อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : CMLVT คืออะไร? อาณาบริเวณและบริบทที่ควรรู้

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้กล่าวแสดงปาฐกถาเรื่อง CMLVT : The New Economic Drive of Asia ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า (1)

“…กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และไทย เป็นพลังขับเคลื่อนใหม่สำหรับอาเซียน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งควรเข้ามาร่วมกันวางแผนหลัก เพื่อการพัฒนาความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค…”

ท่านรองนายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า (2)

“… ประเทศทั้ง 5 ประเทศต้องร่วมกันพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนของตน…”


CMLVT ไม่ใช่เรื่องใหม่

เป็นที่รู้กันว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีความสำคัญมาก เพราะท่านเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งท่านยังเป็นทั้งกูรูทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหาร

ประกอบกับท่านมีประสบการณ์ในการผลักดันและมีส่วนร่วมกับการพัฒนาในภาคธุรกิจของไทยมายาวนาน โดยเฉพาะกลุ่มเครือสหพัฒน์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ด้านสิ่งทอและค้าปลีกของไทยมายาวนานร่วมครึ่งศตวรรษ

แต่สำหรับผม ท่าน ดร.สมคิด เป็นอะไรที่มากไปกว่านั้น ท่านพูดให้หลายคนฟังในที่ประชุมทางวิชาการทางเศรษฐกิจว่า ท่านเป็นสมคิดแฟ็กเตอร์ ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ภาคธุรกิจไม่กล้าลงทุนหรือระมัดระวังเรื่องการลงทุน ท่านสมคิดจะผลักดันเองด้วยกลไกของภาครัฐ วิสัยทัศน์ และการนำวิสัยทัศน์นั้นไปสู่การปฏิบัติ

แน่นอนครับ ภาคธุรกิจชื่นชอบท่านมาก ภาควิชาการก็ชอบ แต่อาจมีการนำเสนอแนวความคิดอื่นๆ ทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาเพิ่มบ้าง รวมถึงผมที่จะเพิ่มสิ่งสำคัญที่ขาดหายไปในบทความนี้

การผลักดันเรื่องนวัตกรรม (innovation) การผลักดันเรื่อง start up การสร้างเถ้าแก่หรือผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในระบบเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือเสียหายอะไร

เรื่อง CMLVT ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

แต่ CMLVT ไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งแนวความคิดเรื่องการบรูณาการทางเศรษฐกิจเพราะตลาดและกำลังซื้อของ CMLVT ใหญ่นั้นไม่ผิด

แต่เราควรย้อนกลับไปดูอย่างน้อย 2 เรื่องคือ พัฒนาการที่สำคัญของ CMLV และ CMLVT ว่าเป็นมาอย่างไร และเรียนรู้ในพัฒนาการอันนั้น เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้จริง

ที่สำคัญ ควรกล่าวถึงมูลค่าทางการเมืองและสังคมของ CMLVT ด้วย

 

อาณาบริเวณและบริบทของ CMLVT

เราปฏิเสธความสำคัญของยุคอาณานิคม ยุคสงครามเย็น ยุคสงครามกลางเมืองในกัมพูชาไม่ได้เลยสำหรับ CMLVT ภูมิภาคนี้ถูกขูดรีดทางเศรษฐกิจโดยชาติมหาอำนาจตั้งแต่ยุคล่าเมืองขึ้น ภูมิภาคนี้มีสภาพเป็นสนามรบของชาติมหาอำนาจในยุคสงครามเย็น

ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจจึงพังย่อยยับ โครงสร้างทางเศรษฐกิจถูกทำลายหมด ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เมืองถูกทำลาย ชนบทเป็นที่รกร้าง โครงสร้างทางสังคมที่สำคัญคือ ระบบการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัยเสียหาย

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของการบรูณะภูมิภาคและประเทศใน CMLVT ได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาและมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ เมื่อสันติภาพและการบูรณะประเทศเกิดขึ้นในการเลือกตั้งในกัมพูชาปี 1993 ที่กำกับโดยกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติ และการเข้ามาบูรณะประเทศโดยแผนงานและงบประมาณความช่วยเหลือของ Asian Development Bank-ADB

หลังจากนั้น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามค่อยพัฒนาขึ้นมา ราชอาณาจักรกัมพูชาได้รับการบูรณะประเทศ สปป.ลาวเริ่มต้นการพัฒนาประเทศอีกครั้งหนึ่ง ช่วงปี 1990-2000

โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้ง 3 ประเทศนี้เริ่มก่อรูปและกลไกทางเศรษฐกิจ ระบบตลาด ระบบการเงินเริ่มเดินเครื่อง พร้อมกับการลงทุนจากต่างประเทศเริ่มไหลกลับเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม นโยบายเศรษฐกิจ “โดเมย” ของรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (1986) นโยบายจินตนาการใหม่ของรัฐบาล สปป.ลาว (1987) และการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของราชอาณาจักรกัมพูชา มีส่วนอย่างมากที่ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบตลาด การปฏิรูปเศรษฐกิจและนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นใน 3 ประเทศนี้

หลังจากนั้นมาการค้าขายแบบนำเข้าส่งออกสินค้าจากประเทศไทย เปลี่ยนไปเป็นการย้ายฐาน (relocation) การผลิตเพื่อใช้แรงงาน วัตถุดิบและสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากประเทศเหล่านี้ไปสู่ตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้าเกิดขึ้น

จากปี 2000 การลงทุนจากต่างประเทศในด้านพลังงาน โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว การลงทุนในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม การร่วมลงทุนในการผลิตและส่งออกการแปรรูปอาหาร รวมทั้งการผลิตอาหารสัตว์ การลงทุนในด้านการเกษตรแปลงใหญ่ (plantation) ที่ปลูกยางพารา ปลูกอ้อย ปลูกน้ำมันปาล์มในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สปป.ลาวตอนเหนือและตอนใต้ ราชอาณาจักรกัมพูชา และจีนตอนใต้ ล้วนแต่เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในกับ 3 ประเทศนี้อย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเพิ่มขึ้นของประชากรโดยเฉพาะในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ความเป็นเมือง (urbanization) การเติบโตของคนรุ่นใหม่ (young generation) และคนหนุ่มสาวและการใช้ชีวิตแบบคนเมือง การใช้โทรศัพท์มือถือ การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าโดยการลงทุนของต่างประเทศ การพักผ่อนทั้งการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของประชากรในประเทศเหล่านี้ในประเพณีดั้งเดิม เช่น งานสงกรานต์ ปีใหม่ การเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศในอาเซียน

รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใน CMLVT ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งจากจีน อาเซียน และยุโรป ทำให้เกิดแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รถนำเที่ยวและการบริการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น เมื่ออุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมบริการ การเพิ่มขึ้นของประชากรคนรุ่นใหม่และไลฟ์สไตล์ของพวกเขาจึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการรื้อฟื้นและปัดฝุ่น แนวความคิดการบูรณาการภูมิภาค (regional integration) แนวคิดการใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษ (special economic zone) ทั้งในสามประเทศนี้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพื่อสร้างฐานการผลิต

นี่เองที่เป็นการสานต่อเครือข่ายความเชื่อมโยงทางด้านคมนาคม จากเหลี่ยมเศรษฐกิจ (economic corridor) เช่น north-south economic corridor, east-west economic corridor, southern economic corridor ด้วยการเชื่อมต่อทางรถไฟ รถไฟความเร็วสูง เช่น จากคุนหมิง จีนตอนใต้ เชื่อมเข้าไทยถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ จึงถูกผลักดันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเข้ากันได้กับนโยบาย หนึ่งแถบ หนึ่งถนน (One Belt One Road-OBOR) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างมาก

ดังนั้น CMLVT จึงเป็นความคิดเดิมที่ปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดรับกับบริบทและสถานการณ์ใหม่ที่อุตสาหกรรมการผลิต กำลังซื้อ การไหลเวียนของสินค้า บริการและผู้คน (Flow and Mobility of capital, good and human) ทั่วภูมิภาคนี้

การปัดฝุ่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องคิดในบริบทใหม่ รวมทั้งแรงกดดันจากภาคเอกชน โดยทั้งชาติมหาอำนาจซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปด้วย

เพราะการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในภูมิภาคนี้ก็ได้

คิดใหม่ คิดให้กว้างเพื่อภูมิภาค

(1) Chatrudee Theparat, “Somkid urges Thai-CMLV master plan” Bangkok Post 24 March 2016

(2) Ibid.,