ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต /ลองซิ่ง ‘มาสด้า ซีเอ็กซ์-30’ ขับสนุก-ตัวช่วยไฮเทคเพียบ

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

ลองซิ่ง ‘มาสด้า ซีเอ็กซ์-30’

ขับสนุก-ตัวช่วยไฮเทคเพียบ

 

ระกาศชัดเจนตั้งแต่ต้นปีช่วงเปิดตัว “ซีเอ็กซ์-30” (CX-30) ครอสส์โอเวอร์รุ่นล่าสุดจากมาสด้าว่าต้องการผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในเซ็กเมนต์รถอเนกประสงค์ของไทย

เนื่องจากมาสด้ามีรถในเซ็กเมนต์นี้ถึง 4 รุ่นที่วางจำหน่าย ตั้งแต่รุ่นเล็ก “ซีเอ็กซ์-3” รุ่นกลาง “ซีเอ็กซ์-5” พี่ใหญ่ “ซีเอ็กซ์-8” และล่าสุด “ซีเอ็กซ์-30”

ด้วยมีรุ่นให้เลือกจำนวนมากนี่เอง จึงเป็นไปได้สูงว่าจะทำได้ภายในปีนี้ แม้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีนักก็ตาม แต่ก็โดนกันทุกค่ายเหมือนกัน

ผมได้รถมาสด้า ซีเอ็กซ์-30 มาลองขับ หลังเปิดตัวมาสักพัก

ประสบพบพักตร์ครั้งแรก บอกเลยว่าสวยจนต้องปาดน้ำลายจริงๆ

ขนาดตัวถังสังเกตได้เลยว่าใหญ่กว่ามาสด้า ซีเอ็กซ์-3 ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้น เนื่องจาก “ซีเอ็กซ์-30” อยู่ในเกรดที่เหนือกว่า และยังใช้แพลตฟอร์มเดียวกับเก๋ง “มาสด้า 3”

มิติตัวถัง (กว้าง x ยาว x สูง) 1,795 x 4,395 x 1,540 ม.ม.

ขณะที่ซีเอ็กซ์-3 ใช้แพลตฟอร์มของ “มาสด้า 2”

กระจังหน้าขนาดใหญ่คล้าย “ซีเอ็กซ์-5” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์การออกแบบของมาสด้าในรุ่นหลังๆ ทั้งหมด

ไฟหน้าโปรเจ็กเตอร์เลนส์ LED พร้อมระบบ ALH (Adaptive LED Headlamps)

โคมไฟหน้าและโคมไฟท้ายออกแบบโฉบเฉี่ยว รูปทรงกระบอกอันประณีตของแสงรูปวงแหวนจะเห็นเด่นชัดในตอนกลางคืน

ซุ้มล้อไหลไปถึงชายด้านข้างมีแถบสีดำขนาดใหญ่ ทำให้ดูบึกบึนมากขึ้น

ประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า

ล้ออะลูมิเนียมอัลลอย ขนาด 18 นิ้ว

 

ภายในใช้สีทูโทนดำ-น้ำตาล ตกแต่งคอนโซลหน้าด้วยวัสดุอ่อนนุ่ม มีลูกเล่นเป็นปีกเชื่อมจากคอนโซลหน้ามาถึงบานประตู

จุดเด่นเน้นความเรียบหรู โดยเฉพาะแผงด้านหน้าดูเหมือนไม่มีปุ่มอะไรมาก ออกจะดูเรียบๆ

พวงมาลัยระบบมัลติฟังก์ชั่น เรือนไมล์แบบ 3 วงกลมขนาดใหญ่ พร้อมจอ TFT LCD ขนาด 7 นิ้ว อยู่ตรงกลางของแผงหน้าปัด แสดงข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบและชัดเจน

มีหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบสีบนกระจกหน้า ช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องละสายตาจากถนน

การแสดงผล Center Display แบบ Widescreen ขนาด 8.8 นิ้ว ขยับไปอยู่บนคอนโซลลักษณะลอยตัว

ปุ่มควบคุมอัจฉริยะ (Center Commander) และระบบแสดงตัวอย่างเมนูที่ใช้งานง่าย

เชื่อมต่อ “Mazda Connect” รุ่นเดียวกับมาสด้า 3 ใหม่ ผ่านสมาร์ตโฟน อินเตอร์เน็ต และการเชื่อมต่อการสื่อสาร

ระบบเสียง “Mazda Harmonic Acoustics” ลำโพง 12 ตัว พัฒนาร่วมกับ “Bose Corporation” บอกเลยว่าเสียงดีจริง ไรจริง ไม่ต้องไปทำเพิ่มแล้ว

ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ Dual Zone พร้อมช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง

เบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้า 10 ทิศทาง พร้อมระบบบันทึกตำแหน่งเบาะ 2 ตำแหน่ง

เบาะหลังแบบพับได้ 60:40 แยกอิสระจากกัน

จากที่ไปลองนั่งด้านหลัง พนักจะชันนิดๆ แต่ด้วยพื้นที่วางเท้าที่กว้างขวาง ขยับท่าทางได้ง่ายขึ้นหากต้องเดินทางไกล

มีซันรูฟมาให้ด้วย

 

กดปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์คำรามเบาๆ ปลดเบรกมือไฟฟ้า

คันเกียร์จับกระชับมือ ลากลงมาที่ “D” กดปุ๊บพุ่งวาบไปปั๊บชนิดหลังติดเบาะ

ขุมกำลัง SKYACTIV-G 2.0 ความจุ 1,998 ซีซี กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 213 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ระบบเกียร์ SKYACTIV-Drive 6 สปีด พร้อมแมนวลโหมด รองรับน้ำมันได้สูงสุดถึง E85

มีแพดเดิลชิฟต์ หรือปุ่มเปลี่ยนเกียร์ที่หลังพวงมาลัยมาให้ด้วย

แต่ด้วยรสนิยมส่วนตัว ผมชอบเปลี่ยนจังหวะที่คันเกียร์มากกว่า

ใช้งานง่ายๆ แค่ตบคันเกียร์เข้าหาตัวก็ขยับขึ้นลงเพิ่ม-ลดเกียร์ได้แล้ว

อัตราเร่งแจ่มว้าวทุกย่านความเร็ว ยิ่งช่วงกลางไปสูงกดเป็นพุ่งติดเท้าจริงๆ

ความเร็วระดับ 160-170 กิโลเมตร/ชั่วโมง มาเร็วมากแทบไม่รู้สึกตัว

พวงมาลัยจับกระชับมือ มีความแม่นยำสูง

เสียนิดเดียวเย็นมือชะมัด เพราะตำแหน่งช่องแอร์ที่ติดตั้งข้างๆ เรือนไมล์ ยิงมาที่ขอบพวงมาลัยพอดี ต้องขยับขึ้นไปจับด้านบนๆ หน่อย

แต่จังหวะที่ใช้ความเร็วสูง การเข้าโค้ง หรือต้องการซิกแซ็กรวดเร็ว ผมถนัดที่จะจับบริเวณตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา เลยเย็นมือไปหน่อย

 

ระบบเกียร์ลื่นไหลดีมากไม่มีกระตุกให้เสียอารมณ์

ส่วนช่วงล่างเซ็ตมาได้ลงตัว ด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังกึ่งอิสระทอร์ชั่นบีม

จะเข้าโค้งแรงๆ เบรกหนักๆ ไม่มีปัด ไม่มีเป๋ให้หวาดเสียว

ทริปนี้ผมเลยซัดหนักๆ ไปหลายรอบ

อีกส่วนที่ดีคือเบาะนั่งสบายมากๆ โอบกระชับสรีระได้เหมาะเจาะ

บวกกับจุดสัมผัสต่างๆ ใช้วัสดุอ่อนนุ่มเป็นหลัก รู้สึกสบายมากเวลาเท้าแขนไม่ว่าจะด้านซ้ายหรือขวา

ดิสก์เบรก 4 ล้อ เอาอยู่ทุกสถานการณ์

เทคโนโลยีความสะดวกผมถือว่าให้มาเกินคุ้ม โดยเฉพาะระบบ “ควบคุมความเร็วและพวงมาลัยตามรถคันหน้า” (CTS)

เพียงตั้งระบบนี้ เรดาร์หน้ารถจะจับสัญญาณระยะห่างจากคันหน้าตามที่ผู้ขับขี่ตั้งไว้ จากนั้นรถจะเร่ง-ลดความเร็วตามรถคันหน้า นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมพวงมาลัยเพื่อให้ง่ายต่อการรักษาตำแหน่งรถให้อยู่ในเลนบนทางโค้ง

เหมาะมากกับการขับในจังหวะรถติดๆ หรือจะขับทางไหลตามคันหน้าโดยแทบไม่ต้องสลับเท้าไปมาระหว่างคันเร่ง-เบรก

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายระบบตัวช่วยการขับขี่และความปลอดภัย

ที่ผมเห็นว่าสำคัญมากๆ อันหนึ่งคือ

ระบบช่วยเบรกและหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง SBS-R และระบบช่วยหยุดรถเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง SBS-RC โดยมีเรดาร์และกล้องอยู่ด้านหลัง เวลาถอยออกจากซองที่จอด หากระบบจับวัตถุที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการชนได้ รถจะเบรกให้อัตโนมัติ

ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติแบบ Advance

ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน หากรถเบนออกจะส่งสัญญาณเตือนและดึงพวงมาลัยกลับนิดๆ เพื่อเตือนผู้ขับขี่

ระบบแสดงภาพ 360 องศา รอบทิศทาง ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน

ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง ม่านถุงลมนิรภัย และถุงลมบริเวณหัวเข่าด้านคนขับ รวม 7 ตำแหน่ง

ระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่อัจฉริยะขั้นสูง “G-Vectoring Control Plus” (GVC Plus) ช่วยปรับแรงบิดของเครื่องยนต์ตามการหักเลี้ยวพวงมาลัยของผู้ขับขี่ ควบคู่ไปกับการเบรกที่เหมาะสม ฯลฯ

“มาสด้า ซีเอ็กซ์-30” ที่ผมได้มาทดสอบเป็นรุ่นท็อป 2.0 SP ราคา 1,199,000 บาท

ส่วนอีก 2 รุ่นล่างลงไป มีรุ่น C ราคา 989,000 บาท และรุ่น S ราคา 1,099,000 บาท

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่