จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 5-11 มิถุนายน 2563

จดหมาย

 

0 อันเนื่องจาก

“เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์”

 

เรียนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

ผมติดตามมติชนสุดสัปดาห์มานานมาก

นานจนคนส่งหนังสือเขามาเก็บสตางค์ผมแค่ปีละครั้งด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ

ไม่นานมานี้ผมได้อ่านบทความของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในชื่อว่า “ศีลธรรมใหม่ของโลกใหม่”

ได้พบข้อความที่ผมมีความเห็นต่างออกไป

ใคร่จะนำเสนอเพื่อโปรดพิจารณา

 

“วิถีในที่นี้หมายถึงวิถีชีวิต ซึ่งเป็นความหมายโดยรวมของคำวัฒนธรรมอันยังไม่จำแนกดีเลว เพราะวัฒนะเป็นคำกลางๆ ถ้าวัฒนะดีก็จะเป็นอารยะ วัฒนะไม่ดีก็จะเป็นหายนะ”

ความเห็นของผม

ผมว่าคำว่า “วัฒนะ” ไม่ใช่คำกลางๆ นะครับ

วัฒนะในความเข้าใจของผมคือ ความเจริญงอกงาม ก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้น

ดังนั้น “วัฒนธรรม” ก็คือแนวทาง วิถีทางของการดำเนินชีวิตของคนหมู่ใดหมู่หนึ่ง ที่เมื่อคนหมู่นั้นยึดถือปฏิบัติร่วมกันแล้วทำให้ชีวิตของคนหมู่นั้นดีขึ้น เจริญขึ้น วัฒนาถาวรขึ้น

ย้ำว่าเมื่อปฏิบัติแล้วชีวิตของหมู่คนที่ปฏิบัติต้องดีขึ้นนะครับ

ถ้าไม่ดีขึ้นหรือไม่วัฒนาขึ้น

ย่อมไม่เรียกว่า “วัฒนธรรม”

วัฒนธรรมเป็นความจริงสัมพัทธ์

คือมันเปลี่ยนแปลงได้เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน

บางคนบอกว่าวัฒนธรรมนั้นมีชีวิตมันเป็นอนิจจัง

มีเกิดแก่เจ็บตายได้

เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับบริบทที่เปลี่ยนไป

สิ่งที่ปฏิบัติตามๆ กันมา พอถามว่าทำไปทำไม แล้วได้คำตอบ (จากหลายๆ คนที่ทำ) ว่าไม่รู้เหมือนกันเขาทำกันอย่างนี้มานาน พ่อก็ทำ แม่ก็ทำ ยายก็ทำ เลยทำด้วย ทำแล้วสบายใจ แบบนี้อาจเรียกว่า “ประเพณี” ได้ไหมครับ

ตัวอย่างเช่น ประเพณีรับน้อง

ถ้าถามแล้วได้คำตอบแบบข้างบนก็น่ากลัวหน่อย

แต่ถ้าได้คำตอบว่า ที่รับน้องด้วยวิธีอย่างนี้…อย่างนั้น… ก็เพื่อให้น้องๆ ได้ปรับตัว ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำความรู้จักและเข้าใจรุ่นพี่ รุ่นพี่ได้รู้จักและเข้าใจน้อง สลายทิฏฐิมานะที่มีมาแต่เดิม (เจอรุ่นน้องมากหน้าหลายตาเข้าอาจทำลายทิฏฐิมานะของรุ่นพี่เองได้ด้วย) เข้าใจดีเอ็นเอของสถานศึกษา เรียนรู้กฎกติกา มารยาทของการอยู่ร่วมกันในสถานที่ใหม่ ฯลฯ

ทั้งนี้ ภายใต้กติกาที่ว่าต้องไม่ผิดศีลธรรม

ต้องปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ ต้องไม่ผิดกฎหมาย และถ้าจะให้ดีควรสนุกเร้าใจและมีไอเดียสร้างสรรค์แถมด้วย แบบนี้จะเรียกว่าเป็นประเพณีอันดีงาม

เป็นประเพณีที่มีวัฒนธรรมก็คงได้นะครับ

เพราะประเพณีแบบนี้ทำตามๆ กันแล้วทำให้ชีวิตในสถาบันนั้นๆ ดีขึ้นแน่นอนทั้งรุ่นน้องรุ่นพี่ ยังได้อานิสงส์ไปถึงบรรดาคณาจารย์ด้วย

 

“ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า ศาสนาที่หนักไปข้างไสยศาสตร์นั้นมักหนักไปทางพิธีกรรม ส่วนพุทธศาสตร์นั้นมักมีแต่วิธีการ”

ความเห็นของผม-ผมว่าพุทธศาสตร์นั้นมีทั้ง “หลักการ” และ “วิธีการ” เลยนะครับ ไม่ได้มีแต่วิธีการ

นี่ไม่ได้ตั้งใจจะเถียงท่านพุทธทาสนะครับ หรือว่าจะมีการสื่อสารผิดพลาดกันตรงไหน

โดยหลักธรรมนั้น ศรัทธากับปัญญาต้องมีและต้องใช้ให้เสมอกัน

ศรัทธานำปัญญา ก็จะหนักไปข้างงมงายไสยศาสตร์

ปัญญานำศรัทธา ก็จะหนักไปข้างสุดโต่งโกร่งกร่างไม่ฟังใคร

ศรัทธากับปัญญาจึงต้องมีและต้องใช้คู่กันอยู่เสมอ

ความเห็นของผม

ผมว่าที่จริงแล้วคนเราควรใช้ปัญญานำศรัทธาเสมอ

เพราะถ้าใช้คู่กัน เสมอกันในการตัดสินสิ่งต่างๆ เมื่อพบกับปัญหาเราจะตัดสินใจอะไรไม่ได้เลย

เพราะความรู้ถึงความจริง กับความเลื่อมใสศรัทธามันคู่กันอยู่โดยมีน้ำหนักเท่าๆ กันเลยไม่รู้จะไปข้างไหนดี ต้องเลือกอะไรนำเอาสักอย่าง

ผมขอเสนอให้เอาปัญญานำนะครับ

นั่นคือ ถ้าเราจะเลื่อมใสใคร หรืออะไรสักอย่างเราควรพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลว่าคนนั้น หรือสิ่งนั้นมันน่าเลื่อมใส น่าเชื่อถือศรัทธาหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด

จะตัดสินได้ดีเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของคนนั้นที่สะสมมา

ดังนั้น ที่ว่าถ้าใช้ปัญญานำศรัทธาแล้วจะทำให้คนนั้นสุดโต่งโกร่งกร่างไม่ฟังใคร ผมว่าไม่จริงนะครับ

เพราะคนเราถ้าใช้ปัญญานำในการพิจารณาสิ่งต่างๆ แล้วย่อมหลุดพ้นจากความหลงผิด คิดผิดแน่นอน

 

ทีนี้เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ผมขอเสนอแนวคิดเรื่อง “ปัญญา” อันเป็นคีย์เวิร์ดของข้อถกเถียงข้างบนดังนี้ครับ

ความคิดเห็นของผม-เราควรแยกแยะขั้นตอนการเรียนรู้ของมนุย์เราดังนี้

– “ความรู้” คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากสื่อต่างๆ อันได้แก่ ครูบาอาจารย์ พ่อ-แม่ ผู้รู้ ได้จากการอ่าน ได้ฟังจากปากใครต่อใคร ได้เห็นกับตา ได้สัมผัสกับมือตัวเอง

– ความรู้หลายๆ ความรู้สืบสานโยงใยกันเข้าเกิดเป็น “ความคิด”

– ความคิดหลายๆ ความคิดสืบสานโยงใยกันเข้าเกิดเป็น “ปัญญา”

– ปัญญาหลายๆ ปัญญาสืบสานโยงใยกันเข้าเกิดเป็น “ความรู้แจ้ง”

ทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ต้องกำกับไว้ด้วย “สติ” เพื่อให้การเรียนรู้นั้นไม่ฟุ้งซ่าน แตกฉานซ่านเซ็นหลงผิดเข้ารกเข้าพง

แบบนี้ล่ะครับ และนี่คือทั้งหมดที่ผมอยากแลกเปลี่ยน

ประพันธ์ ประภาสะวัต

 

แลกเปลี่ยนแบบนี้ดี

คนอ่านอื่นๆ พลอยได้ปัญญาไปด้วย

เขียนมาแลกเปลี่ยนกันอีก-พลีสส…

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่