมีพิธี “ขมากรรม” หรือพิธีล้างบาป (ฮินดูเรียกปรายัศจิตกรรม) อยู่ด้วย

ฝ่ายมหายานและวัชรยานถือว่าพิธีนี้สำคัญมากๆ เป็นกิจที่ต้องทำพื้นฐาน โดยการขมากรรมที่เราได้เคยทำไว้ทั้งหมดต่อหน้าพระรัตนตรัย โดยมีบทสวดหรือการปฏิบัติในการขมากรรม เพราะถือว่าหากรู้สึกว่าอกุศลกรรมที่ได้เคยทำไว้ยังคงมีอยู่มากมายโดยไม่สำนึกหรือได้ขมาแล้ว ย่อมเกิดอุปสรรคทางใจต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม

โดยทฤษฎีในพุทธศาสนาเอง พระรัตนตรัยก็ไม่อาจลบล้างผลกรรมที่เคยทำไว้ได้ การขมากรรมมิได้ลบล้างผลของกรรมที่จะเกิดขึ้น (วิบาก) แต่ช่วยให้จิตใจของผู้ขมากรรมบริสุทธิ์สะอาด ปลดปล่อยพันธะทางใจไป

กระนั้นการขมากรรมในพุทธศาสนาก็ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขสองอย่าง กล่าวคือ ต้องมีความสำนึกผิดอย่างแท้จริง และต้องตั้งจิตว่าจะไม่กระทำความผิดเช่นนั้นซ้ำอีก

 

เราจะเห็นว่า ไม่ว่าจะศาสนาไหนมีเงื่อนไขสำคัญคือการ “สำนึกผิดอย่างแท้จริง” การขอโทษหรือขมาจึงสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยภาระทางใจได้ มิฉะนั้นก็จะเป็นเพียงพิธีกรรมขอโทษหรือขอขมาที่ไร้ความหมาย

ในฟากฝ่ายของผู้ให้อภัยดูจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าเสียอีก ศาสนาจึงมักมีคำสอนว่าการให้อภัยเป็นคุณค่าอย่างสูงสุด เพราะช่วยปลดปล่อยตนเองออกจากความแค้นและความเกลียดชัง ซึ่งเอาเข้าจริงไม่ง่ายเลย นักปรัชญาบางท่านจึงเสนอว่า ผู้ให้อภัยควรรู้สึกว่าได้รับการชดใช้ หรือได้รู้สึกว่าอีกฝ่ายสำนึกผิดจริงๆ แล้ว ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องความยุติธรรมด้วย จึงต้องใช้เวลา การให้อภัยจึงค่อยเกิดขึ้นภายหลังจากเวลาผ่านไปแล้ว

น่าเศร้าที่ในบ้านเรา เจตนารมณ์ของการขอโทษและการให้อภัย ถูกลดทอนลงจนเหลือเพียงพิธีกรรม ดังเมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้น ตำรวจมักนำผู้ต้องหาไปขอขมาผู้ตายหรือญาติพี่น้องในช่วงทำแผนประกอบคำรับสารภาพทันที โดยไม่สนใจว่าจะมีการสำนึกผิดจริงหรือไม่ ทั้งๆ ที่การกระทำผิดนั้นเพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ส่วนฝั่งผู้ให้อภัยก็โดนบีบกลายๆ ว่าต้องรับการขอขมาทันทีเช่นกัน อย่างน้อยก็ในเชิงพิธีกรรม มิฉะนั้น จะดูกลายเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น

ทั้งหมดนี้ยิ่งก่อความเจ็บปวดต่อผู้ถูกกระทำยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ต้องพูดถึงกรณีที่ยังไม่มีการขอโทษหรือการชดใช้ใดๆ ในเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยหลายต่อหลายครั้ง จนกลายเป็นบาดแผลทางใจของสังคม

 

ผมคิดว่า ในกรณีการขอโทษที่เป็นความผิดพลาดส่วนบุคคลในทางการเมือง ไม่ใช่รัฐหรือผู้สั่งการ หากเราอยากจะให้อภัย ก็อาจใช้เงื่อนไขจากตัวอย่างในศาสนาได้ คือต้องแสดงให้เห็นว่ามีการสำนึกผิดอย่างแท้จริง ชดใช้ตามสมควรแก่เหตุ และแสดงเจตนารมณ์ว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก

การขอโทษและการให้อภัยจึงจะมีความหมาย ส่วนผู้กระทำผิดที่ยังไม่สำนึกนั้น ก็ควรต้องเรียกร้องให้ออกมายอมรับความผิด ออกมาขอโทษ และชดใช้ความผิดนั้นด้วย

สังคมจึงจะได้รับการเยียวยาและก้าวไปข้างหน้าได้